Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเกมการีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ ชี้เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลยังเติบโต ระบุตลาดอีสปอร์ตไทยพุ่ง 3 หมื่นล้าน เกมเมอร์ 32 ล้านคน ปั้นอคาเดมี พัฒนาทักษะดิจิทัลคนไทย พร้อมเตรียมยื่นขอไลเซ่นส์ดิจิทัล แบงกิ้ง รับแนวโน้มระบบชำระเงินดิจิทัลไทยรุ่ง
บริษัท Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ฉายภาพความสำเร็จควบคู่การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัลตลอดระยะเวลา 10 ปี ในประเทศไทย พร้อมแผนการดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2012 เริ่มด้วยธุรกิจเกมการีนา จากนั้นจึงขยายธุรกิจแพลตฟอร์มช้อปปี้ และซีมันนี่ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจหลักยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโต และอยู่ในเมกะเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกที่ยังคงเติบโต โดยในส่วนธุรกิจเกม ปัจจุบัน เกมจากการีนาเข้าถึงผู้เล่นกว่า 654 ล้านคนจากกว่า 130 ตลาดทั่วโลก ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2017 – 2021 จำนวน Active Users มีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 65 ต่อปี สำหรับประเทศไทย ธุรกิจเกม-อีสปอร์ตยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2021 ประเทศไทยมีเกมเมอร์กว่า 32 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2020 ส่วนตลาดเกมและอีสปอร์ตไทยมีมูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 14% จากปี 2020 “การีนาจะยังคงเติบโตควบคู่กับอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตต่อไป โดยมีการพัฒนาเกมขึ้นเองจากอินไซต์ผู้ใช้งานจริง และมีการปรับให้เหมาะกับแต่ละตลาดได้ รวมทั้งจะมุ่งต่อยอดวงการเกมและอีสปอร์ตไทยสู่โอกาสทางอาชีพใหม่ ๆ และการใช้เกมเป็นสื่อกลางพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Garena Academy ที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐในการพัฒนาอาชีพอีสปอร์ตของคนไทย” มณีรัตน์กล่าว- เล็งยื่นไลเซ่นส์ดิจิทัลแบงกิ้ง -
นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่เติบโตสูง คือ ระบบการชำระเงินดิจิทัล (Digital Payment) ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยผู้บริโภคชาวไทยใช้อีวอลเล็ตเพิ่มขึ้น โดย IDC คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้จะเพิ่มจาก 18.6 ล้านคน ในปี 2020 เป็น 41.9 ล้านคนในปี 2025 ซึ่งในส่วนของซีมันนี่ บริการช้อปปี้เพย์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 นอกเขตหัวเมืองใหญ่ของประเทศ สะท้อนถึงการใช้บริการอีวอลเล็ตที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มณีรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของระบบการชำระเงิน บริษัทพัฒนาจาก Airpay มาเป็น ShoppeePay ในปี 2021 เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ เช่น การจองตั๋วภาพยนต์ การสั่งอาหาร การจ่ายค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ซีมันนี่ยังให้ความสำคัญกับการขยายบริการ Digital Finance อื่น ๆ โดยได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก ปัจจุบัน ซีมันนี่มีบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash เป็นบริการ Digital Personal Loan สินเชื่อเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้อย่างอเนกประสงค์, SEasyCash for Sellers บริการเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ SPayLater เป็นบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการบนช้อปปี้ เป็นต้น “ตอนนี้ คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัล เพย์เมนต์ เริ่มมองความต้องการใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น การกู้เงิน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือขยายบริการไปยังผู้ซื้อ ด้วย Buy Now Pay Later คนเริ่มใช้บริการมากขึ้น ในอนาคตเราจะมองหาบริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้ใช้บริการของเราเพิ่มขึ้น รวมถึงการยื่นขอไลเซ่นส์ดิจิทัล แบงกิ้ง หากธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต”- ปรับบริการช้อปปี้ด้วย Data Driven -
มณีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแพลตฟอร์ม Shopee ได้เข้าสู่ตลาดไทยในปี 2015 ด้วยการเป็น Mobile-first E-commerce Platform ซึ่งการเติบโต ในช่วงปี 2017 – 2021 พบว่า มูลค่า Gross Merchandise Volum หรือ GMV มีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 83ต่อปี ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2021 อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ (GMV) อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงไปถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2025 หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี นอกจากนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังเข้าถึงผู้คนในหลากหลายพื้นที่มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขายและผู้ใช้งานช้อปปี้ในประเทศไทย โดยในปี 2021 จำนวนผู้ขายช้อปปี้ที่อยู่นอกเมืองใหญ่เติบโตขึ้นร้อยละ 70 ส่วนจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่นอกเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 นอกจากนี้ ช้อปปี้ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย ช่วยสนับสนุนผู้ขายไทยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยผู้ขายรายใหม่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า ในช่วง Shopee 11.11 Big Sale ปี 2021 สำหรับแนวทางในการทำธุรกิจของช้อปปี้ จะเน้นการใช้ Data Driven และใช้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Data นำเสนอสินค้าและบริการแบบเฉพาะบุคคล ตลอดจนการพัฒนาระบบการค้นหาสินค้าให้มีประสิทธิภาพด้วย AI และส่งเสริมธุรกิจผู้ขายบนช้อปปี้ ทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ โดยล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ Shopee International Platform (SIP) ขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเพิ่มช่องทางการขายไปยังตลาดต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย “ช้อปปี้จะช่วยสนับสนุนด้านการจัดการร้านค้าให้กับร้านที่ร่วมโครงการฯ เช่น การสร้างร้านค้าในต่างประเทศ การจัดการสินค้าและสต๊อก การแช็ตกับผู้ซื้อ และการจัดส่งไปต่างประเทศ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยในระยะแรกจะเปิดโอกาสให้ผู้ขายไทยสามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ก่อน” มณีรัตน์กล่าว- เร่งสร้างดิจิทัลทาเลนต์ -
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี Sea (ประเทศไทย) ต้องการส่งมอบทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยผ่านโครงการ Social Impact ต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือระหว่าง Sea (ประเทศไทย) กับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และกิจการเพื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ชนบทและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inclusive Society) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติ (Disaster Relief) และเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะดิจิทัล (Digital Education) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 in 10 ที่ โดยตั้งเป้าสร้าง ‘Digital Talent’ 10 ล้านคน ใน 10 ปี ในปัจจุบัน Sea (ประเทศไทย) สามารถเข้าไปสร้างเสริมทักษะดิจิทัลด้านต่างๆ ให้แก่คนไทยได้แล้วราว 4.18 ล้านคน “วันนี้ เราอยู่ใน VUCA World ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทีมงานเป็นสิ่งสำคัญมาก เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร สร้างความเป็นเจ้าของ เปิดกว้างในเรื่องของการสื่อสาร และ สร้างโอกาสให้กับทุกคน เพื่อขับเคลื่อนบริษัทไปสู่อนาคต และเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป” มณีรัตน์กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: ถอดบทเรียน “เหรียญ LUNA” สะท้อนพฤติกรรมนักเก็งกำไรไทยไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine