William Li ผู้ประกอบการชาวจีนวัย 44 ปีที่เป็นเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพผลิตรถยนต์ไฟฟ้า NIO และเคยได้รับการขนานนามว่า “Elon Musk แห่งประเทศจีน” ขณะนี้เรียกได้ว่าอันดับมหาเศรษฐีของเขาร่วงลงอย่างน่าตกใจ หลังหุ้นบริษัทตกลงมาถึง 58% ทำให้สินทรัพย์ของเขาลดลงเหลือ 457 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่ไม่ถึง 4 เดือนก่อนหน้านี้ เขามีสินทรัพย์ 1.2 พันล้านเหรียญ
โดยสตาร์ทอัพจีนผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้า รายนี้ยืนยันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพิ่งลาออก 2 คน ได้แก่ Li Zhuang อดีตหัวหน้างานซอฟต์แวร์ และ Angelika Sodian ผู้เคยดูแลธุรกิจของ NIO ในสหราชอาณาจักร
การลาออกของทั้งคู่เกิดขึ้นในไม่กี่วันหลัง NIO ประกาศเรียกคืนรถรุ่นเรือธงของบริษัทอย่าง ES8 SUVs จำนวน 4,803 คัน เนื่องจากมีรายงานว่าพบเปลวเพลิงและควันไฟในรถยนต์รุ่นดังกล่าว ซึ่งจำนวนที่เรียกคืนนั้นคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนรถรุ่นนี้ที่บริษัทขายออกไป
NIO ยังไม่เพียงต้องเผชิญกับปัญหาความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่านั้น นักวิเคราะห์หลายรายระบุอีกว่า บริษัทแห่งนี้กำลังเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติมที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่กว้างขึ้นของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู หลังรัฐบาลจีนกำลังอยู่ในช่วงยกเลิกมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถึงแม้ว่า NIO จะอยู่รอดได้เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุน แต่การต้องเผชิญกับภาวะต่อสู้ดิ้นรนก็อาจทำให้นักลงทุนเสียความเชื่อมั่นได้
“ภายใน 2 ปีข้างหน้า บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากโดยเฉพาะแบรนด์รองๆ คงอยู่รอดได้ไม่นาน” Yong Teng กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา L.E.K. ซึ่งตั้งอยู่ใน Shanghai กล่าว และว่า “พวกเขาจะขาดแคลนเงินทุนในการส่งเสริมการผลิต จึงยากที่จะมีโอกาสอยู่รอด”
สำหรับ NIO เริ่มประสบวิกฤตตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังในไตรมาสแรกบริษัทรายงานว่าได้ส่งมอบรถยนต์รุ่น ES8 SUVs ไป 3,989 คัน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7,980 คัน ส่งผลให้ยอดขายลดลง 54.6% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 229 ล้านเหรียญ
ขณะที่การเงินของบริษัทอยู่ในสถานการณ์ที่ได้รับแรงกดดันมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจีนเดินหน้ายกเลิกมาตรการอุดหนุนเงินให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2020 เพื่อกระตุ้นให้เกิด “การพัฒนานวัตกรรมที่แท้จริง” ทั่วทั้งอุตสาหกรรม โดย NIO นั้นได้รับเงินจากรัฐบาล 67,500 หยวน หรือราว 9,865 เหรียญสหรัฐฯ ในการสนับสนุนรถยนต์ ES8 แต่ละคัน ซึ่งมีราคาอยู่ระหว่าง 4.48-5.06 แสนหยวน แต่จำนวนเงินอุดหนุนในปีนี้จะถูกหั่นเหลือ 11,520 หยวนเท่านั้น
“เราคาดว่ายอดส่งมอบรถในไตรมาส 2 จะลดลงอีก” Louis Hsieh ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน NIO กล่าวกับนักวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเขาว่าปัญหาเกิดจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจมหภาค ตลาดรถยนต์ที่ซบเซา และการลดเงินอุดหนุนจากรัฐ
ขณะที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทกล่าวว่า ขณะนี้ NIO จะมุ่งไปที่การพัฒนาธุรกิจ, การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว “เราเชื่อว่าบริษัทจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างดี และได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน” เขากล่าว
ด้านนักลงทุนหลายรายมองว่า บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กกว่า NIO นั้นยังห่างไกลกับการพิชิตเป้าหมายทำกำไรและผลิตสินค้าได้จำนวนมาก หลายบริษัทต้องเก็บแผนตัวเองเข้าลิ้นชัก เนื่องจากจำนวนนักลงทุนที่ไม่เชื่อในโมเดลธุรกิจของพวกเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจาก Pitchbook ระบุว่า ยอดการลงทุนในบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 783 ล้านเหรียญ ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 5.97 ล้านเหรียญ
“เมื่อเงินอุดหนุนสำหรับอุตสาหกรรมนี้ถูกลดทอนลง นี่จึงเป็นเวลาของการแข่งขันทางราคาและประสิทธิภาพของรถยนต์อย่างแท้จริง” Ken Xu นักลงทุนที่เป็นพันธมิตรกับ Gobi Partners บริษัทจัดการเงินลงทุนในจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า เขาจะไม่พิจารณาลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่อีกต่อไป
“สตาร์ทอัพที่ไม่มีประสบการณ์การผลิตในปริมาณมากคงประสบความเร็จได้ยาก และท้ายที่สุดคงเหลือบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2-3 รายเท่านั้นที่อยู่รอดได้”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนไม่คิดว่าสตาร์ทอัพอย่าง BYD และ Geely จะไปไม่รอดดังที่คนอื่นมอง เนื่องจาก 2 รายนี้เป็นสตาร์ทอัพที่มีการควบคุมต้นทุนที่ดี และเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นราคาท่ามกลางสถานการณ์ที่ได้รับเงินอุดหนุนน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อ Tesla เริ่มผลิตและจำหน่ายโมเดล 3 ในจีนได้ในระดับ mass
“ผู้เล่นขนาดใหญ่ และบริษัทที่สามารถปรับตัวเข้ากับนโยบายท้องถิ่นได้ จะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างดี” Yong Teng จาก L.E.K. กล่าว “แต่สำหรับผู้เล่นรายใหม่ ผมไม่คิดว่าหลายบริษัทจะมีความสามารถพอในการดำเนินงานต่อไปได้”
อ่านเพิ่มเติม ที่มา- 'Elon Musk Of China' Suffers $1.2 Billion Wealth Wipeout Amid Battery Fires And Executive Departures
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine