ทรูมันนี่ รุกขยายฐานธุรกิจ โอนเงินผ่านแอปฯ ชาวต่างชาติไทยในไทย ชูเวอร์ชั่นภาษาพม่า เจาะกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาร์ในไทยผ่านแอปฯ
ทรูมันนี่ ขยายฐานผู้ใช้งานอีวอลเล็ทชาวต่างชาติในประเทศไทย เปิด “TrueMoney Wallet for Foreigners” เพื่อสร้าง Financial Inclusion และมอบประสบการณ์ Cashless Payment ให้กับชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติในไทยในการ โอนเงินผ่านแอปฯ ล่าสุดเพิ่มเวอร์ชั่นภาษาพม่า เจาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเมียนมาร์กว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทดลองให้บริการอีวอลเล็ทสำหรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และได้เห็นว่ากระแสการปรับตัวและใช้ชีวิตดิจิทัลในยุค New Normal ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนไทย แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักในประเทศไทย" ปัจจุบัน ทรูมันนี่ นับตั้งแต่ทดลองให้บริการมามีชาวต่างชาติสนใจสมัครใช้บริการทรูมันนี่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 300 ซึ่งสัดส่วนผู้ใช้ที่เป็นแรงงานชาวเมียนมาร์ในไทยมีมากสุดอันดับหนึ่งคือกว่าร้อยละ 15 และเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าร้อยละ 220 (ม.ค. - พ.ค. 2563) สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมและบริการการเงินที่มีในแอป TrueMoney Wallet ตอบโจทย์การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกับทุกๆ คน และต่อยอดพัฒนาเพิ่มเวอร์ชั่นภาษาพม่าใน TrueMoney Wallet for Foreigners อีกทั้งเปิดบริการ In-App TrueMoney Transfer เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้ชาวเมียนมาร์ให้โอนเงินกลับไปยังบ้านเกิดได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ เราได้อย่างสะดวก ประหยัดทั้งเงินทั้งเวลา พร้อมมอบความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งนี้ ทรูมันนี่ คือ ผู้ให้บริการ e-Wallet รายแรกของประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้อง โดยก่อนหน้านี้ ทรูมันนี่ ให้บริการ TrueMoney Transfer ผ่านจุดบริการ 11 สาขาในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานเมียนมาร์หนาแน่น นอกจากนี้ ยังมีจุดบริการ TrueMoney Transfer ในประเทศเมียนมาร์ จำนวน 4,000 จุด ซึ่งรวมถึงธนาคาร AGD (Asia Green Development Bank) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกเมืองในประเทศเมียนมาร์ที่ส่วนใหญ่เป็นภูมิลำเนาของผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย อาทิ รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน เขตมะกเว เขตพะโค เขตซะไกง์ เขตย่างกุ้ง ตะนาวศรี เนปยีดอ และมะกเว โดยการเปิดให้บริการ In-App TrueMoney Transfer ในครั้งนี้ จะช่วยให้แรงงานชาวเมียนมาร์ในไทยไม่ต้องเดินทางไปจุดให้บริการ แต่สามารถโอนเงินกลับภูมิลำเนาได้ง่าย ๆ ผ่านแอปฯ ทรูมันนี่ วอลเล็ท อย่างสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ณ เดือนตุลาคม 2563 ระบุว่า มีชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยจำนวน 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนามราว 2.1 ล้านคน ซึ่งข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ระบุว่ามากกว่าครึ่ง (52%) ของแรงงานกลุ่มนี้มีการส่งเงินกลับไปยังประเทศบ้านเกิดผ่านช่องทางนอกระบบหรือนายหน้ามากกว่าช่องทางในระบบ (34%) เช่น ธนาคาร หรือผู้ให้บริการโอนเงิน (money transfer operators: MTO) ซึ่งปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่ 150 บาทต่อรายการ โดยการสำรวจของกองทุนพัฒนาเงินทุนแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเหตุผลที่แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ช่องทางนอกระบบหรือนายหน้าในการโอนเงินก็เนื่องจากความเชื่อใจ สะดวก ยืดหยุ่นด้านเวลา และเข้าถึงมากกว่าช่องทางในระบบ แต่อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาเรื่องค่านายหน้าและความเสี่ยงต่อการสูญหาย “ด้วยปัญหาที่ชาวเมียนมาร์ต้องเจอ ทรูมันนี่จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (FINTECH) มาช่วยเติมเต็มประสบการณ์ทางการเงินแบบ Cashless ของแรงงานชาวเมียนมาร์ที่ทำงานในประเทศไทย พร้อมสร้างแพลตฟอร์มโอนเงินกลับประเทศที่ผสานกับเครือข่ายเอเย่นต์และพันธมิตรอันแข็งแกร่งของเราในประเทศเมียนมาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกพวกเขาในการส่งเงินกลับหาครอบครัวและคนที่ห่วงใย ในแบบที่เข้าถึงง่าย ครอบคลุม ปลอดภัย และไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการเงินและมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแก่พวกเขา โดยนอกเหนือจากชาวเมียนมาร์ เรายังได้ขยายแพลตฟอร์มอีวอลเล็ทของเราเพื่อรองรับการให้บริการใช้จ่ายแก่ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ใช้จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบรับพันธกิจของเราในการพัฒนาและมอบนวัตกรรมทางการเงินเพื่อทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น” ธัญญพงศ์ กล่าวสรุป อ่านเพิ่มเติม: “ธนาคารทิสโก้” เปิดทริคเลือกประกันสุขภาพฉบับมนุษย์เงินเดือนไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine