จับตาปัจจัยการลงทุนผ่านสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ - Forbes Thailand

จับตาปัจจัยการลงทุนผ่านสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ

นับจากดัชนี S&P 500 ทำจุดต่ำสุดของปี 2018 ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2018 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ 3 ประการ คือ 1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย 2. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มคลี่คลาย 3. ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ณ วันที่เขียนบทความ (13 พฤษภาคม 2019)  ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มผันผวนสูงขึ้น ดัชนี S&P500 ปรับฐานจากจุดสูงสุดของปี 2019 ประมาณ 2.5% ในขณะที่ตลาดหุ้นจีน ดัชนี HSCEI ปรับฐานจากจุดสูงสุดของปีเกือบ 8% หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2019 จะเห็นได้ว่าประเด็นการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และจีน ถูกกลับมาพิจารณาและมีน้ำหนักต่อการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามปัจจัยอะไรบ้าง เราขอแยกเป็นประเด็นดังนี้ ความเสี่ยงสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลือประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเมินได้ว่าการปรับขึ้นภาษียังต่ำเป็นเพียงกลยุทธ์ด้านจิตวิทยา หากพิจารณาโครงสร้างสินค้านำเข้ากลุ่มดังกล่าว พบว่ามีสัดส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่า 70% ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า ที่ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน และสัดส่วนดังกล่าวถือว่าสูงกว่าการปรับขึ้นภาษีในรอบล่าสุด ที่มีกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเพียง 37% เท่านั้น อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มสินค้าดังกล่าวยากที่จะนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นสินค้าทดแทน หากนำปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ เข้ามาพิจารณา พบว่าอีกเพียง 18 เดือนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะไม่ดำเนินนโยบายที่จะส่งผลลบต่อคะแนนเสียงของตนเอง  

จับตาการประชุม G20 ในเดือน มิถุนายน 2019

ทั้งนี้การประชุม G20 ครั้งล่าสุดที่กรุง Buenos Aires ในช่วงต้นเดือน ธันวาคม 2018 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้สหรัฐฯ และจีนเข้าสู่ขบวนการเจรจาข้อตกลงการค้า แม้ว่าในท้ายสุดสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจขึ้นภาษีการค้าก็ตาม สำหรับการประชุม G20 ในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2019  ณ กรุง Osaka ประเทศญี่ปุ่น  คาดผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะร่วมเข้าประชุม ซึ่งหมายความว่าในช่วงระยะเวลาจากปัจจุบันจนถึงวันดังกล่าว น่าจะได้เห็นความคืบหน้าในการกลับมาเจรจาระหว่างผู้แทนการค้าของทั้ง 2 ประเทศ  

บทบาทของธนาคารกลางทั้ง 2 ประเทศจะยังเอื้อต่อการลงทุนในตลาดหุ้น

คาดว่าความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้า ย่อมส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เน้นไปทางผ่อนคลาย มากกว่าที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยจากผลของเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษีในสินค้านำเข้า ส่วนทางด้านธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมจะใช้นโยบายผ่อนคลาย ดังเช่นล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการปรับลดอัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเก็บไว้เป็นเงินสำรอง (Required Reserve Ratio)  หรือ กระแสข่าวการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนสถาบัน เพื่อลดความผันผวนในตลาดหุ้นจีนในช่วงที่มีตลาดหุ้นจีนผันผวนสูง โดยสรุปปัจจัยผันผวนจากความไม่แน่นอน ประเด็นกีดกันการค้า แม้จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นโดยรวม แต่เชื่อว่าย่อมเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว เชื่อว่าการกีดกันทางการค้าในท้ายสุดย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ ดังนั้น ทางออกย่อมเป็นแนวทางการเจรจา และ การยอมถอยคนละก้าว