ธุรกิจอินเทอร์เน็ตเมืองไทยอ้าแขนต้อนรับทุนใหญ่จากญี่ปุ่น ทุ่ม 1.5 พันล้านบาท สร้าง Z.com หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแกร่ง
เทคโนโลยีในไทยที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Masatoshi Kumagai วัย 53 ปีผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านอินเทอร์เน็ตของญี่ปุ่น ตัดสินใจทุ่มงบ 1.5 พันล้านบาท ควบรวมกิจการ NetDesign Group ของไทย ก่อตั้ง GMO-Zcom Net Design ด้วยสัดส่วนการลงทุนฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งไทยที่ 49:51 โดยมี เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้ก่อตั้ง NetDesign Group นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Z.com ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในไทย อาทิ คลาวด์ ระบบสนับสนุนอี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ ไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตเร็วขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ที่พบว่า ปี 2559 มีจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 45 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 6.4 ชั่วโมง/วัน ETDA ยังคาดการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในปี 2559 ว่าจะอยู่ที่ราว 2.52 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ซึ่งมีมูลค่าราว 2.25 ล้านล้านบาท มูลค่าขายส่วนใหญ่ในปี 2559 เป็นอี-คอมเมิร์ซประเภท B2B 54.74% B2C 28.89% และ B2G 16.37% หากไม่รวมอี-อ็อคชั่น พบว่า 3 อันดับของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซสูงสุดคือ ค้าปลีกและค้าส่ง 34.55% การให้บริการที่พัก 30.35% และการผลิต 16.23%แวดวงธุรกิจโลกออนไลน์ตื่นตัวยิ่งขึ้น เมื่อ Jack Ma ผู้ก่อตั้งและ Executive Chairman ของ Alibaba Group ที่มีแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในกลุ่ม อาทิ Alibaba Taobao 1688 เป็นต้น มีผู้ใช้งานรวมกันกว่า 430 ล้านคน เดินทางมาเมืองไทยเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว และเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อหารือถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการชาวไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าระดับโลกตามด้วยการเข้ามาของ 11street แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจากเกาหลีใต้ ที่เปิดให้ลูกค้าคนไทยได้ซื้อขายสินค้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว Kumagai ซึ่งติดอันดับที่ 47 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีญี่ปุ่น ปี 2558 จัดโดย นิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.32 หมื่นล้านบาท) ก่อตั้ง GMO Internet ขึ้นในปี 2534 ด้วยความคิดว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อผู้คนทั่วโลกในอนาคต แม้ขณะนั้นชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยังไม่คุ้นเคยนักก็ตาม (มาถึงขณะนี้เว็บไซต์ Statista ระบุว่า ญี่ปุ่นมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 118 ล้านคน หรือกว่า 90% ของประชากร) “การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้ภาษาเป็นสำคัญ ซึ่งจำนวนผู้ใช้ภาษาอังกฤษมีมากกว่าภาษาญี่ปุ่น 4.6 เท่า GMO Internet ที่ให้บริการภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักจึงต้องขยายธุรกิจเพื่อให้บริการครบวงจรและสร้างรายได้มากขึ้น” เขากล่าวกับ Forbes Thailand ดังนั้น จากเดิมที่มีธุรกิจประเภท internet infrastructure ให้บริการจดโดเมน เว็บโฮสติ้ง ฯลฯ จึงมีธุรกิจ online advertising & media, internet securities และ mobile entertainment เข้ามาเสริม ปัจจุบัน GMO Internet Group มี 107 บริษัทในเครือ กระจายตัวใน 18 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ Kumagai ให้ความสำคัญ เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูง จึงนำแบรนด์ Z.com ซึ่งใช้เป็นแบรนด์รุกตลาดโลกในเซ็กเมนต์ internet infrastructure เข้ามาให้บริการในเวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ โดยมาเลเซียและไทยเป็น 2 ประเทศล่าสุดที่มีการเจรจาลงทุนในเวลาไล่เลี่ยกันคือปีที่แล้วรูปแบบการลงทุนใน 6 ประเทศมีทั้งการเข้าไปตั้งบริษัทเองและควบรวมกิจการ ใช้งบไปราว 1 หมื่นล้านเยน (3 พันล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีสำนักงาน/สาขาของ Z.com ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ รัสเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ ฯลฯ ด้วยในไทยนั้น Kumagai เลือกจับมือ Net-Design Group เพราะเห็นว่าบุคลากรมีความพร้อมและมีประสบการณ์ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตมาเกือบ 20 ปี จึงพูดคุยกับเฉลิมรัฐและนำสู่การควบรวมในที่สุด ซึ่ง Z.com จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย โดย Kumagai จะนำความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีมาเสริมทัพเน้นบริการ 4 กลุ่ม คือ บริการคลาวด์ ชูจุดเด่นที่การมีเซิร์ฟเวอร์ในไทย ช่วยลดปัญหา downtime (ช่วงที่เซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถให้บริการได้) ซึ่งในตลาดมี Amazon Web Services (AWS) และ Microsoft Azure เป็นผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อยู่แล้ว “เรานำเสนอสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าใช้งานง่ายกว่า และในราคาที่เหมาะสมกว่ากลุ่มเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้มีตั้งแต่เอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่” Kumagai กล่าว ผู้ก่อตั้งและ Group CEO ของ GMO Internet คาดว่าต่อไปทุกเมืองในไทยจะเป็น “internet city” มีปัจจัยหนุนคือโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งจะส่งให้ธุรกิจ Z.com เติบโตขึ้นด้วยเช่นกันทั้งในแง่ผู้ใช้งานและรายได้ และจะเชื่อมโยง Z.com ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกันให้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งพร้อมจะวางตัวเป็นสะพานเชื่อมธุรกิจไทยไปญี่ปุ่น หากธุรกิจนั้นมีบริการที่ดีและมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจทุกวันนี้ ยอดขายสุทธิของ GMO Internet มาจากตลาดญี่ปุ่น 96% และต่างประเทศ 4% Kumagai ตั้งเป้าให้ยอดจากต่างประเทศทวีสัดส่วนขึ้นเป็น 50% ในอนาคต พร้อมคาดการณ์ยอดขายสุทธิในปีนี้ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 1.45 แสนล้านเยน (4.47 หมื่นล้านบาท) และกำไรสุทธิที่ราว 8 พันล้านเยน (2.47 พันล้านบาท) เพิ่มจากปีก่อนซึ่งมียอดขายสุทธิที่ราว 1.35 แสนล้านเยน (4.16 หมื่นล้านบาท) และกำไรสุทธิที่ราว 7.2 พันล้านเยน (2.2 พันล้านบาท) กลยุทธ์ปีนี้ คือการเปลี่ยนชื่อธุรกิจเซ็กเมนต์ internet securities ให้เป็น internet finance เพื่อครอบคลุมธุรกิจให้มากขึ้น โดยมีทั้ง GMO Wallet ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 เป็น virtual currency สอดรับนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นที่หนุนการเงินดิจิทัลพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่วนจะนำไปใช้ใน Forex Trading ซึ่ง GMO Internet Group เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผนชัดเจนนักและยังมี internet bank ซึ่งจะเปิดตัวในราวเดือนมีนาคมปีหน้า และหากธุรกิจไหนสามารถเสริมกับธุรกิจที่มีในไทยได้ก็มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ทั้งหมดเพื่อหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้คึกคักพร้อมก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างแท้จริงคลิกอ่านฉบับเต็ม "เปิดตัว Z.com พร้อมหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine