“ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ทายาทซีพี นำทัพสตาร์ทอัพ Lightnet ระดมทุนรอบซีรีส์ A กว่า 1,000 ล้านบาท ใช้บล็อกเชนมุ่งปฏิวัติตลาดการส่งเงินข้ามประเทศ
หลังจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยกันในร้านกาแฟถึงปัญหาการส่งเงินข้ามประเทศที่ต้องใช้เวลานาน มีค่าธรรมเนียมสูง ทำให้บรรดาผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านฟินเทค Lightnet ใช้เวลากว่า 10 เดือนในการพัฒนานวัตกรรมการส่งเงินข้ามประเทศนี้จนสำเร็จ และในวันนี้บริษัทของพวกเขาสามารถระดมทุนรอบซีรีส์ A ไปได้แล้ว 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1 พันล้านบาท
โดยกลุ่มนักลงทุนชั้นนำของสตาร์ทอัพรายนี้ นำโดย UOB Venture Management and Hanwha Investment and Securities ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในสิงคโปร์และเกาหลีใต้ตามลำดับ รวมถึงบริษัท Seven Bank (TKO: 8410) จากกลุ่มบริษัท Seven & I Holdings ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ทั้งหมดในญี่ปุ่น และร้านสะดวกซื้ออีกประมาณ 6.92 หมื่นแห่งทั่วโลก
นอกจากนี้ยังรวมถึงบริษัท Uni-President Asset Holdings บริษัทด้านการลงทุนของ Uni-President Enterprise Corp. รวมถึงบริษัท Hashkey Capital บริษัทด้านการลงทุนเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์และการเงินในจีนอย่าง WanXiang Group
ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัทสตาร์ทอัพด้านฟินเทค Lightnet กล่าวว่า บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อมาเป็นศูนย์กลางการชำระเงินแห่งใหม่เพื่อให้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ และรวดเร็วทันใจแก่ประชากรมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วเอเชีย ผ่านเทคโนโนโลยีบล็อกเชน บนเครือข่ายระบบปฏิบัติการจากสหรัฐอเมริกาในนาม Stellar Network ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่จะมาเปลี่ยนโฉมโลกการเงินออนไลน์ในอนาคต
“เราตั้งเป้าที่จะปฏิรูปตลาดการส่งเงินข้ามประเทศ (cross-border remittance market) ที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติกว่า 11 ล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของธนาคาร ทำให้ต้องพึ่งพาการใช้ระบบการเงินแบบเก่าที่มีต้นทุนสูง ต้องใช้เวลานานกว่าการโอนเงินจะสำเร็จ ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมที่แพง”
ชัชวาลย์ ระบุอีกว่า ตลาดแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริการเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญ นับว่าเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลืองและรอการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าอย่าง smart contract และบล็อกเชน
ด้าน ตฤบดี อรุณานนท์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานบริษัท กล่าวเสริมว่า บริษัทวางเป้า Lightnet จะเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาการส่งเงินข้ามประเทศ โดยสามารถให้บริการได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบอี-วอลเล็ต, การชำระเงินด้วย QR code, บัญชีธนาคาร และบัตรเครดิต
“เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะมีการทำธุรกรรมการเงินได้มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท จากเครือข่ายพันธมิตรของเรา นั่นคือเหตุผลที่เราเน้นย้ำยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างระบบนิเวศแก่ตลาดท้องถิ่น ในการเข้าถึงผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึง”
ขณะที่ สุวิชชา สุดใจ ผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอ อธิบายเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมของบริษัทประกอบไปด้วย 3 โปรดักต์ ได้แก่ BridgeNet, LiquidNet และ SmartNet โดยตอนนี้โครงข่ายหลักของผลิตภัณฑ์ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และคาดว่าจะเปิดตัว BridgeNet เป็นอันดับแรกในปี 2563 นี้
“ในด้านของผู้ใช้บริการ เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 5 แสนรายจากเครือข่ายตัวแทนผู้ให้บริการ นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะเปิดตัวบนเครือข่ายของพันธมิตรอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine