อีกก้าวของ ทรูมันนี่-Alipay ที่กำลังวางกลยุทธ์เพื่อให้มีการใช้ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในไทยมากขึ้น บริษัทพันธมิตรทั้ง 2 แห่งได้ร่วมกันแต่งตั้งตัวแทน 6 ราย หลากหลายทั้งบริษัทไทยและจีนเพื่อสรรหาจูงใจร้านค้าทั่วไปให้เปิดบริการรับชำระค่าสินค้าด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรูมันนี่-Alipay มากขึ้น ตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ไปถึง 1 แสนจุดรับชำระภายในสิ้นปีนี้
ทรูมันนี่ เริ่มต้นในปี 2003 เพื่อเป็นช่องทางสนับสนุนกลุ่มทรูในการเติมเงิน-ชำระค่าบริการต่างๆ ของกลุ่ม ก่อนจะยกระดับเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรูมันนี่ อี-วอลเล็ท เมื่อ 4 ปีก่อน โดยผู้ใช้สามารถเติมเงินในทรูมันนี่และนำไปชำระค่าบริการอื่นๆ ได้มากกว่าเดิม อาทิ จ่ายค่าสินค้าที่เซเว่นอีเลฟเว่น
ในทำนองเดียวกับ
Alipay ที่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีน ซึ่งเปิดดำเนินการมานับ 10 ปีแล้ว และเพิ่งเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น 20% ในแอสเซนด์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของทรูมันนี่เมื่อปีก่อน และเปิดจุดรับชำระสินค้าด้วย Alipay ในไทย รองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ
ทำให้ปี 2560 นี้ทั้งสองบริษัทพันธมิตรวางกลยุทธ์ร่วมกันแต่งตั้งตัวแทนสรรหา 6 รายดังกล่าว ได้แก่ บัซซี่บีส์, ฮวนยูจิ, จีมู่, เพย์วิง, ทรูยู และวงใน มีเดีย ด้วยโจทย์สำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และจำนวนครั้งการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องขยายจุดรับชำระค่าสินค้าให้มากที่สุดก่อน
โดย
สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย
บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ทรูมันนี่เป็นประจำ (active users) อยู่ 2 ล้านราย และมีการใช้งาน 5-6 ครั้ง/คน/เดือน มีจุดรับชำระค่าสินค้า 12,000 จุดทั่วประเทศ โดยมากเป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
หลังจากแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขยายจุดรับในร้านค้าย่อยอื่นๆ คาดหวังเพิ่มจุดรับชำระไปให้ถึง 1 แสนจุดร่วมกันทั้งทรูมันนี่และ Alipay ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทรูมันนี่เพิ่มเป็นเท่าตัว
"เรามีจุดแข็งคือเราเข้าไปเติมช่องว่างในกลุ่มคนที่ไม่ต้องการใช้บัตรเครดิต หรือสมัครไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ช่องทางชำระเงินที่ผูกกับบัญชีธนาคาร เพราะกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของเราสามารถทยอยเติมเงินเก็บไว้ได้ มีข้อดีคือสะดวก ไม่ต้องพกเงินสด และแม้จะซื้อของมูลค่าน้อยก็ใช้ได้ ซึ่งต่างจากการใช้บัตรที่ร้านค้ามักจะคิดมูลค่าขั้นต่ำหากต้องการใช้" สราญรัตน์กล่าว
กลยุทธ์ในช่วงนี้ต้องดึงร้านค้าพันธมิตรที่จะเปิดรับชำระด้วยทรูมันนี่ให้มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ผู้ใช้จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อผู้ใช้มองว่ามีความสะดวกสบายใช้ได้หลายจุด ก็จะเริ่มหันมาใช้กระเป๋าเงินทรูมันนี่มากขึ้น
ด้านคู่แข่งกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบ e-Payment แบรนด์อื่น ยอมรับว่ามีการแข่งขันสูงเพราะบริษัทรายใหญ่มีกว่า 30 ราย และรายเล็กอีกจำนวนมาก แต่ยังเชื่อว่าทรูมันนี่มีข้อได้เปรียบเพราะเริ่มต้นให้บริการมาก่อน และหลังมีพันธมิตรคือ Alipay ทำให้ได้องค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาหลายด้าน
ด้าน
พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย
ANT Financial Services Group ผู้ให้บริการ Alipay กล่าวว่า Alipay มีผู้ใช้ชาวจีน 450 ล้านราย และมีชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกว่า 10 ล้านรายต่อปี ทำให้ Alipay เข้ามาเปิดจุดรับชำระอำนวยความสะดวก โดยปัจจุบันมี 15,000 จุด และมีผู้ใช้ชาวจีนที่ใช้ Alipay ชำระค่าสินค้าในไทยประมาณ 5 ล้านรายต่อปี
หากมีจุดรับชำระสินค้าเพิ่มเป็น 1 แสนจุด คาดว่าจะจูงใจและสร้างความรับรู้ให้ชาวจีนที่เข้ามาไทยใช้จ่ายผ่าน Alipay เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจีนมักจะใช้จ่ายด้วย Alipay ในร้านค้าดิวตี้ฟรี ร้านสะดวกซื้อ ช็อปปิ้ง และสปา และจุดที่ต้องการขยายให้มากขึ้นคือกลุ่มร้านอาหาร
"เราจะไปด้วยกันทั้ง 2 กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หลายพื้นที่ที่มีทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปใช้จ่าย เช่น แหล่งท่องเที่ยวอย่างถนนนิมมานเหมินท์ที่เชียงใหม่ มีร้านอาหารและร้านค้ามากมายที่สามารถเปิดจุดรับชำระกับเราได้ทั้ง 2 แอพพลิเคชั่น" พิภาวินกล่าว