ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 21-30 - Forbes Thailand

ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 21-30

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Jan 2016 | 10:31 AM
READ 7350
สืบสายสืบทรัพย์ ครั้งแรกของการจัดอันดับ 50 ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย ครอบครัวคือแกนกลางสำคัญของธุรกิจยักษ์ใหญ่และแบรนด์ดังจำนวนมากในเอเชีย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นตระกูล Lee แห่ง Samsung Group ซึ่งรายได้ของกลุ่มในปี 2014 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ Forbes ได้ทำการจัดอันดับ 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยกำหนดเกณฑ์ว่าตระกูลที่จะเข้าข่ายในการจัดอันดับของเราต้องมีการสืบทอด ทรัพย์สินกันต่อเนื่องอย่างน้อย 3 รุ่นขึ้นไป ดังนั้นชื่อของมหาเศรษฐีชั้นนำของภูมิภาคบางคนอย่างเช่น Li Ka-shing แห่งฮ่องกง จึงไม่ติดอันดับอยู่ในทำเนียบของเรา เพราะถึงแม้ว่าลูกชายของเขาจะอยู่ในแวดวงธุรกิจ แต่เขายังไม่มีทายาทรุ่นหลานที่ออกมารับบทผู้บริหารธุรกิจอย่างจริงจังเลย ถึง แม้ตระกูลส่วนใหญ่ในทำเนียบของเราจะสั่งสมความมั่งคั่งจากธุรกิจของตระกูล จากรุ่นสู่รุ่น แต่ในการจัดอันดับของเราในครั้งนี้ก็รวมไปถึงทายาทที่แยกทางออกไปทำธุรกิจ อื่นที่อยู่นอกเส้นทางของครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของตระกูล Ambini แห่งอินเดีย เราได้รวมทรัพย์สินของ 2 พี่น้อง Mukesh และ Anil ซึ่งได้รับมรดกทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากพ่อของพวกเขาซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 แต่พวกเขาเลือกที่จะแยกไปทำธุรกิจอื่นๆ ตามทางของตัวเอง ทั้งนี้มีตระกูลเศรษฐีอินเดียติดอันดับถึง 14 ตระกูลจากทั้งหมด 50 ตระกูลซึ่งสูงกว่า ตระกูลเศรษฐีจากประเทศอื่นๆ ในการรวบรวมราย ชื่อเพื่อจัดทำอันดับตระกูลเศรษฐีเอเชียครั้งนี้ เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของตระกูลนักธุรกิจชั้นนำกว่า 500 ตระกูลและทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของหลายๆ ตระกูลที่เข้าข่าย ซึ่งปรากฏว่าตระกูลที่จะติดอันดับในทำเนียบของเราได้ต้องมีทรัพย์สินไม่ต่ำ กว่า 2.9 พันล้านเหรียญ โดยในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเราใช้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 25 กันยายน (2558) ธุรกิจของหลายๆ ตระกูลซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และแม้ว่าตระกูลจะยังคุมอำนาจบริหารอยู่ แต่พวกเขาก็ยังต้องตอบคำถามของผู้ถือหุ้นภายนอกตระกูล บางตระกูลอย่างเช่น Burmans ของอินเดีย ได้จ้างผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาบริหารธุรกิจของพวกเขา แต่บางครั้งการที่ทายาทของตระกูลวางมือจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวไปก็ อาจเกิดเป็นประเด็นได้เหมือนกัน (ถ้าคุณคิดว่ามีตระกูลไหนที่เราอาจจะมองข้ามไป ก็อีเมลมาบอกเราได้ที่ readers@forbes.com)
ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย ลำดับที่ 21-30 21. ตระกูล KADOORIE 8.9 พันล้านเหรียญ ฮ่องกง ธุรกิจบริการและไฟฟ้าของตระกูลเริ่มก่อตั้งมานานกว่า 100 ปีแล้วโดย Sir Elly Kadoorie ซึ่งเป็นชาวอิรักเชื้อสายยิวที่อพยพจากแบกแดดมาอยู่ที่ฮ่องกง Lawrence และ Horace Kadoorie ซึ่งเป็นลูกชายของ Elly รับหน้าที่บริหารธุรกิจที่ฮ่องกงและสร้างสมความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตระกูลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะส่งต่อธุรกิจให้กับ Michael Kadoorie ซึ่งเป็นลูกชายของ Lawrence รับตำแหน่งเป็นประธานของ Hongkong & Shanghai Hotels และ CLP Holdings ด้วย ตระกูล Kadoorie ยังมีอำนาจบริหารในโรงแรม Peninsula และ Peak Tram ไปยัง Victoria Peak ด้วย นอกจากนี้ตระกูล Kadoorie ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยได้ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างเขื่อน สะพานรวมถึงโครงการสนับสนุนทางการเกษตรและโรงเรียนหลายแห่งในฮ่องกงและเนปาลอีกด้วย 22. ตระกูล BIRLA 7.8 พันล้านเหรียญ อินเดีย ในปี 1919 Ghanshyam Das Birla ได้เริ่มก่อตั้งโรงปอขึ้นเป็นกิจการแรกของครอบครัว ซึ่งต่อมาได้ขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการถ่ายโอนธุรกิจให้ทายาทแต่ละรุ่น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา Kumar Birla ซึ่งเป็นเหลนของ Ghanshyam Das ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ Aditya Birla Group ซึ่งตั้งชื่อตามพ่อผู้ล่วงลับไปแล้วของเขา และได้ขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตโลหะและเคมีภัณฑ์หลายแห่ง ในปัจจุบันกิจการของตระกูลมีรายได้รวมถึง 4.1 หมื่นล้านเหรียญ จากธุรกิจต่างๆ มากมายตั้งแต่ปูนซีเมนต์ไปยังเครื่องนุ่งห่ม 23. ตระกูล NG 7.7 พันล้านเหรียญ สิงคโปร์ Ng Teng Fong อพยพจากประเทศจีนมายังสิงคโปร์ในปี 1934 ด้วยความช่วยเหลือของ Eliyathamby ญาติห่างๆ ของ Ananda Krishnan มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของมาเลเซีย เขาก่อตั้ง Sino Group บริษัทแม่ของบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3 แห่งและบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง ตลอดช่วงหลายปี Teng Fong ซึ่งเสียชีวิตไปในปี 2010 ได้สร้างโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและคอนโด รวมแล้วกว่า 700 แห่งทั้งในสิงคโปร์และฮ่องกง Robert Ng ลูกชายของเขา เป็นประธานบริษัท Tsim Sha Tsui Properties จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และเป็นบริษัทของ Sino Group ขณะที่ Philip น้องชาย บริหารงาน Far East Organization บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือเช่นกัน Daryl บุตรชายของ Robert รับตำแหน่งกรรมการบริหารของ Sino Group 24. TSAI (อาหาร) 6.9 พันล้านเหรียญ ไต้หวัน ในปี 1962 บิดาของ Tsai Eng-Meng ก่อตั้งบริษัท I Lan Foods Industrial ทำธุรกิจเล็กๆ ส่งออกอาหารกระป๋อง ก่อนจะพัฒนามาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเครื่องดื่มชื่อ Want Want China มี Eng-Meng นั่งเก้าอี้ประธาน ปี 1996 เขาพาบริษัท Want Want Holdings เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และออกจากตลาดในปี 2007 เพื่อเข้าจดทะเบียนที่ตลาดฮ่องกงภายใต้ชื่อ Want Want China 25. ตระกูล MORI 6.1 พันล้านเหรียญ ญี่ปุ่น Taikichiro Mori อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยจากโตเกียว ก่อตั้งบริษัท Mori Building Co. ในปี 1959 หลังจากได้รับมรดกเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดไม่ใหญ่ไม่โตจากบิดาผู้ล่วงลับ บริษัทได้ประโยชน์จากช่วงที่ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรับงานก่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยจำนวนมาก Taikichiro ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกจาก Forbes ในปี 1991 และ 1992 ในปี 1999 Akira และ Minoru ลูกชาย 2 คนแบ่งทรัพย์สินจากธุรกิจที่ได้รับเป็นมรดกหลัง Taikichiro เสียชีวิตลงในปี 1993 ภาพ: Forbes Asia 26. ตระกูล KHOO 6 พันล้านเหรียญ สิงคโปร์ Khoo Teck Puat เป็น 1 ใน 3 นักลงทุนที่มาช่วยกอบกู้ธนาคารสัญชาติอังกฤษ Standard Chartered ให้รอดพ้นจากการเข้าซื้อกิจการโดย Lloyds Bank ในปี 1986 เขายังเป็นผู้ก่อตั้งธนาคาร Maybank ของมาเลเซียในปี 1960 Teck Puat เดินรอยตามพ่อของเขา Khoo Yang Thin ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในธนาคารหลายแห่งของสิงคโปร์ โดยได้ควบรวมกับธนาคาร Overseas Chinese Banking Corp. (OCBC) ในปี 1933 ที่นี่เองที่ Teck Puat ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานและเรียนรู้เกี่ยวกับการธนาคาร ต่อมาเขาซื้อกิจการโรงแรมหลายแห่ง รวมทั้ง Goodwood Park ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ และปัจจุบันบริหารงานโดยลูกหลานในครอบครัวตระกูล Khoo ตัดสินใจขายธนาคาร Standard Chartered ไปให้กับ Stanchart แต่ยังทำธุรกิจโรงแรมต่อไป Mavis Khoo-Oei ลูกสาวของ Teck Puat รั้งตำแหน่งประธานโรงแรม GoodwoodPark มาตั้งแต่เขาเสียชีวิตในปี 2004 27. ตระกูล KOO 5.9 พันล้านเหรียญ เกาหลีใต้ ตระกูลที่อยู่เบื้องหลัง LG Corp กลุ่มธุรกิจใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และโทรคมนาคม Koo Bon-Moo ประธาน LG Corp เป็นหลานของ Koo In-Hwoi ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ลูกชายเพียงคนเดียวของเขาเสียชีวิตในช่วงทศวรรษที่ 90 ทำให้ในปี 2004 เขารับ Koo Kwang Moo ลูกชายของ Koo Bon-Neung พี่ชายของเขามาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งกำลังจะได้รับตำแหน่งประธานสืบต่อจากเขา Bon-Neung ดำรงตำแหน่งประธาน Heesung Group บริษัทลูกของ LG ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 28. ตระกูล WIDJAJA 5.8 พันล้านเหรียญ อินโดนีเซีย Eka Tjipta Widjaja อพยพจากประเทศจีนมาอินโดนีเซียตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุได้ 17 เขาเริ่มขายบิสกิตและในปี 1962 ได้ก่อตั้ง Sinar Mas ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ดำเนินธุรกิจมากมายรวมทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ พืชผลการเกษตรและอาหาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริการทางการเงิน พลังงานและโครงสร้างสาธารณูปโภค ตลอดจนสื่อสารโทรคมนาคม กิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดของตระกูล ได้แก่ บริษัท Golden Agri-Resources ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ 29. ตระกูล BAJAJ 5.6 พันล้านเหรียญ อินเดีย Bajaj Group เปิดดำเนินการครั้งแรกในปี 1926 โดย Jamnalal Bajaj พันธมิตรใกล้ชิดของมหาตมะ คานธี ต่อมาในปี 1942 Kamlanayan ลูกชายคนโตของ Jamnalal มาทำหน้าที่บริหารแทนและได้ขยายธุรกิจสู่การผลิต โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์สกู๊ตเตอร์ ด้าน Rahul หลานชาย เมื่อจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัย Harvard ก็ได้กลับมารับผิดชอบกิจการรถ 2 ล้อในปี 1965 ความสามารถเชิงธุรกิจของเขาทำให้ Bajaj กลายมาเป็นยี่ห้อประจำบ้านของครอบครัวอินเดีย 30. ตระกูล BURMAN 5.5 พันล้านเหรียญ อินเดีย ในปี 1884 S.K. Burman แพทย์อายุรเวทได้ปรุงและผสมยาเพื่อรักษาโรคมาลาเรียและอหิวาตกโรคในบ้านของเขาที่ Kolkata ต่อจากนั้นไม่นานก็ทำธุรกิจส่งขายตามบ้าน ในปี 1919 C.L. Burman ลูกชายของเขาก่อตั้งแผนก R&D ขึ้นและขยายโรงงานผลิตยาออกไปอีก 2 แห่ง และลูกชายอีก 2 คนของเขาคือ Puran และ Ratan ก็เข้ามาดูแลกิจการในช่วงปี 1930-1940 ในปัจจุบันนี้ Dabur เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอินเดีย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางตระกูล Burman ได้สอนงานธุรกิจและให้คำแนะนำกับสมาชิกในตระกูลที่เป็นผู้ชาย เพื่อเข้ามาบริหารงานและสืบทอดกิจการต่อไป แต่มาเมื่อปี 1998 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูล วางกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่โดยจ้าง McKinsey วางกลยุทธ์ให้และให้ผู้มีประสบการณ์ในหน้าที่การงานจริงๆ เข้ามาบริหารแทนที่จะให้เครือญาติเข้ามาดูแล โดยมีการจัดตั้ง Family Council ขึ้นเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับข้อมูลข่าวสารและร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา วางนโยบายร่วมกัน 17 ปีผ่านไป กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น 24 เท่า มูลค่ากิจการเพิ่ม 40 เท่าและเพิ่มสินค้าในบริษัทได้มากกว่า 400 รายการ ไม่ว่าจะเป็นครีมทาผิว ยาสระผมสมุนไพร แม้กระทั่งน้ำผลไม้จากธรรมชาติ ขายในกว่า 6 ล้านร้านค้าทั่วประเทศอินเดีย



คลิ๊กอ่าน "สืบสายสืบทรัพย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine