Crowdfunding การระดมทุนที่ไร้พรมแดน - Forbes Thailand

Crowdfunding การระดมทุนที่ไร้พรมแดน

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Aug 2015 | 01:44 PM
READ 4429

เรื่อง: ศศิวิมล บุญเรือง คลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand "STARTUP ALL-STARS 3 ยักษ์ใหญ่ไอทีปั้้นฝันสู่พันล้าน" ฉบับ JULY 2015

การระดมทุนจากมวลชน หรือ crowdfunding คือช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่สำหรับบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ สร้างงานประดิษฐ์ หรือริเริ่มโครงการเพื่อสังคมส่วนรวม แต่ไม่มีเงินทุนในการดำเนินการ และไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่ในรูปแบบของ venture capital ได้ และสำหรับธุรกิจเกิดใหม่หรือ startup นั้น การระดมเงินทุนผ่านรูปแบบนี้จึงเป็นโอกาสและทางเลือกที่น่าสนใจ crowdfunding เป็นที่แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสามารถนำโครงการหรือสิ่งประดิษฐ์ของตนเพื่อทำการผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ โดยระดมทุนจากบุคคลทั่วไปที่สนใจจองสินค้านั้นๆ ล่วงหน้า  หรือเปิดให้ร่วมลงทุนในหุ้นของบริษัทเจ้าของโครงการหรือสิ่งประดิษฐ์นั้น สำหรับประเทศไทย การระดมทุน crowdfunding เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สืบเนื่องมาจากวงการสตาร์ทอัพในไทยได้เริ่มก่อตัวในปี 2012-2013 และเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อโครงการและสิ่งประดิษฐ์ของสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นที่ยอมรับ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุน crowdfunding เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี Indiegogo เว็บไซต์ crowdfunding ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพไทย และกลุ่มนักวิจัยไทยในการเป็นช่องทางสู่การระดมทุนเพื่อพัฒนาสินค้า เมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มสตาร์ทอัพผู้พัฒนา “ไดร์ฟบอท” อุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อช่วยผู้ขับขี่ตรวจสภาพรถได้รับการสนับสนุนเงินทุนผ่านการระดมทุนของแพลตฟอร์ม Indiegogo โดยตั้งเป้าระดมทุนไว้ 1 แสนเหรียญ ยอดเงินทะลุเป้าหมายภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน นอกจากนี้โครงการ “เลนส์ทวิทรรศน์” พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (เนคเทค) ประดิษฐ์เลนส์แบบพกพาที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นกล้องจุลทรรศน์เคลื่อนที่ได้ การระดมทุนสำเร็จตามเป้าหมายโดยทีมได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 พันเหรียญในระยะเวลา 30 วัน แต่ก็ระดมได้มากกว่า 6 พันเหรียญ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวว่าทีมนักวิจัยได้ใช้เงินจากการระดมทุนเพื่อต่อยอด ระบบการผลิตกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ รวมทั้งวางแผนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และเตรียมจะออกเลนส์รุ่นใหม่เป็นเลนส์เดียว แต่กำลังขยาย 3 กำลังให้เลือก โดยออกแบบให้การใช้งานง่ายขึ้น Indiegogo ถือเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิด crowdfunding platform ในประเทศไทย อาทิ Dreamaker Crowdfunding ก่อตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว และ Sinwattana ซึ่งเป็น crowdfunding platform ของสิงคโปร์ เข้ามาประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การระดมเงินทุนของ crowdfunding มีรูปแบบต่างกัน เช่น การบริจาคเงิน (donation crowdfunding) การจ่ายเงินเพื่อสั่งจองสินค้าที่เจ้าของโครงการจะผลิตออกมาขาย (reward crowdfunding) การให้เจ้าของโครงการนำรายละเอียดของเเผนการดำเนินงานของบริษัทมาเปิดเผยบนเว็บไซต์ เพื่อเปิดระดมทุนจากบุคคลทั่วไปโดยการขายหุ้นของบริษัท (equity crowdfunding) และการกู้ยืมเงิน (loan crowdfunding) โดยผู้ลงทุนได้รับส่วนแบ่งเป็นร้อยละของการขายเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือได้รายได้แบบดอกเบี้ย สำหรับในประเทศไทยที่ผ่านมา รูปแบบการบริจาคเงิน อย่างเว็บไซต์เทใจดอทคอม เริ่มเป็นที่รู้จัก และเมื่อเร็วๆ นี้  คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้ออกประกาศอนุญาตให้มีการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์  (crowdfunding portal) ได้ โดยอนุญาตให้ขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นทุนก่อน โดยบริษัทผู้เสนอขายต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียวใน 2 กรณี คือขายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลและขายให้กับผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งนี้ผู้ให้บริการ crowdfunding เหล่านี้ ต้องได้รับการเห็นชอบจากสำนักงาน กลต. และลงทุนได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อระยะเวลา 12 เดือน “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและขับเคลื่อนชุมชนสตาร์ทอัพ และส่งเสริมนักพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้ความเห็นว่า กระแส crowdfunding ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในนวัตกรรม ส่วนคนที่มีความเข้าใจก็ยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะการลงทุนในนวัตกรรมต้องใช้เวลา และมีความเสี่ยง คนที่ลงทุนรู้สึกว่าลงทุนไปแล้วได้โปรเจคแปลกๆ ถือว่าเป็นหน้าเป็นตา ในขณะที่ต่างชาติจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้อยู่แล้ว และนักลงทุนก็ยอมรับความเสี่ยงได้ แม้นักลงทุนไทยที่ลงทุนในสตาร์ทอัพยังมีน้อยมาก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ส่วนปัญหาการหลอกลวงผ่าน crowdfunding นั้นก็น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะแม้แต่ Kickstarter crowdfunding platform รายใหญ่ของโลกก็ยังมีปัญหา เช่นส่งช้า สินค้าหน้าตาไม่เหมือนของจริง หรือไม่มีของส่งมอบ ดังนั้นการลงทุนจึงต้องเผื่อความเสี่ยง และจำเป็นต้องมีระบบ verification และ enforcement ให้ชัดเจน ขณะเดียวกันเจ้าของ crowdfunding platform ควรเลือกโครงการที่มีคุณภาพ เลือกผู้ร่วมเสนอโครงการที่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งต้องกำหนด criteria ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม crowdfunding โดยธรรมชาติเป็นโครงการที่ระดมทุนได้จากคนทั้งโลก และเสน่ห์ของมันคือ นักลงทุนสามารถติดตามได้ด้วยว่าตลาดอยู่ที่ไหน กรณีของไดร์ฟบอท ซึ่งเป็นนักพัฒนาคนไทย แต่ปรากฎว่า 40% เป็นนักลงทุนต่างชาติ นั่นแสดงถึง crowdfunding นั้นไร้พรมแดนอย่างแท้จริง
คลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand "STARTUP ALL-STARS 3 ยักษ์ใหญ่ไอทีปั้้นฝันสู่พันล้าน" ฉบับ JULY 2015