ส่องทิศทางเศรษฐกิจโลก ภาวะสงครามการค้า กสิกรไทยคาดรัฐมีนโยบายกระตุ้นใช้จ่ายรับเลือกตั้ง - Forbes Thailand

ส่องทิศทางเศรษฐกิจโลก ภาวะสงครามการค้า กสิกรไทยคาดรัฐมีนโยบายกระตุ้นใช้จ่ายรับเลือกตั้ง

สงครามการค้ายังเป็นคลื่นรบกวนเศรษฐกิจโลก สหรัฐเริ่มขยายตัว จีนชะลอต่อเนื่อง EU หวั่นปัญหาอิตาลี เผยเงินบาทไทยแข็งค่าทำเสียโอกาสส่งออก 7.5 หมื่นล้าน รัฐบาลเตรียมงัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรับเลือกตั้ง เเนะเเบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยต้นปีหน้า

ธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมมนา 'ความเสี่ยงและโอกาสการลงทุนในภาวะสงครามการค้าโลก’ โดยมีตัวแทนจากทางธนาคารโลก (World Bank) เเละผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบเเละคาดการณ์เเนวโน้มเศรษฐกิจท่ามกลางการกีดกันทางการค้าของสองชาติมหาอำนาจ "จีน-สหรัฐอเมริกา" เเละสถานการณ์การเมืองไทยที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก  กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงจีน เเต่ตอนนี้ถึงจุดที่ต้องชะลอตัวลง สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ เเต่เชื่อว่าจะกระทบประเทศในอาเซียนไม่มากนัก หากเทียบกับความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในจีน โดยมาเลเซียมีสินค้าส่งออกไปยังจีนมากกว่าจึงได้รับผลกระทบมากกว่าไทย "คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโต 3.9% ในปี 2019 ซึ่งถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว" โดยสิ่งสำคัญคือการแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นคอขวดทางเศรษฐกิจ ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ควรจะทำให้ง่ายขึ้น การปรับปรุงภาครัฐวิสาหกิจ การปฎิรูปการศึกษาเเละพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งตอนนี้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถของไทยยังกระจุกตัวอยู่เเละมีความเหลื่อมล้ำในประเทศสูง สำหรับทิศทางของสงครามการค้าระหว่างจีนเเละสหรัฐฯ เชื่อว่าหากยังดำเนินไปต่อเนื่องประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับแรงกดดันจากภาคธุรกิจและการลงทุน เช่นกรณีจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดิ่งลงหนัก และความไม่พอใจของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางการเมืองในอนาคต อาจจะทำให้สงครามการค้าเปลี่ยนไปหรือสิ้นสุดได้ Bangkok post by Patipat Janthong   ไทยเงินเฟ้อต่ำ คาดรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจรับเลือกตั้ง  ด้าน กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย  ประเมินว่าในสงครามการค้า สหรัฐยังได้เปรียบกว่าจีน ดูจากการออกนโยบายสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดี ขณะที่จีนยังคงชะลอตัวต่อเนื่องเเละเผชิญกับค่าเงินหยวนอ่อน โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออก เเละจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง เเต่เชื่อว่าปีหน้าการลงทุนภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1.33% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีเงินเฟ้อโลก (World CPI) ที่ 3.1% หรือเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ระดับเงินเฟ้อก็ยังอยู่ที่ 2.1% ทำให้ยังมีเงินเข้ามาในตลาดตราสารหนี้อยู่ แต่เข้าไปที่ตลาดหุ้นน้อยลง กอบศักดิ์ ระบุว่า ตอนนี้ค่าเงินบาทยังถือว่าแข็ง ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในภาคการส่งออกเมื่อคำนวณกลับมาในรูปเงินบาทราว 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องดูจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะยังไม่ปรับขึ้นช่วงนี้เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินได้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในช่วงต้นปีหน้านอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงทางออกหลัง LTF หมดอายุสิทธิทางภาษีปี 2019 ซึ่งจะปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข สำหรับการคาดการนโยบายของรัฐบาลช่วงก่อนเลือกตั้ง น่าจะมีการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนผลักดัน EEC เเละกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ให้คนไทยเที่ยวในประเทศทดเเทนการเสียนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกินช่วงต้นเดือน มี.ค.ปี 2019 เเละจากกลไกระบบการเมืองรัฐบาลใหม่จะมาจากรัฐบาลผสม ที่ไม่มีพรรคไหนได้คะเเนนเกิน 200 เสียง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่จึงไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ที่จะต้องยึดอยู่กับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ เช่นเดียวกันกับ ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ระบุว่าภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ด้วยเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เเละการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นคาดว่านโยบายด้านเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ต่อเนื่องไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก ซึ่งก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลอาจจะออกนโยบายกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น ช็อปช่วยชาติ โดยจะส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก ท่องเที่ยว