ผลพวงกฎหมายคุมรปภ. PCS อัดเบี้ยเลี้ยง ‘ยาม’ เพิ่ม 5-10% ช่วงชิงแรงงาน - Forbes Thailand

ผลพวงกฎหมายคุมรปภ. PCS อัดเบี้ยเลี้ยง ‘ยาม’ เพิ่ม 5-10% ช่วงชิงแรงงาน

พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับแรงต้านจากพนักงานรักษาความปลอดภัยเนื่องจากเดิมกำหนดให้คุณสมบัติรปภ.ต้องจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะใช้มาตรา 44 แก้ไขให้เป็น “จบการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรที่ใช้อยู่ในขณะที่สำเร็จการศึกษา”

พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ยังมีผลกระทบหลักๆ อีกหลายประการ ได้แก่ รปภ.จะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง โดยต้องไม่มีคดีเกี่ยวกับเพศ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การพนัน ยาเสพติด ในช่วง 3 ปีก่อนขึ้นทะเบียน (ยกเว้นคดีเกี่ยวกับเพศจะไม่ได้รับอนุญาตเด็ดขาด) , ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น และในช่วง 3 ปีหลังขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องรับการฝึกอบรมตามที่กำหนด ข้อกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แย่งตัววุ่นหลังรปภ.ขาดแคลน Sebastian Power รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท รักษาความปลอดภัย พีซีเอส และ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทให้บริการดูแลความปลอดภัยโรงงาน-อาคารจากอังกฤษซึ่งให้บริการในไทยมากว่า 50 ปี กล่าวว่า หลังสิ้นสุดการผ่อนผันขึ้นทะเบียนรปภ.จนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีรปภ.ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2 แสนคนเท่านั้น จากทั้งหมด 4.5 แสนคนทั่วประเทศ คาดว่าเกิดจากรปภ.หลายรายอาจเป็นคนสัญชาติอื่นหรือมีประวัติอาชญากรรม ซึ่งในมุมธุรกิจ กฎหมายใหม่จะทำให้บริษัทรักษาความปลอดภัยรายกลาง-รายเล็กที่ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้มีความยากลำบากในการทำงาน เป็นผลดีต่อพีซีเอส แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือ แม้พีซีเอสจะจดทะเบียนบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย และรปภ.ที่ทำงานกับบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด แต่ก็มีผลกระทบจากข้อกำหนดเรื่องวุฒิการศึกษา ทำให้แรงงานสมัครเข้าเป็นรปภ.ได้น้อยลง จากปกติบริษัทมีการรับพนักงานใหม่ 800-900 คน/เดือน ลดเหลือ 700-800 คน/เดือน ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ต้องการรับพนักงานรปภ.เพิ่มเดือนละ 1,200 คนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน ช่วงสิ้นปี 2559 พีซีเอสจึงต้อง ปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยง ในบางพื้นที่คือ กรุงเทพมหานคร ที่เป็นตลาดใหญ่ ปรับขึ้น 5-10% และจ่ายเงินเดือนแบ่งเป็น 2 รอบต่อเดือน เป็นการจูงใจพนักงานให้เลือกทำงานกับพีซีเอสและลดอัตราการลาออกที่มีอยู่ 5% ลง “เรื่องวุฒิการศึกษาเป็นประเด็นที่รุนแรงมาก เพราะคนจบม.3 มักจะไม่ทำงานประเภทนี้ หลังปรับกฎหมายใหม่อีกรอบทำให้ความรุนแรงลดลงแต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่ เมื่อแรงงานที่มีคุณสมบัติครบยิ่งลดลง การแข่งขันชิงแรงงานค่อนข้างสูงขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มเบี้ยเลี้ยงจูงใจแต่ต้องไม่มากจนทำราคาปลายทางไม่ได้” Sebastian กล่าว โรงงานซบเซา-มุ่งเจาะกลุ่มโรงพยาบาล สำหรับธุรกิจของพีซีเอส Sebastian เปิดเผยว่า ปี 2559 บริษัทมีรายได้ 7 พันล้านบาท จาก 17 สาขาทั่วประเทศ เติบโตประมาณ 5-10% ถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างซบเซา ในเชิงรายได้พีซีเอสถือเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยอันดับ 1 ของไทย ส่วนในแง่จำนวนมีพนักงานรปภ.ทั้งหมด 1.5 หมื่นคน เป็นอันดับ 2 ในตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่ 6-8 ราย เฉพาะรายใหญ่มีพนักงานรปภ.รวมกันประมาณ 1 แสนคน
Sebastian Power รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ พีซีเอส
พอร์ตรายได้ปัจจุบันยังมาจากบริการรักษาความปลอดภัยเป็นหลักคิดเป็น 60% อีก 25% มาจากบริการแม่บ้านทำความสะอาด และ 15% เป็นบริการบริหารอาคารแบบครบวงจร หรือ TFM นั่นคือให้บริการทั้งรักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด ช่างซ่อมบำรุงประปา ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และพนักงานดูแลสวน ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงเรียนนานาชาติ Harrow, โรงงานรถยนต์ Ford เป็นต้น ซึ่ง TFM มีแนวโน้มการเติบโตในพอร์ตบริษัทได้อีกมาก เนื่องจากเพิ่งเปิดให้บริการมา 5 ปี และค่าบริการค่อนข้างสูงจากการให้บริการแบบครบทุกส่วนงาน ดังนั้นกลยุทธ์ปี’60 จะเน้นสัญญาลักษณะ TFM เป็นหลัก ส่วนกลุ่มตลาดหลักของพีซีเอส เป็นโรงงานอุตสาหกรรม 50% อาคารพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศบิลดิ้ง โรงแรม คอนโดมิเนียม 20% และโรงพยาบาลกับสถานศึกษาอีก 10% Sebastian กล่าวว่าปีที่ผ่านมาการเปิดตัวโรงงานชะลอลงมาก ขณะที่โอกาสการเติบโตอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลและออฟฟิศบิลดิ้งเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นตลาดที่มุ่งทำสัญญาให้บริการในปีนี้ โดยพีซีเอสตั้งเป้าเติบโตด้านรายได้ 10% ในปี 2560 และมองว่าตลาดจะเป็นไปในทิศทางบวก