โค้งสุดท้ายของการลงทุนปี 2018
ผ่านไปไม่ทันไรก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 กันแล้ว นับเป็น 8 เดือนที่เหนือความคาดหมาย บ่อยครั้งที่นักลงทุนได้เห็นราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับขึ้นลงวันละ 2-3% ทำให้กังวลในทิศทางตลาดที่ยากจะคาดการณ์ หลังจากเกือบหนึ่งทศวรรษที่ทุกคนต่างได้รับผลตอบแทนที่ดีมากจากสินทรัพย์เสี่ยงหลักทั้งหุ้นและหุ้นกู้ ด้วยกรอบความผันผวนที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อมองไปข้างหน้า เส้นทางการลงทุนอาจไม่สวยงามเช่นอดีต นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างระบุว่ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจที่เป็น Late Cycle และอาจเดินทางสู่ช่วงชะลอตัวตามด้วยภาวะถดถอยในที่สุด จึงเป็นเวลาที่นักลงทุนควรปรับพอร์ตรองรับภาวะใหม่ที่ความผันผวนจะกระโดดสูงขึ้น ฉบับนี้เราจึงขอแนะ 6 เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับนักลงทุน ดังนี้
1. ทำใจกับผลตอบแทนที่ลดลง
หลังวิกฤตปี 2008 ประเทศมหาอำนาจต่างออกมาตรการการเงินและการคลัง ทั้งลดดอกเบี้ย อัดฉีดเงินเข้าระบบ รวมทั้งขยายโครงการลงทุนภาครัฐ ฉุดเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำให้ค่อยๆ ฟื้นขึ้น ด้วยภาวะเงินเฟ้อต่ำและสภาพคล่องสูงมากเป็นเวลานาน ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น พุ่งขึ้นได้ต่อเนื่อง สะท้อนในผลตอบแทนของหุ้นโลกที่เฉลี่ยได้ถึง 15.1% ต่อปี ในช่วงมีนาคม 2009 ถึงสิ้นปี 2017 แต่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 หุ้นโลกกลับให้ผลตอบแทนเพียง 4.2% และกระจุกตัวเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ดังนั้น ใน Late Cycle ที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่างขยับขึ้น สภาพคล่องลดลง รวมกับเศรษฐกิจเติบโตไม่สูงเช่นอดีต นักลงทุนควรลดความคาดหวังผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่างๆ ลง
2. เตรียมรับมือกับความผันผวนที่สูงขึ้น
หนึ่งข้อสังเกตในปี 2017 คือความผันผวนหรือความเสี่ยงในตลาดการเงินต่ำมาก ยกตัวอย่าง ดัชนี VIX ที่วัดความเสี่ยงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 11% ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปี 2008 ค่าเฉลี่ยของดัชนี VIX อยู่ในกรอบ 15 -20% โดยช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาถึงปี 2016 ดัชนี VIX ปิดต่ำกว่า 10% เพียง 4 ครั้ง แต่ในปี 2017 กลับปิดต่ำกว่า 10% ถึง 52 ครั้ง สำหรับปีนี้ ดัชนี VIX ปรับขึ้นเป็น 15% โดยเฉลี่ย และมีแนวโน้มสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนทางนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์
3. ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินทรัพย์มีแนวโน้มลดลง
เป็นที่เข้าใจกันว่าราคาหุ้นและพันธบัตรมักเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามหรืออย่างน้อยจะไม่ตามกัน (ค่าสหสัมพันธ์ติดลบหรือบวกน้อยๆ) ทำให้การจัดพอร์ตโดยผสมผสานทั้งหุ้นและพันธบัตรช่วยลดความผันผวนได้ และในระยะหลังเราเห็นสินทรัพย์เคลื่อนไหวในทางเดียวกันในอัตราที่น้อยกว่าอดีต โดยค่าเฉลี่ยค่าสหสัมพันธ์ระหว่างพันธบัตรสหรัฐฯ และหุ้นสหรัฐฯ ลดลงจาก 0.33 ในช่วงปี 1976-2009 เป็น 0.25 ช่วงปี 2009-2016 ก่อนจะลดเหลือ 0.01 ในปี 2017 นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนเพราะตอกย้ำประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยงด้วยการผสมผสานสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสัมพันธ์กันน้อยๆ และช่วยลดความเสียหายจากแรงขายหนักๆ ของสินทรัพย์หนึ่งๆ ในบางขณะ
4. สร้างพอร์ตตามกรอบความเสี่ยงและมีความยืดหยุ่นในการลงทุน
แม้การปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับวงจรเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ แต่เพราะตลาดยากที่จะคาดการณ์ ดังนั้นนักลงทุนควรลดความเสี่ยงโดยการควบคุมความเสี่ยง ไม่ว่าความเสี่ยงนั้นจะเป็นความเสี่ยงด้านการลงทุนที่เกิดจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ความผันผวนจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หรือความเสี่ยงด้านการเมืองและการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทางเลือกที่ง่ายกว่าคือการสร้างพอร์ตตามกรอบความเสี่ยง และปล่อยให้กลไกวัดความเสี่ยงปรับพอร์ตลงทุน
5. หายใจลึกๆ และตั้งสติ
เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของตลาดกระทิง ความผันผวนจะเพิ่มขึ้นขณะที่ผลตอบแทนแผ่วลง แม้การลงทุนเชิงรุก (Active) ที่ใช้กลยุทธ์คัดสรรหุ้นเลือกลงทุนมีโอกาสให้ผลตอบแทนส่วนเกินหรือ Alpha ดีกว่าการลงทุนเชิงรับตามดัชนี (Passive) อย่างไรก็ตามจะมีช่วงที่ราคาหุ้นตกซึ่งนักลงทุนต้องหายใจลึกๆ และตั้งสติ
6. ใช้กลยุทธ์และเครื่องมือการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
นักลงทุนควรหากลยุทธ์และเครื่องมือการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเปลี่ยนจากกลยุทธ์แบบดั้งเดิมเป็น Risk Based และเปลี่ยนจากการลงทุนหุ้นตามขนาดเป็น Smart Beta หรือ Factor Investing ที่เน้นพื้นฐาน โดยเลือกกลยุทธ์และเครื่องมือเหล่านี้หลังจากกำหนดผลตอบแทนคาดหวังและกรอบความเสี่ยงได้แล้ว
นักลงทุนก็ต้องจับตาดูต่อไปในอีก 4 เดือนข้างหน้า ว่าปีนี้จะมีสินทรัพย์ใดบ้างที่ชนะเงินเฟ้อ