และโรงแรม เเนะหุ้นเด่นน่าลงทุน กอบสิทธิ์ เปิดเผยถึงหุ้นน่าลงทุนว่า ในระยะสั้นที่มองว่าผลประกอบการจะออกมาดีมากและมีโอกาสปรับขึ้นได้ ได้แก่ STECON , BH , MEGA ส่วนในระยะยาวที่ปีหน้าเชื่อว่าจะมีการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้ประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อ มีหุ้นที่น่าสนใจอย่าง BBL,KTB, TISCO,CPALL, ADVANC และ BH  เป็นต้น     ปลายปีเงินบาทอ่อนค่า สรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา โดยอ่อนค่าเหนือระดับ 33.0 เป็นครั้งเเรกในรอบ 2 เดือน จากความเชื่อมั่นของเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาเเข็งเเกร่ง เเต่เเรงกดดันดังกล่าวเเผ่วลง หลังจากที่นักลงทุนขายสินทรัพย์ในตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่างต่อเนื่องเเละเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อดัชนีค่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงมีเเนวโน้มอ่อนค่าลงจนถึงช่วงปลายปี จากความเสี่ยงด้านนโยบายกีดกันทางการค้าโลกเเละความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ ในระยะต่อไป เงินบาทมีเเนวโน้มเเข็งค่าจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น การปรับดอกเบี้ยของไทยเเละเสถียรภาพภายนอกของไทยที่เเข็งแกร่งจะยังดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยฤดูกาลเงินปันผลในช่วงกลางปีเเละการหมดฤดูท่องเที่ยวจะสนับสนุนการอ่อนค่าของเงินบาท "ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ย คือไตรมาสเเรกของปี 2019"   วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจโลก  วรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีเเนวโน้มขยายตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นด้วยการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดี รวมถึงตลาดเเรงงานที่เเข็งแกร่ง โดยมีการขยายตัวในการจ้างงานกลุ่มบริการในสหรัฐฯที่มีสัดส่วน 80%นั้นขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เเต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงในระยะยาว อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องจำตามองท่าทีภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากลางเทอม ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปธน.ทรัมป์ว่าจะปล่อยออกมาได้มากขึ้นหรือน้อยลง ด้าน เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) มีเเนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เเต่ยังคงมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากวิกฤตในอิตาลี ซึ่งมองว่าด้วยความที่พรรครัฐบาลอิตาลีมีนโยบายประชานิยม จึงยังคงต้องออกนโยบายช่วยเหลือประชาชน จึงทำให้ไม่ได้แก้ไขปัญหาในโครงสร้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวมใน EU   ขณะที่ภาพรวม เศรษฐกิจจีน จะยังคงชะลอตัวอย่างชัดเจน ด้วยจีดีพีไตรมาส 2 ที่ 6.7% เเละมีเเนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าในไตรมาส 2 ของปี 2019 จะลดลงเหลือ 6.3% ด้วยปัจจัยที่รัฐบาลต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในจีน โดยเฉพาะการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ เเละด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เกิดการหดตัวการภาคการลงทุนก่อสร้าง อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เเละคอมพิวเตอร์ยังขยายตัวดี ซึ่งรัฐบาลจีน จึงออกมาตรการกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมาเเละผ่อนคลายมากขึ้น จึงมองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวจะเป็นผลดี โดยปัจจุบันการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากจีนยังคงต้องรีบทำปริมาณเพื่อส่งออกไปสู่สหรัฐฯ ก่อนการกำหนดภาษีรอบใหม่ สำหรับ เศรษฐกิจไทย ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.6 % จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.5 %โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนเเละการส่งออกตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงหลักของโลกคือนโยบายกีดกันการค้าระหว่างจีนเเละสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนตามห่วงโซ่อุปทานชะลอลงเเละในระยะปานกลาง หากข้อพิพาทยืดเยื้อ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบที่เชื่อมกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ มากที่สุด ได้เเก่ เยอรมนี เกาหลีใต้เเละไต้หวัน ส่วนปัจจัยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่ปัจจุบันเเตะถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลนั้น มีเเนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก จากปัจจัยการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐเเละวิกฤตในเวเนซุเอลาส่งผลให้ OPEC ผลิตน้ำมันส่วนเกินลดลง โดยประเทศที่จะได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดคือ อินเดียเเละอินโดนีเซีย ที่มีดุลการค้าขาดดุลเเละเพิ่งจะมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันเเละปรับลดภาษี ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศย่ำเเย่ลง ส่วนไทยเเละมาเลเซีย เเม้จะมีการอุดหนุนราคาน้ำมันเเต่ขาดดุลการค้ายังต่ำ อีกทั้งมาเลเซียยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันที่จะได้รับผลประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นด้วย ภาพ : AFP , PIXABAY