ดีแทคฟาร์มแม่นยำ ฟาร์มต้นแบบในการพัฒนาเกษตรแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพทางการเกษตร
“การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของดีแทค และถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของดีแทคในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลเพื่อส่งต่อและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสะท้อนกลไกของอินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย4.0 อย่างเป็นรูปธรรม”
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าว
สำหรับ
“ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” เป็นโครงการทดลองและวิจัย พัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ โดยเนคเทค- สวทช. รับผิดชอบในการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ในส่วนของระบบเซนเซอร์ ขณะที่ดีแทครับผิดชอบด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบ dtac Cloud Intelligence
โดยโครงการดีแทคฟาร์มแม่นยำ ได้นำร่องทดลองที่
ฟาร์มมะเขื่อเทศราชินี แตะขอบฟ้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรีแล้ว โดยหลังจากนี้ จะเปิดให้เกษตรกรที่เคยผ่านการอบรมโครงการ Young Smart Farmer ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและดีแทคมาแล้วในการสมัครร่วมทดลอง เพื่อหาสูตรที่ดีที่สุดในการปลูกพืชแต่ละชนิด และในพื้นที่สภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งนี้ จะคัดเลือกเกษตรกรจำนวน 30 ฟาร์ม มีความต้องการที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน นอกจากนี้ จะต้องเป็นเจ้าของฟาร์ม และทำการเกษตรในโรงเรือน ตลอดจนทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี ทั้งนี้ ฟาร์มจะต้องตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพ เพื่อความสะดวกในการวิจัย ติดตามผลและให้คำแนะนำ
ด้าน
สำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อรองรับแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพเกษตรกรไทย
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ภาคเกษตรกรรม ในแผนปฏิบัติการเนคเทคระยะ 5 ปี พ.ศ.2560 - 2564 ที่มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ยกระดับมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุน Smart Farm อาทิ เทคโนโลยี what2grow ที่นำไปใช้ใน AgriMap Online สถานีตรวจวัดข้อมูลสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช และเครื่องรับเมล็ดปาล์มอัตโนมัติ
“สำหรับโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของเนคเทค ได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์ โดยสร้างระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบเครือข่ายเกษตรกร จำเพาะเจาะจงตามชนิดของพืช ในระยะแรกจะเน้นการติดตามและเก็บบันทึกปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน” ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิเดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าว
สำหรับงานงานเปิดตัวโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” เกิดขึ้นที่ไร่โคโค่เมล่อน ของ ณัฐ มั่นคง วัย 35 ปี อีก 1 Young Smart Farmer ทั้งสองเกษตรกรต่างเห็นพร้อมในเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผลิตผลแบบเดียว เพื่อป้อนสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยคุณค่า แทนที่จะลงทุนเพิ่มต่อในการผลิต อย่าง ปิยะ กิจประสงค์ ได้สร้างเครือข่าย การปลูกมะเขือเทศราชินี ไว้แล้วกว่า 10 คน ด้าน ณัฐ มั่นคง มีเครือข่ายการทำงาน 5-6 คน ทั้งสองเห็นพ้องกันถึงการกระจายความรู้สู่เพื่อนบ้านเกษตรกรเพื่อคุณภาพผลิตผลในระยะยาว ในขณะที่กระทรวงเกษตรตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเกษตรยุคใหม่ไว้ที่ 2,800 รายต่อปี