เชลล์ ประเทศไทย ชู 3 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนพลังงานไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

เชลล์ ประเทศไทย ชู 3 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนพลังงานไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัทเชลล์ ประเทศไทย ประกาศแนวทางขับเคลื่อนพลังงานในอนาคตประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตอบสนองการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เชลล์ตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการผลักดันพลังงานให้เกิดความยั่งยืนเพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ สู่การเปลี่ยนผ่านในการใช้พลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้น โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญทำงานเชื่อมโยงกัน คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม การร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” โจทย์หลักของเชลล์ ประเทศไทย คือ “การเสริมประสิทธิภาพของพลังงานและลดโลกร้อนลง” ซึ่งเป็นนโยบายหลักขององค์กรเชลล์ทั่วโลก นต่างประเทศอย่างบราซิล ประเทศอันดับหนึ่งของโลกในการผลิตพลังงานชีวภาพกำลังมีการทดสอบการใช้เอทานอล 100 เปอร์เซ็นต์กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้แบตเตอร์รี่ไฟฟ้า ซึ่งเชลล์ประเทศไทยได้เดินทางไปศึกษาการทดสอบดังกล่าว “ประเทศบราซิลและไทยมีความคล้ายคลึงในแง่การนำพลังงานจากผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูป เราเองมีผลผลิตจากเกษตรไทยอย่างปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และ อ้อย ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้เกิดองค์รวมของความมั่งคั่งของผู้เกี่ยวข้องและเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น” อัษฎา หะรินสุต กล่าวและเสริมว่าสำหรับประเทศไทยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้เอทานอลเป็นพลังงานเชื้อเพลิงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในขึ้นการศึกษาแต่หากมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ จากทุกฝ่าย อาจจะทำโมเดลนี้เกิดขึ้นได้จริง ด้านความต้องการในการบริโภคพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการคาดการณ์จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจาก 7.8 พันล้านคน สู่ 9.8 พันล้านคนใน 30 ปีข้างหน้า บทบาทของเชลล์เองต้องสนับสนุนการหาพลังงานเชิงเพลิงคุณภาพและลดภาวะโลกร้อน ภาวะเลือนกระจก เช่นเดียวกับการเติบโตของการบริโภคพลังงานในประเทศไทยปีที่ผ่านมา ข้อมูลสถิติรถยนต์ที่จดทะเบียนอยู่ที่ราว 38 ล้านคัน แค่จากต้นปี 2561 มีรถยนต์จำหน่ายไปแล้วกว่า 400,000 คัน “ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนับเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงานโดยรวมที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาและสะท้อนสู่กลยุทธ์สำคัญของเชลล์ประเทศไทยถึงการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มประสิทธิภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม” อัษฎา หะรินสุต กล่าว
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนี้นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงานโดยรวมที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามมา และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังต้องการพลังงานที่ใช้ได้อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันต้องช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆ กัน เชลล์แห่งประเทศไทย เปิดตัวกลยุทธ์ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” และเตรียมความพร้อมใน 3 ด้าน คือการพัฒนาด้านนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน และ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชลล์ได้นำเสนอเทคโนโลยีทั้งในด้านน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และยางมะตอย อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง เชลล์ วี-เพาเวอร์, เทคโนโลยี Gas-to-liquid (GTL) ที่ใช้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นคุณภาพสูง เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิในการจัดส่งและจัดเก็บยางมะตอย ด้านการทำงานร่วมกัน ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านพลังงานจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบาย บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่พัฒนาเครื่องยนต์ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้มากขึ้น และสำหรับการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เชลล์ได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนและชุมชนต่างๆ ผ่านโครงการที่มุ่งปลูกฝังจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในชุมชนต่างๆ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กรเชลล์ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ผ่านการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ การตระหนักรู้ และสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่นักเรียนในการคิดค้นและประดิษฐ์รถยนต์ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนในอนาคตข้างหน้า ในจังหวะช้าเร็วและในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อันนำมาซึ่งความท้าทาย โอกาส รวมถึงทางเลือกของพลังงานชนิดต่างๆ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณาอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ผู้บริโภคทั่วไป” อัษฎา หะรินสุต กล่าวทิ้งท้าย