8 สตาร์ทอัพจบหลักสูตรโครงการบ่มเพาะ Bangkok Bank InnoHub จัดโดยธนาคารกรุงเทพและ Nest โดย 5 ทีมจาก 8 ทีมที่ผ่านการบ่มเพาะ ธนาคารกรุงเทพจะร่วมต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อหาความเป็นไปได้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เมื่อ 12 สัปดาห์ก่อน โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Bangkok Bank InnoHub ได้เริ่มขึ้นและคัดเลือกสตาร์ทอัพผู้เข้ารอบสุดท้าย 8 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 119 ทีม จาก 32 ประเทศทั่วโลก สตาร์ทอัพทั้ง 8 ทีมได้เข้ารับการบ่มเพาะกับโครงการ พร้อมรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาของทั้งธนาคารกรุงเทพและ Nest องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดโครงการสตาร์ทอัพระดับสากลเป็นเวลา 12 สัปดาห์เต็มจนจบโครงการเรียบร้อยแล้ว
ชาติศิริกล่าวว่า
5 ทีมจาก 8 ทีมที่ผ่านการบ่มเพาะ ธนาคารกรุงเทพจะรับเข้าสู่กระบวนการต่อยอดทางนวัตกรรมต่อไป เพื่อทดลองความเป็นไปได้ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ ซึ่ง 5 ทีมดังกล่าวเป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์, ระบบการจ่ายเงิน และการบริหารความมั่งคั่ง ส่วนอีก 3 ทีมที่เหลือก็ยังมีโอกาสที่จะร่วมงานกันได้ในอนาคต
โครงการ Bangkok Bank InnoHub และการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ ถือเป็นหนึ่งในการทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินงาน
ด้าน
Lawrence Morgan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
Nest Global, Hong Kong กล่าวว่า Nest ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างธนาคารกรุงเทพกับเหล่าสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในเชิงพาณิชย์ และเชื่อว่าโครงการ Bangkok Bank InnoHub ซึ่งรับสมัครสตาร์ทอัพจากทั่วโลกจะทำให้สตาร์ทอัพต่างๆ เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฮับของฟินเทคแห่งเอเชียและเป็นตลาดหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพเข้ามาเติบโต (scale up) ได้
ทั้งนี้ แม้ชาติศิริจะยังไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุนในสตาร์ทอัพ 5 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมทดลองผลิตภัณฑ์กับธนาคารกรุงเทพ แต่ธนาคารกรุงเทพได้มีการจัดตั้งหน่วยลงทุนในสตาร์ทอัพไว้แล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นั่นคือ
บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งมีงบลงทุนเริ่มแรกทั้งหมด 2 พันล้านบาท
สำหรับรายชื่อ
8 สตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะกับโครงการ Bangkok Bank InnoHub ได้แก่
1. Canopy (ประเทศสิงคโปร์) ระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทุนทั้งหมด เช่น กองทุน หุ้น พันธบัตร สำหรับช่วยให้ลูกค้าบุคคลที่มีทรัพย์สินสูง (HNWI: High Net Worth Individual) ตัดสินใจการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
2. Bento (ประเทศสิงคโปร์) ใช้ Robo Advisors เป็นที่ปรึกษาการลงทุนแบบดิจิทัล ช่วยจัดการพอร์ตการลงทุนประเภทหวังผลตอบแทนระยะยาวให้
3. Bambu (ประเทศสิงคโปร์) ใช้ Robo Advisors ในการบริหารความมั่งคั่ง
4. Covr (ประเทศสวีเดน) ระบบความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์พร้อมกับพัฒนาให้ผู้ใช้งานรู้สึกสะดวกในการใช้ด้วย
5. Everex (ประเทศไทย) พัฒนาบริการโดยใช้ระบบ Blockchain
6. First Circle (ประเทศฟิลิปปินส์) ช่องทางเข้าถึงสินเชื่อให้กับกลุ่ม SMEs ซึ่งเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงินทั่วไปได้ยาก
7. Invoice Interchange (ประเทศสิงคโปร์) ช่วยแก้ปัญหาของ SMEs ที่ต้องรอเครดิตเทอมการจ่ายเงินของบริษัทผู้ว่าจ้างที่บางครั้งยาวนานมากถึง 120 วัน โดยระบบนี้จะรับซื้อใบเสนอราคาที่ SMEs รอการจ่ายเงินอยู่และจ่ายให้ก่อนได้ทันที
8. FundRadars (ประเทศไทย) อีกไลน์ผลิตภัณฑ์หนึ่งจาก StockRadars เป็นระบบรวมข้อมูลและติดตามการเคลื่อนไหวของกองทุนต่างๆ