การตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อรักษาหลักเสรีภาพ - Forbes Thailand

การตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อรักษาหลักเสรีภาพ

หลังจากที่การกลับคำพิพากษาเรื่องสิทธิการทำแท้งของสตรีก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักเมื่อไม่นานมานี้ ศาลสูงสุดสหรัฐก็ก่อกระแสใหม่ขึ้นมาอีกระลอกจากคำพิพากษาคดีระหว่างรัฐ West Virginia กับสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) 


    ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า EPA กระทำการเกินกว่าอำนาจที่มีอยู่ไปอย่างมาก จากการออกกฎที่บังคับให้กิจการโรงไฟฟ้าเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปใช้เชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่งส่วนใหญ่คือ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

    คำพิพากษาของศาลออกมาชัดเจนมากนั่นคือ หากหน่วยงานที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาจากประชาชนจะออกกฎระเบียบใดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนในสังคม หน่วยงานนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อนจึงจะดำเนินการได้ หน่วยงานต่างๆ ไม่อาจหาเหตุผลมาสนับสนุนการดำเนินการเองโดยอาศัยการตีความข้อกฎหมายแบบบิดเบือน

    โดยในกรณีนี้ EPA ได้เริ่มกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่หลายปีก่อน โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่จะทำให้การใช้น้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้ากลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับการดำเนินการดังกล่าว และอันที่จริงแล้วสภาคองเกรสปฏิเสธที่จะให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้วหลายรอบ

    นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบสุดโต่งพากันสนับสนุนให้หน่วยงานกำกับดูแลทำในสิ่งที่พวกตนดำเนินการผ่านกระบวนการประชาธิปไตยไม่สำเร็จ ซึ่ง EPA ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียวที่ทำาเกินอำนาจหน้าที่ของตัวเอง แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานรัฐอีกมากมายหลายแห่งก็ใช้อำนาจเกินเช่นกัน

    ในอดีตที่ผ่านๆ มาสภาคองเกรสเองก็มีส่วนสนับสนุนให้อำนาจดั้งเดิมของตัวเองลดลงไป ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยไม่ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมในความเป็นจริงมีกฎหมายหลายฉบับมากที่ถูกร่างแบบจงใจเขียนให้หลวมๆ เพื่อเปิดช่องให้ข้าราชการใช้อำนาจตีความอย่างยืดหยุ่นได้เต็มที่

    ความพยายามลดบทบาทของสภาคองเกรสในทำนองนี้มีมานานตั้งแต่สมัยช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 แล้ว โดยช่วงนั้นมีกระแสสังคมว่าอุตสาหกรรมยุคใหม่ทำให้รัฐธรรมนูญล้าสมัยไปแล้ว และควรเปิดโอกาสให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญและไม่ต้องถูกถ่วงด้วยกระบวนการออกกฎหมายที่ยุ่งยาก ในเรื่องนี้ Woodrow Wilson ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 28 คือผู้สนับสนุนอันดับต้นๆ ของความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการตรวจสอบอำนาจของรัฐบาลนั้นล้าสมัยและไร้ประโยชน์ไปแล้ว

    ความเห็นทำนองนี้ถูกเสนออีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้โดย Anthony Fauci ซึ่งบอกว่า การตัดสินใจโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างเขาไม่น่าจะต้องนำไปพิจารณาในเชิงกฎหมายอีก

    แต่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศของเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า แนวคิดแบบนี้เป็นสูตรสำเร็จของเผด็จการ และทุกคนที่ใช้อำนาจจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

    ที่สำคัญก็คือ ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ถูกต้องไปหมดทุกครั้ง รวมถึง Fauci ด้วย อย่างในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่จะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม ปี 2020 เขาออกมาบอกว่า คนทั้งหลายควรเป็นห่วงไข้หวัดตามฤดูกาลมากกว่าโคโรนาไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนั้น

    อย่างไรก็ตามหน่วยงานประเภทที่กระหายอำนาจไม่น่าจะยอมรามือรับการตัดสินใจของศาลง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น SEC ยังคงมีแผนจะออกกฎหนา 500 หน้าเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและภาวะโลกร้อนในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ ซึ่งเชื่อได้เลยว่าศาลสูงสหรัฐจะยังต้องตัดสินอีกหลายคดี เพื่อตอกย้ำคำพิพากษาระหว่างรัฐ West Virginia กับ EPA


- เบสบอลไม่ควรเป็นกีฬาพาหลับ -

    การแข่งขันกีฬาเบสบอลรายการ All-Star Game เมื่อเดือนกรกฎาคม และผู้ร่วมงานฉลองนับเป็นสิ่งเตือนใจที่บอกเราว่า กีฬาเบสบอลไม่มีวันจะกลับไปเป็นกีฬาโปรดที่สามารถดึงดูดให้ชาวอเมริกันติดตามชมการแข่งขันได้เหมือนกับในอดีตอีกแล้ว เพราะฐานะที่มั่งคั่งมากขึ้นและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ผู้คนมีทางเลือกอื่นๆ

    อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้กีฬาเบสบอลได้รับความนิยมน้อยลงเกิดจากตัวมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาที่ยืดยาวกว่าที่การแข่งขันระดับ Major League จะแข่งกันจบเกม ซึ่งหากเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อนแทบจะไม่มีการแข่งขันนัดใดเลยที่ใช้เวลานานเกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่ในยุคนี้ถ้าเกมไหนแข่งจบได้ภายใน 2 ชั่วโมงครึ่งต้องถือว่าเร็วปานวาร์ปเลยทีเดียว ทั้งเจ้าของทีมเบสบอลและเจ้าหน้าที่ของ MLB ต่างก็พยายามเต็มที่ที่จะเร่งระยะเวลาของเกมให้จบเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะการแข่งขันแทบทุกนัดยังกินเวลานานมากอยู่ดี

    การแข่งขันที่เล่นกันเร็วขึ้นจะเป็นเกมที่สนุกขึ้น และทำให้มีคนมากขึ้นหันมาสนใจชมกีฬาเบสบอลซึ่งเป็นกีฬาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแง่ของการผสมผสานความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นกับทีมเวิร์กอย่างลงตัว เพราะฉะนั้นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเบสบอลจึงไม่ควรปล่อยให้เหล่าผู้เล่นและโค้ชมาขัดขวางการปฏิรูปวงการเบสบอลซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น และแฟนๆ เบสบอลต่างพากันเชียร์ให้เกิดขึ้น

    วิธีที่น่าจะทำให้การแข่งขันใช้เวลาสั้นลงได้ก็เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา เช่น ห้ามไม่ให้โค้ชหรือผู้จัดการทีมเดินเข้าไปหาพิชเชอร์ที่จุดขว้างลูก ยกเว้นเพื่อเปลี่ยนตัวผู้ขว้าง เพราะทุกวันนี้มีการเข้าไปที่จุดขว้างลูกบ่อยเกินไปมาก หรือหากทีมใดต้องการประท้วงการตัดสินของกรรมการจะต้องทำทันที ห้ามรอจนกว่าจะได้รับรายงานจากผู้เชี่ยวชาญที่ชมผ่านวีดิโอว่ามีโอกาสประท้วงสำเร็จ เป็นต้น


- อันตรายของการเล่นตามเกมของ Putin -

    The Bell of Treason โดย P.E. Caquet (Other Press ราคา 27.99 เหรียญ) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ใครหลายๆ คนควรอ่านแต่คงจะไม่ได้อ่าน ทั้งทีมงานด้านความมั่นคงของ Joe Biden และบรรดาผู้นำใจปลาซิวของเยอรมนีและฝรั่งเศส บทเรียนสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ การยอมปฏิบัติตามศัตรูที่มีเจตนาชัดเจน เป็นการกระทำที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ก็คือ ความตกลง Munich (Munich Agreement) ซึ่งในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1938 ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสหักหลังพันธมิตรที่สำคัญอย่างเชโกสโลวาเกียแล้วไปทำข้อตกลงดังกล่าวกับ Adolf Hitler ซึ่งผลพวงน่าสะพรึงกลัวที่ตามมาก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

    ประเทศเชโกสโลวาเกีย (ปัจจุบันแตกออกเป็นสาธารณรัฐเช็ก และประเทศสโลวาเกีย) ถูกสร้างขึ้นมาจากเศษที่เหลือของอาณาจักรออสโตร-ฮังกาเรียนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประชากรประมาณ 20% เป็นชาวซูเดเตน (Sudeten) ที่พูดภาษาเยอรมัน เดิมทีประเทศนี้จับมือเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นกับฝรั่งเศส ในขณะที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แต่ Hitler ต้องการที่จะทำลายและยึดครองประเทศนี้ เขาจึงใช้ข้ออ้างว่าประเทศเชโกสโลวาเกียกดขี่ชาว Sudeten ซึ่ง Hitler อ้างว่า เป็นกลุ่มที่ปรารถนาจะเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงเยอรมัน แม้ว่าเรื่องนี้จะไร้สาระขนาดไหน แต่พวกนาซีก็เป็นนักปั้นเรื่องเพื่อสร้างปัญหาอยู่แล้ว และ Hitler ก็ขู่ว่าจะทำสงคราม

    Neville Chamberlain นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในสมัยนั้นดึงผู้นำฝรั่งเศสที่ลังเลที่จะเข้าร่วมสงครามประชุมที่ Munich ร่วมกับอิตาลี และทุกฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะยอมให้ Hitler ครองบางส่วนของประเทศเชโกสโลวาเกียที่ประชากรพูดภาษาเยอรมันได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ระบบป้อมปราการที่ซับซ้อนของประเทศรวมอยู่ด้วย ในตอนนั้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ข้อตกลงนี้ทำให้เกิด “สันติภาพในยุคของเรา” แต่เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น Hitler ก็ขยับไปยึดส่วนที่เหลือของประเทศที่ปราศจากกลไกป้องกันตัวเองแห่งนี้ และหลังจากนั้นอีกเพียง 2-3 เดือน Hitler ก็บุกโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 2

    ทำเลยุทธศาสตร์ของเชโกสโลวาเกียบวกกับกำลังพลนับแสนของกองทัพเยอรมันที่ยึดประเทศเชโกสโลวาเกียได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของฝรั่งเศส และที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ เชโกสโลวาเกียเป็นหนึ่งในประเทศที่มียุทธภัณฑ์ดีที่สุดในโลก ซึ่งช่วยเสริมแสนยานุภาพของกองทัพเยอรมันให้ยิ่งร้ายกาจขึ้นกว่าเดิมอีกมาก ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของรถถังที่กองทัพเยอรมันใช้บุกตะลุยข้ามพรมแดนฝรั่งเศสในปี 1940 คือ รถถังที่ยึดมาจากเชโกสโลวาเกียนั่นเอง

    ถ้าเกิดมีการรบกันขึ้นมาจริงๆ ในปี 1938 ฝรั่งเศสและเชโกสโลวาเกียสามารถผนึกกำลังกันเอาชนะเยอรมนีได้สบายๆ เพราะการสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ของเยอรมนีในตอนนั้นยังไม่สมบูรณ์ดี

    แน่นอนว่า 2 ช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมไม่เหมือนกัน แต่ในขณะที่จีน รัสเซีย อิหร่าน และประเทศอื่นๆ กำหนดท่าทีแข็งกร้าวชัดเจน การตอบสนองต่อคำสั่งบุกยูเครนของ Vladimir Putin ตั้งแต่ต้นเหมือนจะยิ่งตอกย้ำท่าทีที่อ่อนแอของโลกตะวันตก ซึ่งข้อสรุปของทั้งสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเยอรมนีก็ดูแล้วป้อแป้เต็มที

    “เราต้องไม่ฉีกหน้า Putin” Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าว ซึ่งทั้งเขาและผู้นำชาติตะวันตกอื่นๆ ต่างก็พยายามผลักดันให้มีการทำข้อตกลงลักษณะเดียวกับความตกลง Munich แต่รอบนี้เป็นการทำกับผู้ร้ายอย่างรัสเซีย

    แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันเลยกับในปี 1938 ก็คือ บรรดาผู้นำประเทศประชาธิปไตยไม่เก๋าพอที่จะเล่นเกมนี้กับรัสเซีย


เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา

อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 อันดับ "นักกีฬาค่าตัวแพงที่สุดในโลก" ประจำปี 2022

>> ​บลูบิค เผยไตรมาส 3 ทำนิวไฮต่อเนื่อง ดัน 9 เดือนแรกปี 65 กำไรแตะ 100 ล้านบาท


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine