วงการสตาร์ทอัพไทยทวีความคึกคักต่อเนื่องภายหลังการประกาศนโยบายเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 พร้อมกับที่นักลงทุน VC หน้าใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้ง angel investor, venture capital (VC), corporate VC เพื่อแหวกว่ายในกระแสน้ำสตาร์ทอัพอันเชี่ยวกราก
ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) เผยเคล็ดลับ “ลงทุนอย่างไรในสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ” ในฐานะวาณิชธนกรผู้คร่ำหวอดในแวดวงตลาดเงินและตลาดทุนกว่า 30 ปี ประสบการณ์ตรงในฐานะนักลงทุนในกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือไพรเวทอิควิตี้ (private equity) อีก 24 ปี ที่ฝ่าร้อนหนาวของวิกฤต “ดอตคอม” ในปี 2542 และ 2 ปีที่ผ่านมาเขาผันตัวเองมาลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 ราย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ Lalamove (ลาล่ามูฟ) แอพพลิเคชั่นให้บริการขนส่งสินค้าตลอด 24 ชั่วโมงรายแรกในไทย ก้องเกียรติเล่าว่า Lalamove ในวันที่เขาลงทุนมีธุรกิจในจีน 12 เมือง ปัจจุบันขยายเป็น 40 กว่าเมืองในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงกรุงเทพมหานคร การเติบโตอย่างรวดเร็วของสตาร์ทอัพรายนี้ย่อมบ่งบอกถึงสายตาอันเฉียบคมในการคัดกรองสตาร์ทอัพของนักการเงินผู้คร่ำหวอดในวงการได้เป็นอย่างดี เขาศึกษาหาข้อมูลของสตาร์ทอัพในต่างประเทศอยู่เสมอ เพราะสตาร์ทอัพต่างประเทศก้าวหน้ากว่าไทย การหาข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทราบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี สิ่งที่สตาร์ทอัพในประเทศไทยทำอยู่จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยหรือไม่ เมื่อเร็วๆ นี้เขาเดินทางไปอิสราเอลซึ่งเป็นอันดับต้นของโลกเรื่องสตาร์ทอัพ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพหลายด้าน ทั้งด้านการแพทย์ ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ฟินเทค การปล่อยกู้ และคุยกับ VC อันดับต้นของอิสราเอล 2-3 ราย พบว่า นักลงทุนเหล่านี้มีประสบการณ์ มีวิธีการวิเคราะห์ที่คล้ายคลึงกัน ให้ความสำคัญกับการออกจากการลงทุนด้วย นอกจากกฎทั่วไป 8 ข้อ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยและเทคนิคอีกมาก อาทิ เทคนิคการประเมินมูลค่ากิจการที่มีหลายเทคนิค แต่ ก้องเกียรติมักใช้ discounted cash flow ร่วมกับการเปรียบเทียบธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน และการดูอัตราการใช้เงินทุน (burn rate) การรู้จักตัวเองว่าเป็นนักลงทุนประเภทใด ชอบลงทุนในสตาร์ทอัพประเภทไหน stage ใดก็สำคัญไม่น้อย เพราะสไตล์การลงทุนมีความต่าง บางคนอาจลงทุนแบบหว่าน ถ้ากิจการนั้นดีก็เติมเงินลงทุน หากไม่ดีก็ปล่อยให้ตายไป หรือการเป็น Aangel ที่ลงทุนช่วงที่ธุรกิจเริ่มต้นไอเดีย อาจต้องลงทุนหว่านหลายราย รายละนิดหน่อยเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จ ส่วน VC อาจเลือกลงทุนแบบฉพาะเจาะจงมากกว่า “ผมไม่เหมาะกับ angel เพราะไม่ชอบติดตาม ผมชอบเป็น VC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ pre-series A หรือลงทุนใน series A ที่กิจการมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วบางครั้งอาจเป็น series D ก็ได้ ผมยินดีปล่อยให้สตาร์ทอัพโตขึ้นมาอีกนิด เพื่อดูว่าไปรอดหรือไม่รอดก่อน ผมเลือกลงทุนช้า แพงขึ้น แต่โอกาสล้มเหลวน้อยกว่า” สไตล์การลงทุนของ ก้องเกียรติหลังจากพิจารณาประวัติและระบบของสตาร์ทอัพว่ามีเสถียรภาพเพียงพอ เขาจะปล่อยให้สตาร์ทอัพทำงานสักพักหนึ่ง แล้วค่อยช่วยเหลือสตาร์ทอัพในสิ่งที่ตัวเขาสร้าง value added ให้กับกิจการได้ เช่นช่วยหาลูกค้า หรือให้คำแนะนำในทางที่เหมาะสม ว่าสตาร์ทอัพควรเดินแนวทางใดให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น กิจการควร “แต่งตัว” อย่างไรเมื่อถึงคราวที่ต้องระดมทุนในรอบต่อไปเคล็ดลับ 8 ข้อสู่ความสำเร็จในการลงทุนสตาร์ทอัพ
1.ประสบการณ์ของผู้บริหาร “หากเป็นทีมผู้ก่อตั้ง ผมดูลึกแม้กระทั่งว่าทีมนี้รู้จักกันมานานหรือยังเรียนหนังสือ ทำงานที่ไหน มีความเชี่ยวชาญอย่างไร จะเหนียวแน่นกันอีกนานหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องประเมิน เพราะแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างกัน บางคนเก่งเรื่อง IT บางคนเก่งเรื่องการตลาด” 2.เป็นไอเดียที่ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ “ไอเดียธุรกิจของเขาสามารถทดแทน สร้างความสะดวกให้กับธุรกรรมที่มีอยู่ปัจจุบันหรือเปล่า สร้าง disruptive คือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิธีการตามปกติที่เราทำกันอยู่ มาเป็นวิธีใหม่ซึ่งรวดเร็ว ประหยัด หรือไม่” 3.ไม่ได้ทำธุรกิจเพียงเฉพาะในประเทศไทย “ระบบงาน ระบบ IT ของบริษัทที่เป็นอยู่ ต้องขยาย (scale up) ไปตลาดต่างประเทศได้ เพราะตลาดในประเทศไทยไม่ใหญ่เท่าไรในฐานะที่เป็นนักลงทุน เรามีหน้าที่สอนสตาร์ทอัพด้วยเช่นกันผมมักตั้งคำถามกับสตาร์ทอัพบางคนว่า หากคุณเป็นอี-คอมเมิร์ซที่สร้างแพลตฟอร์มให้คนมาขายของได้เฉพาะเมืองไทยอย่างเดียว คุณจะเหนือกว่าแพลตฟอร์มระดับโลกได้อย่างไร หากแพลตฟอร์มระดับโลกมาขายที่เมืองไทยได้” 4.ระบบบัญชี แม้ไม่มีระบบที่ดี แต่ต้องรู้ว่ามีต้นทุนอะไร ใช้เงินอย่างไร “ค่าใช้จ่ายต้องมีการควบคุมดูแล ไม่ใช้จ่ายโดยขาดเหตุผลที่เหมาะสมซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินเดือนตัวเองด้วย สตาร์ทอัพไม่ควรมีการจ่ายเงินเดือนให้ผู้ก่อตั้ง ผมเคยเจอบางกรณีที่ผู้ก่อตั้งจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองมากเกินไป แน่นอนว่าเราต้องจ่ายเงินเดือนลูกจ้างในราคาตลาด หรือหากจ่ายต่ำกว่าราคาตลาดก็ควรมีหุ้นให้บางส่วนเพื่อเป็นแรงจูงใจดึงดูดเขาให้อยู่กับเรา แต่การนำเงินของผู้ลงทุนมาจ่ายให้ตัวเองทั้งที่กิจการยังไม่มีกำไร เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม” 5.ศึกษาโอกาสในการเติบโตของบริษัท “ถ้าเติบโตในอัตราปกติผมจะไม่สนใจ สตาร์ทอัพที่ดีต้องเป็นกิจการที่โตเร็ว ยกตัวอย่างเช่น Lalamove ตอนที่ผมไปลงทุนเขามีธุรกิจที่ประเทศจีน 12 เมือง แล้วสามารถขยายเป็น 40 กว่าเมืองในระยะเวลาอันสั้นซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร” 6.ผู้ลงทุนมีโอกาสออก (exit) จากสตาร์ทอัพเมื่อใด “เม็ดเงินที่เราลงทุนจะแปรผันขึ้น-ลงตามระยะเวลาที่จะอยู่กับสตาร์ทอัพนั้นด้วย หากอยู่นานเม็ดเงินก็อาจลดลงเหลือน้อยหน่อยซึ่งมี 2 ทางเลือก ทางที่หนึ่ง trade sale คือ ขายให้รายที่ใหญ่กว่าทางที่สองคือ IPO แต่อย่างน้อยต้องอยู่ไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ในครั้งเดียว หรือมีการเพิ่มทุนหลังจากนั้นบ้าง ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นไม่มีกฎตายตัว หากเป็นกองทุนใหญ่ๆ อาจถือหุ้น 10-30% ขึ้นอยู่กับขนาดของดีล” 7.VC ต้องช่วยสตาร์ทอัพขายกิจการได้ “VC ต้องขายเป็น ต้องช่วยน้องๆ สตาร์ทอัพขายกิจการได้ มี VC อิสราเอลรายหนึ่งที่ผมคุยด้วยสามารถปิดดีลการลงทุนออกจากสตาร์ทอัพได้ 50-60 ดีล ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว เมื่อขยายกิจการได้ก็ขายให้ทั้ง Microsoft, IBM, Dell, หรือแม้แต่ Apple ซึ่งท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือเราต้องถามตัวเองว่าขายให้ใคร” 8.วิเคราะห์คู่แข่งของสตาร์ทอัพที่เราให้ความสนใจ “เราจำเป็นต้องดูคู่แข่งว่าไปถึงไหนแล้ว เราจะมีโอกาสไหมหากอยู่ในสถานะที่เป็นผู้ตาม หากไม่มีโอกาสผมจะบอกน้องสตาร์ทอัพไปตรงๆ ไอเดียการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพก็มีซ้ำกันบ้าง ส่วนใหญ่จะลอกเลียนกัน เมืองไทยตามหลังต่างประเทศอยู่ จึงมีการลอกเลียนไอเดียมาทำโดยหวังว่าจะขายให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองนอก การเลียนแบบไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่ขอให้จับตลาดของตัวเองให้ได้ เมื่อใหญ่พอ ต่างประเทศจะซื้อเราไปเอง”คลิกอ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine