สร้างความวุ่นวายให้กับตลาดไม่น้อย เมื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ลุกมาประกาศนำโครงการขายผ่าน “ช้อปปี้” (Shopee) มาร์เก็ตเพลสออนไลน์ดัง ขายผ่านออนไลน์แบบอี-คอมเมิร์ซ แม้ว่ากระแสออนไลน์จะมาแรงต่อเนื่อง แต่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านช่องทางนี้ยังเป็นเรื่องใหม่มาก
กลยุทธ์ของค่ายอสังหาฯ ที่ดูเป็นเรื่องใหม่มาแรงในยุคนี้ นอกจากเรื่องการนำเทคโนโลยีมาเป็นจุดขายแล้ว ยังพบว่าผู้นำตลาดหลายรายหันมารุกตลาดอี-คอมเมิร์ซ นำโดยบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ประกาศกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับการทำตลาด หวังเพิ่มโอกาสทางการขายในยุคดิจิทัล ขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูง 20-30% ต่อปี มูลธุรกิจอยู่ที่กว่า 1.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างพฤกษาฯ ผู้นำอันดับหนึ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์ กับช้อปปี้ ผู้นำด้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ที่ได้ร่วมกันจัดแคมเปญขายโครงการที่พักอาศัย เพิ่มช่องทางการขายให้เข้าถึงผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้มากขึ้น นับเป็นการยกระดับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างเป็นรูปธรรม
ในเชิงกลยุทธ์ พฤกษาฯ ร่วมทำ strategic partner ร่วมกับ Pruksa Official Shop ที่ช้อปปี้ พร้อมจัด exclusive deal ซื้อ Pruksa Voucher มูลค่า 10,000 บาท ในราคาพิเศษเพียง 6 บาท โดย Pruksa Voucher สามารถใช้จองโครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมทำเลศักยภาพกว่า 59 โครงการ มากกว่า 700 ยูนิต ซึ่งทดลองทำในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์ก่อน 30 กันยายน ยังได้รับเพิ่มอีก 5,000 คอยน์ ซึ่งเป็นเงินออนไลน์ในระบบช้อปปี้
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คาดว่าสนใจและมีโอกาสซื้ออสังหาริมทรัพย์ อาทิ กลุ่มลูกค้าสินค้าแม่และเด็ก กลุ่มลูกค้าที่สนใจอุปกรณ์แต่งบ้าน จัดสวน และกลุ่มลูกค้าที่กำลังแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่แบรนด์ต้องการเจาะไปถึง
การเข้าสู่ช่องทางของช้อปปี้จึงเน้นเรื่องการขยายฐานลูกค้ามากกว่ายอดขาย เพราะจำนวนผู้ใช้งานชาวไทยมากกว่า 30 ล้านคน จะช่วยต่อยอดธุรกิจในช่องทางออนไลน์ให้พฤกษาฯ เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานทั่วประเทศ และทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทที่รุกตลาดอี-คอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากภาพลักษณ์ความเป็นบริษัท Prop Tech แล้ว ผู้บริหารอนันดาฯ ยังมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาซื้อขายของผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซสูงขึ้น ด้วยจำนวนผู้ใช้งานชาวไทยมากกว่า 30 ล้านคน และเนื่องจากอนันดาฯ เป็นพันธมิตรกับช้อปปี้ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสใหม่ที่จะได้ขยายช่องทางและโอกาสในการขายมากขึ้น มากกว่าแค่ขายผ่านเอเย่นต์ หรือแค่ที่สำนักงานขายและงานอีเวนต์ต่างๆ เท่านั้น อีกทั้งอี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางที่ใช้งบการตลาดน้อยและเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างกว่า
การร่วมมือกันดังกล่าวจะช่วยต่อยอดธุรกิจในช่องทางออนไลน์ให้อนันดาฯ สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานทั่วประเทศ จากเดิมจำกัดอยู่ที่บริเวณรอบโครงการเท่านั้น โดยอนันดาฯ ไม่ได้นำทุกโครงการไปขายบนช้อปปี้ แต่นำเพียง 12 โครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ใกล้รถไฟฟ้า และโครงการบ้านจัดสรรบางโครงการไปขายบนช้อปปี้ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินแคมเปญจำกัดเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
ขณะที่มือเก่าของตลาดคอนโดมิเนียมอย่างบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก็มองช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญ เพราะประเมินแล้วว่าในยุคปัจจุบันผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง อยู่ที่ไหนก็ช็อปได้ รอรับของที่บ้านได้เลย แอล.พี.เอ็น.ฯ จึงนำแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ทดลองกับการเปิดตัวโครงการใหม่อย่าง “ลุมพินี วิลล์ ราชพฤกษ์-บางแวก” ด้วยการเปิดให้จองออนไลน์ แอล.พี.เอ็น.ฯ จะใช้กลยุทธ์เริ่มเปิดให้จองออนไลน์ช่วงหลังสำนักงานขายปิด ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี
การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในร้านค้าจากช้อปปี้ เพราะแอล.พี.เอ็น.ฯ มองว่าช้อปปี้เป็นแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันที่มีชื่อเสียง มีฐานลูกค้าอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก การเปิดขาย voucher ในราคา 18 บาท สามารถนำไปเป็นส่วนลดได้สูงถึง 80,000 บาท และของแถมเพิ่มสูงสุด 8 รายการ จะดึงให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจมองหาที่อยู่อาศัยอยู่แล้วสนใจมากขึ้น หรืออย่างน้อยสร้างการรับรู้ในแบรนด์อย่างเข้าถึงได้ดีขึ้น
จองออนไลน์สะดวกรวดเร็ว
ไม่เพียงการขายกับช้อปปี้ที่ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มาแรง แต่การเปิดจองที่อยู่อาศัยออนไลน์ก็เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายทำต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่เคยใช้กลยุทธ์นี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ก็กลับมาใช้กลยุทธ์นี้อีกครั้ง โดยนำมาใช้กับโครงการ Denim จตุจักร ที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ระดับราคาไม่สูงมาก เริ่มต้นประมาณ 1.89 ล้านบาท เปิดให้จองออนไลน์ในช่วงเปิดตัวโครงการดังกล่าว โดยเปิดให้จองในช่วงเวลา 21.00-24.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ประเมินมาแล้วว่าคนนิยมท่องโลกออนไลน์มากที่สุด เพราะเป็นช่วงหลังเลิกงานเดินทางกลับถึงที่พักอาศัยเรียบร้อยแล้ว นอกจากแกรนด์ ยูนิตี้แล้ว ผู้ประกอบการอีกรายบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ก็หันมาใช้กลยุทธ์ดังกล่าวครั้งแรกเช่นกัน โดยมีการจัดฮอตดีลเฉพาะจองผ่านระบบออนไลน์ให้กับบางโครงการ
ขณะที่คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์หลายรายประเมินว่า การลุกมาใช้กลยุทธ์ออนไลน์ของหลายค่ายใหญ่ไม่ได้คาดหวังเรื่องยอดขายมากนัก แต่มองถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อยากให้แบรนด์มีความทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งช่องทางในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เฉพาะโปรโมทผ่านออนไลน์ แต่ต้องเจาะลึกไปถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่ไม่ได้ลงมาเล่นกลยุทธ์อี-คอมเมิร์ซ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ออนไลน์ โดยหลายค่ายให้มาให้ความสำคัญกับสื่อดังกล่าวอย่างจริงจัง เช่นการใช้กลยุทธ์ชี้นำโดยอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ มาใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมหรือการใช้วิดีโอมาร์เก็ตติ้งบนยูทูบ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารบนโลกออนไลน์ที่กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงโค้งท้ายของปี 2562 จะยังไม่ดีนัก แต่ความเคลื่อนไหวในเชิงการตลาดอย่างร้อนแรง การใช้กลยุทธ์ออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์อสังหาฯ 4.0
อ่านเพิ่มเติมคลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Life แถมฟรีมาในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 ในรูป e-Magazine