ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กิจการออกแบบและส่งมอบอุปกรณ์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยเป็นเจ้าของรายเดียวของประเทศวางแผนเข้าตลาด mai ระดมทุนสร้างสินค้านวัตกรรมเพื่อขยายตลาดในกลุ่มยานยนต์และไมโครชิพ NFC
บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2545 โดยวิศวกรไทยผู้เคยทำงานด้านการออกแบบไมโครชิพในต่างประเทศ ร่วมกับทีมนักวิจัยและคณาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ ด้วยวัตถุประสงค์เริ่มต้นที่อยากให้มีบริษัทไทยซึ่งมีความสามารถในการออกแบบเทคโนโนยีชั้นสูง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และเป็นแหล่งรองรับนิสิตนักศึกษาและบุคลากรที่มีความรู้ด้านการออกแบบไมโครชิพ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพคนไทยว่ามีฝีมือไม่แพ้ชาติใด จึงร่วมกันตั้งบริษัทออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน เลือกผลิตกับบริษัทคู่ค้าที่มีคุณภาพเพื่อส่งออกขายภายใต้แบรนด์ซิลิคอนคราฟท์ของบริษัท ปรอง กองทรัพย์โต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด ฉายภาพว่า บริษัทเปรียบเสมือนดีไซเนอร์ มีแบรนด์ มีสไตล์ มีเทคโนโลยีของตัวเอง จึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับโรงงานผลิตคู่ค้าในลักษณะที่เป็น fabless หรือ manufacturing less ซึ่งไม่มีโรงงานการผลิตเป็นของตัวเอง เนื่องจากการติดตั้งโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมนี้ใช้เงินลงทุนสูงมากหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ “บริษัทวางตำแหน่งตัวเองเป็น ‘ผู้ออกแบบและส่งมอบไมโครชิพ’ ซึ่งเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย บริษัทไม่ได้ทำเองทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งกลุ่มบริษัทไฮเทคของโลกที่ไม่ต้องการลงทุนด้วยเงินมหาศาลล้วนใช้การจ้างผลิตเช่นนี้ และผู้รับจ้างผลิตประกาศตัวชัดเจนว่ารับจ้างผลิตโดยมีจรรยาบรรณที่ไม่ลอกเลียนแบบสินค้า” บริษัทประกอบ 3 ธุรกิจหลัก หนึ่งคือ ธุรกิจ animal ID หรือไมโครชิพฝังที่ใช้เทคโนโลยีตรวจจับชนิดจำแนกความถี่วิทยุ (radio frequency identification หรือ RFID) ในการบ่งบอกตัวตน ไมโครชิพ RFID มีจุดเด่นคือทำงานเองได้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน ใช้พลังงานในการอ่านตัวตนต่ำ บ่งบอกตัวตนได้โดยมีคามปลอดภัยในระดับหนึ่ง ปัจจุบัน 100% ของธุรกิจนี้คือตลาดส่งออก โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตไมโครชิพสำหรับบรรจุใน ป้ายติดหูอิเล็กทรอนิกส์เพื่อระบุตัวตนในสัตว์ (animal ear tag) ที่ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ในออสเตรเลีย และเป็นผู้ผลิตไมโครชิพ Animal ID รายใหญ่อันดับ 3 จาก 5 รายของโลก “ฟาร์มปศุสัตว์ในต่างประเทศเป็นลูกค้ากลุ่มแรก ช่วงที่โรควัวบ้าระบาดในหลายประเทศเมื่อสิบกว่าปีก่อน รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายให้ระบบปศุสัตว์สำหรับวัวต้องมีระบบระบุตัวตนที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้การติดตามและระบบข้อมูลของทั้งประเทศเชื่อมโยงกันทั้งห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม และปี 2560 นี้ แคว้น Victoria ออสเตรเลียซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำปศุสัตว์ของประเทศ ได้ออกข้อกำหนดให้ขยายการระบุตัวตนด้วยป้ายอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ปศุสัตว์สำหรับแพะและแกะ โดยคาดว่าจะประกาศขยายการบังคับใช้ไปทั่วประเทศในอนาคต ธุรกิจ animal ID จึงเป็นตลาดที่สดใส” ธุรกิจที่สองคือ ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการใส่ไมโครชิพเพื่อระบุตัวตนของกุญแจกับชุดสตาร์ทรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ ในธุรกิจตลาดรถยนต์มีการระบุถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของการเข้าถึงระบบสตาร์ทว่า กุญแจสำรองที่ทำขึ้นใหม่ ชิพที่ฝังอยู่ในหัวกุญแจกับชิพที่อยู่ในตัวช่องกุญแจรถต้องถูกต้องตรงกัน ตลาดนี้จึงเป็นอีกตลาดเฉพาะ (niche market) ที่บริษัทเจาะเข้ามาได้โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ธุรกิจที่สามซึ่งบริษัทเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีและสินค้าประมาณ 5 ปี คือ ออกแบบผลิตชิพสำหรับเครื่องอ่าน RFID (reader IC) สำหรับประตูล็อกอิเล็กทรอนิกส์ (electronic door lock) เป็นอีกตลาดเฉพาะที่เริ่มมีความเข้มแข็ง “โลกอนาคต internet of things หรือ connectivity of everything จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนมากขึ้น แต่ละคนมีการเชื่อมต่อมากกว่า 1 อุปกรณ์ ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอแพด นาฬิกาวัดชีพจร มนุษย์จึงไม่ใช่ศูนย์กลางการเชื่อมต่ออีกต่อไป แต่คอมพิวเตอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเชื่อมต่อหรือพูดคุยกันเองได้โดยไม่ต้องผ่านการตัดสินใจของมนุษย์เพื่อความสะดวกของชีวิตมนุษย์” ปัจจุบัน บริษัทมีแผนขยายตลาดเฉพาะเพิ่มเติมในอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจออกแบบไมโครชิพสำหรับธุรกิจยานยนต์ซึ่งเป็นตลาดพิเศษที่มีความเฉพาะตัว และกลุ่มธุรกิจการออกแบบไมโครชิพเพื่อเชื่อมต่อกับเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อตรวจวัดสุขภาพ (biosensor interface) โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุระยะสั้น (near field communication chip: NFC) เช่น เซนเซอร์ที่สามารถตรวจวัดสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยผ่านการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลด้วยสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยให้บริษัทเจาะกลุ่มตลาดใหม่ เช่น กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ กลุ่มธุรกิจฉลากอัจฉริยะ (smart tag), กลุ่มธุรกิจเครื่องวัดเพื่อการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปรอง กล่าวว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แก่โลกด้วยนวัตกรรมอันชาญฉลาดเพื่อเชื่อมโลกเข้าด้วยกันอย่างปลอดภัย โดยเน้นกลุ่มตลาดเฉพาะที่ต้องการนวัตกรรมในการเชื่อมโยงโลก “บริษัทต้องการสร้างความภูมิใจว่าเป็นบริษัทไทยด้านการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (IC) ที่เติบโตอย่างยั่งยืน รากฐานของบริษัทไม่ใช่เพียงแค่การออกอุปกรณ์เชื่อมที่ต้องมีความอัจฉริยะเท่านั้น แต่ต้องมีความปลอดภัย (secure) ด้วย เพราะเราคงไม่อยากให้ข้อมูลสุขภาพและข้อมูลตัวตนของเราหลุดไปหาใคร จึงต้องเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนา” ปรอง กล่าวทิ้งท้ายว่า การระดมทุนจากสาธารณชนเป็นคำตอบ ให้บริษัทมีเงินทุนเพื่อซื้อทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) การขยายทีมนักออกแบบซึ่งเขามั่นใจว่าทีมงานมีความสามารถมากพอ รวมถึงการขยายการเติบโตในแนวตั้งให้เข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้น และแนวราบ เช่น การนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาประกอบกัน หรือใช้ในการสร้างพันธมิตรเพื่อเจาะบางตลาดที่เป็นตลาดเฉพาะเจาะจง เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม ภาพ: บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัดคลิกอ่าน "ซิลิคอน คราฟท์ฯ จ่อเข้า mai ระดมทุนเจาะตลาดไมโครชิพอัจฉริยะ" ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine