เศรษฐกิจไทยปีระกา 2017 ท่ามกลางความเสี่ยงของนโยบายการค้าแบบกีดกันจากสหรัฐฯ - Forbes Thailand

เศรษฐกิจไทยปีระกา 2017 ท่ามกลางความเสี่ยงของนโยบายการค้าแบบกีดกันจากสหรัฐฯ

ก่อนที่จะไปมองถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปีระกา เราขอสรุปภาพของปี 2016 ซึ่งเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 3.2% เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่เห็นการเติบโตที่ 2.8% สำหรับปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการขยายตัวยังคล้ายคลึงกับสิ่งที่เห็นในปี 2015 ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว แต่มีประเด็นบวกเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐหลายรอบที่มาช่วยหนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกกลับมาเป็นบวกได้

หากประเมินเฉพาะในรายละเอียดจากสัญญา ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2016 เราจะพบว่าปัจจัยจากต่างประเทศมีภาพที่เป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไทยและการท่องเที่ยว การส่งออก (ในรูปของเงินบาท) ปรับขยายตัว 3.6% จากปีก่อนหน้า ในไตรมาสที่ 4 เทียบกับการปรับขึ้น 0.4% ในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ทั้งปี 2016 การส่งออกสินค้าไทยไม่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ปัจจัยหลักที่สนับสนุนมาจากแรงหนุนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 1.6% และราคาส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 2.0% โดยนอกจากมุมของการส่งออกแล้ว ในมุมของการนำเข้าก็ปรับดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน สะท้อนจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มโน้มที่ดีในอนาคต เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกในระยะต่อไป นอกจากนี้ หากประเมินถึงประเภทสินค้าที่เห็นการส่งออกในเชิงบวก น่าจะแบ่งกลุ่มออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นอุปสงค์ดีขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มมาจากกลุ่มที่ได้อานิสงค์ราคาน้ำมัน อาทิ ยางพารา พลาสติก เคมีภัณฑ์ หรือปิโตรเคมี สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้น เราจะเห็นว่าการขยายตัวกลับมาดีขึ้นในช่วงสุดท้ายของปี หลังจากที่ช่วงต้นไตรมาสได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฏหมายส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของคนในประเทศก็ชะลอลงด้วย เนื่องจากเข้าสู่การไว้ทุกข์ ในปี 2016 เราเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่  8.9% ชะลอลงจากปี 2015 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวปรับขยายตัวได้ดีมากที่ 20.6% ทั้งนี้ หากประเมินจากมุมมองด้านค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว เราจะเห็นว่าขยายตัวได้ดีกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเพิ่มขึ้น 12.6% ในปี 2016 สำหรับเศรษฐกิจในปีระกา 2017 เราคาดว่าจะยังเห็นภาพของเศรษฐกิจที่ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นเสาหลักเช่นเดิม ขณะที่การส่งออกจะมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในมุมมองของสภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.0-4.0% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน แต่เรามองว่าการขยายตัวในปี 2017 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3% ในส่วนของการส่งออก แม้ว่ามุมมองของเราจะเป็นเชิงบวกมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะนโยบายที่เน้นเรื่องการปิดกั้นและกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเตรียมตัวของสหราชอาณาจักรที่จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนแก่ภาวะการลงทุน แม้ว่าไทยจะไม่ได้ตกเป็นเป้าหลักของนโยบายการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่าการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ไม่ได้สูงจนน่าตกใจเหมื่อนในกรณีของจีน อย่างไรก็ดี หากไทยตกเป็นเป้าจริงๆ ข้อมูลด้านการค้าแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด จะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร ในปี 2016 ไทยเกินดุลในอุตสาหกรรมนี้เป็นมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะเป็นประเด็นที่มาสร้างแรงกดดันเชิงลบต่อการส่งออกไทยที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางได้ นอกจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยตรงต่อต่อการส่งออกแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการลงทุน ความไม่แน่นอนโดยเฉพาะในเรื่องประเด็นการเมืองและนโยบายของสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน สัญญาณหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนเป็นเรื่องแนวโน้มของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย ในปี 2016 จะเห็นว่าเม็ดเงินลงทุนผ่าน FDI ปรับชะลอลงจากปี 2015 อย่างต่อเนื่อง โดยทั้งปี 2016 อยู่ที่ 1.08 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่เห็นเม็ดเงินลงทุนประมาณ 3.05 แสนล้านบาท สำหรับในปีนี้นั้น เรามองว่าการลงทุนน่าจะยังค่อนข้างซบเซา เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องนโยบายที่จะทำให้ภาคธุรกิจไม่ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม สำหรับความจำเป็นในการลงทุนที่มาจากนักลงทุนไทยเองนั้น เราคิดว่าภาคเอกชนเองยังไม่มีความรีบร้อนนัก สะท้อนจากระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่ตึงตัวนัก โดยข้อมูลล่าสุดสะท้อนว่า มีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเกิน 70% และอาจเห็นโอกาสที่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีการเริ่มลงทุนบ้าง อาทิ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยสรุปแล้ว ดูเหมือนยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีระกายังมีความไม่แน่นอน และทำให้การขยายตัวยังเป็นไปได้อย่างช้าๆ เท่านั้น โดยแม้ว่าความเสี่ยงหลักมาจากประเด็นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านนโยบายของสหรัฐฯ แต่ถือเป็นประเด็นที่ทุกเศรษฐกิจทั่วโลกคงต้องเผชิญ ทั้งนี้จะเห็นว่าหากเทียบการขยายตัวในเอเชียโดยรวม เศรษฐกิจขยายตัวได้ช้าและรั้งท้ายเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย ดังนั้น คำถามที่สำคัญไปกว่านั้นสำหรับประเทศไทย น่าจะเป็นการที่เราจะพัฒนาเศรษฐกิจจากภายในอย่างไรให้ก่อให้เกิดการขยายตัวแบบเร่งขึ้น และเห็นระดับศักยภาพที่ปรับสูงขึ้นมากกว่า 3% เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้แบบปานกลางได้อย่างไร