ดึงสตาร์ทอัพเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กระทรวงวิทย์ฯ นัดถกกรมบัญชีกลางแก้ระเบียบ - Forbes Thailand

ดึงสตาร์ทอัพเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กระทรวงวิทย์ฯ นัดถกกรมบัญชีกลางแก้ระเบียบ

สตาร์ทอัพเตรียมลุ้นกระทรวงวิทย์ฯ นัดถกกรมบัญชีกลางภายใน 2 สัปดาห์ ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ระเบียบเพื่อเปิดช่องให้สตาร์ทอัพมีสิทธิเข้าถึงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมเปิดกลยุทธ์ 7 ข้อหนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวการจัดงาน STARTUP THAILAND 2018 ว่า จากเป้าหมายการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของสตาร์ทอัพ (วิสาหกิจเริ่มต้น) ที่สมบูรณ์ในประเทศไทย กระทรวงวิทย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างนัดหมายหารือกับกรมบัญชีกลางภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ เพื่อหาทางเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้ร่วมประมูลในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

“ปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและดำเนินธุรกิจจริงอยู่แล้ว 1,500 ราย เรามองว่าที่ผ่านมาเรามีการดันให้สตาร์ทอัพเริ่มทำธุรกิจไปแล้ว จากนี้เราควรจะดึงเขาเข้ามาหาตลาดของรัฐ เพื่อให้เขารู้ว่าเราไม่ได้ทิ้งเขาให้หาตลาดเอาเอง

ดังนั้นจะหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบว่าสตาร์ทอัพยังติดขัดเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้เข้าประมูลไม่ได้ เช่น บางครั้งหน่วยงานรัฐจะกำหนดให้ผู้เข้าประมูลต้องเป็นบริษัทในบัญชีรายชื่อของกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นับเป็นงานใหญ่มากของกระทรวงวิทย์ฯ คาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะได้ข้อมูลชัดเจน” ดร.สุวิทย์กล่าว

 

เล็งดึงสตาร์ทอัพร่วมงานเทศบาล-อบต.

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวเสริมว่า ในอีกฝั่งหนึ่ง NIA จะพูดคุยกับทางฝั่งสตาร์ทอัพที่ติดปัญหาไม่สามารถประมูลงานภาครัฐได้เพื่อกำหนดโจทย์ว่าควรแก้ไขอย่างไร และคาดว่าจะต้องหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง

(ซ้าย) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (ขวา) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ NIA มองว่าสตาร์ทอัพหลายรายมีศักยภาพพอที่จะสนับสนุนงานบริหารจัดการภาครัฐและงานบริการสาธารณะอยู่แล้วในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มที่พัฒนา solutions ด้านระบบบัญชี, solutions การจัดเก็บภาษี, เทคโนโลยีภาคเกษตร (AgriTech), เทคโนโลยีการแพทย์ (HealthTech), การจัดการข้อมูล (Data) เป็นต้น 

ดร.พันธ์ุอาจฉายภาพว่า การดึงสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยในระบบบริหารของรัฐเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยโมเดลการทำงานของประเทศต้นแบบที่คาดว่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ คือสหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)  โดย UAE จะมีศูนย์พัฒนานวัตกรรมรัฐบาลซึ่งเปิดให้สตาร์ทอัพเข้ามาเป็นพันธมิตร ขณะที่สหรัฐฯ best replica watches มีระบบการบริหารที่แยกเป็นระดับรัฐและระดับเมือง โดยเมืองต่างๆ เช่น New York, Seattle, Atlanta จะมีประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของเมือง หน้าที่คือผลักดันให้เมืองใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการให้เป็น Smart City ซึ่งแต่ละเมืองจะมีการเลือกจัดจ้างสตาร์ทอัพมาพัฒนาระบบแตกต่างกันตามความเหมาะสม “เรามองว่าในประเทศไทยอาจจะนำมาปรับใช้กับฝ่ายบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อช่วยในการบริการประชาชน” ดร.พันธุ์อาจกล่าว “งบจัดซื้อจัดจ้างแต่ละปีของรัฐบาลสูงถึง 4 แสนล้านบาท เป็นตลาดที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพได้”  

7 นโยบายพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ

ความพยายามเปิดช่องให้สตาร์ทอัพเข้าร่วมในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นเพียงนโยบายหนึ่งที่กระทรวงวิทย์ฯ ผลักดัน ดร.สุวิทย์ยังกล่าวถึงนโยบายอื่นๆ ที่กระทรวงวิทย์ฯ กำลังเร่งเครื่องเดินหน้าอยู่รวมเป็น 7 นโยบาย ได้แก่ 1.ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ พ.ร.บ.สตาร์ทอัพ โดยพ.ร.บ.นี้จะลดอุปสรรคในการก่อตั้งสตาร์ทอัพในไทย เช่น การให้แรงจูงใจแก่นักลงทุนทั้งด้านภาษีและที่ไม่เกี่ยวกับภาษี รวมถึงการให้ทุนและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ (Funding และ Accelerator) 2.ออกกฎหมาย พ.ร.บ. Regulatory Sandbox ให้ครอบคลุมสตาร์ทอัพทุกประเภท ทั้งนี้ จะศึกษาเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Regulatory Sandbox ในการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย 3.เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 4.SMART VISA วีซ่าประเภทพิเศษ ซึ่งครอบคลุมถึงชาวต่างชาติที่จะเข้ามาก่อตั้งสตาร์ทอัพในไทยสามารถอยู่อาศัยได้นาน 1 ปี จากเดิม 90 วัน เริ่มเปิดให้ขอวีซ่านี้ได้แล้วตั้งแต่ 1 ก.พ. 61 5.การจัดซื้อจัดจ้างเชิงวิจัยภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกโจทย์งานวิจัยนวัตกรรมที่ต้องการและออกงบประมาณวิจัย และให้สตาร์ทอัพเป็นผู้พัฒนา 6.Bayh-Dole Act กฎหมายในรูปแบบเดียวกับ Bayh-Dole Act ของสหรัฐฯ ซึ่งอนุญาตให้มหาวิทยาลัย ธุรกิจขนาดเล็ก หรือองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ใช้งบประมาณรัฐในการวิจัย สามารถเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมนั้นๆ ได้ แตกต่างจากเดิมที่นวัตกรรมเหล่านั้นต้องตกเป็นของรัฐ 7.ย่านนวัตกรรม (Innovation District) โดย NIA เสนอให้มีการพัฒนาย่านนวัตกรรมต้นแบบก่อน 2 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมโยธี บริเวณซอยโยธีซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งหมด 16 แห่ง และสตาร์ทอัพมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในการคิดค้นนวัตกรรมอยู่แล้ว NIA ต้องการจะยกระดับให้ความร่วมมือเหล่านี้ขยายไปในระดับโลก อีกแห่งหนึ่งคือ ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาเป็น True Digital Park ในโครงการวิสซ์ดอม 101 ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นแหล่งรวมสตาร์ทอัพ นโยบายผลักดันสตาร์ทอัพของกระทรวงวิทย์ฯ จะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตามคำตอบ แต่อย่างไรก็ตามดร.สุวิทย์ประกาศชัดแล้วว่า อย่างน้อย “พ.ร.บ.สตาร์ทอัพต้องประกาศใช้ให้ได้ภายใน 6 เดือน”