ภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนวโน้มดอกเบี้ยปรับขึ้นช้า ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน
ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ทั่วโลกอยู่ในภาวะที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลาย (Dovish) โดยจะคำนึงถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง
ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี้นี้เพียง 0-2 ครั้ง โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากผลของมาตรการลดภาษีนิติบุคคลเริ่มเบาบางลง
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ มีรัฐบาลผสม 2 ฝ่าย (เดโมแครตและรีพับลิกัน) จะทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมาตรการการปรับลดภาษีชุดใหม่
ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศทั่วโลกต่างมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ (Re-Sychronisation) แต่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา และอดีตผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มโตช้า ดังนั้น ตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภทที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือที่ลงทุนได้ (Investment Grade) จะทำผลตอบแทนได้ดี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงอ่อนค่า และมองว่าโลกอาจจะอยู่ในรอยต่อระหว่างช่วงเติบโตช้า กับช่วงเศรษฐกิจหดตัว ดังนั้นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือไฮยีลด์บอนด์ (High Yield Bond) จึงน่าสนใจลงทุน
รัชดา ตั้งหะรัฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการเสนอขายกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ฟิกซ์ แมชชัวริตี้ 2Y1 (UFM2Y1) กองทุนนี้จะนำเสนอทางเลือกในการการกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ทั่วโลกในภาวะตลาดที่ผันผวนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก
“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และ 2563 ลงมาอยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลง และเจอกับปัญหาที่ท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินหลายด้าน การกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ทั่วโลกในภาวะตลาดที่ผันผวน เป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยนักลงทุนจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ”
ไฮยีลด์บอนด์
ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ให้นิยามไฮยีลด์ บอนด์ ไว้ว่า หมายถึงตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade คือ BBB - ซึ่งอาจเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะโฟกัสผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นภาคเอกชนมากกว่า
เมื่อไฮยีลด์บอนด์เป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า Investment Grade ก็อาจคิดว่าเป็นตราสารหนี้ที่น่ากลัวหรือไม่ ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นไฮยีลด์ มี 4 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 บริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทดาวรุ่ง ที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ประวัติทางการเงินอาจมีไม่มากพอ เวลาไปขอกู้ยืมสถาบันการเงินก็อาจกู้ยาก ออกหุ้นกู้ก็จะพิจารณาลำบาก เพราะยังไม่เห็นความสำเร็จของกิจการได้ชัดเจนในระยะแรก และยังไม่มีประวัติทางการเงินที่มากพอจะวิเคราะห์ได้
ประเภทที่ 2 บริษัทที่ทำการเข้าซื้อหรือครอบงำกิจการอื่น ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง บางครั้งก็อาจใช้เงินกู้หรือ ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน นำเงินไปซื้อกิจการ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ หรืออาจไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีกำไรก็ได้เมื่อซื้อกิจการมาแล้ว
ประเภทที่ 3 บริษัทที่ใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการสูง เช่น บริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมัน ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงแต่มีโอกาสที่จะไม่พบแหล่งน้ำมันโดยเสียเงินลงทุนเปล่า ในขณะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนสูง
ประเภทที่ 4 บริษัทที่อาจเคยมีความน่าเชื่อถือสูง ได้ระดับ Investment Grade สูงมาก่อน แต่เนื่องจากผลการดำเนินงานระยะหลังอาจด้อยลงหรือมีงบการเงินไม่ดีเท่าไหร่ จึงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาต่ำกว่าระดับ Investment Grade
อย่างไรก็ดี ศรศักดิ์กล่าวว่า หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าระดับต่ำกว่า Investment Grade คือ Non-Investment Grade แปลเป็นไทยว่า ไม่น่าลงทุน ฟังชื่อแล้วไม่รื่นหู แต่บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทที่ใกล้ปิดกิจการหรือจะล้มละลาย เพียงแต่สถานะการเงินมีความสุ่มเสี่ยงหรือมีความเป็นไปได้ที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ไม่ได้แปลว่า บริษัทเหล่านี้จะล้มหมดทุกแห่ง หากสามารถวิเคราะห์เจาะลึกได้ว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือฟื้นตัวกลับมาได้ ก็สามารถตัดสินใจลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ได้ ซึ่งไฮยีลด์บอนด์มักจะให้อัตราดอกเบี้ยหรือ Coupon Rate ที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป
ตราสารน่าสนใจ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring ) มองว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทน (Yield) สูงถึงระดับ 2.5-3.0% ต่อปี น่าสนใจ รวมถึงตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ในเอเชียและจีน ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูงถึง 9% ต่อปี และยังมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) กว้างสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มองว่ามีความเสี่ยงในการปรับตัวลงไม่มากนัก
วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย คาดว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เอเชียยังมีความน่าสนใจ แต่ยังต้องจับตาเรื่องความผันผวนค่าเงินเอเชียในระยะสั้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาว แต่ต้องติดตามผลกระทบจากภายนอกด้วยเช่นกัน
ส่องโอกาสการลงทุน
สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ สามารถลงทุนได้โดยผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทย มีการออกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ได้จัดกลุ่มกองทุนตราสารหนี้โลก (Global Bond) ปัจจุบันมีจำนวน 49 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2562) ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.morningstarthailand.com
สำหรับตัวอย่างกองทุนตราสารหนี้โลก เช่น กองทุนเปิดทหารไทย Global Income (TMBGINCOME) เป็นกองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.ทหารไทย ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) คือ PIMCO GIS Income Fund ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระดับโลก และมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ทั้งในส่วนไฮยีลด์ และหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันจดจำนอง (MBS) ตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช้หลักประกันการจำนอง (ABS) เป็นต้น
ทั้งนี้กองทุนเปิดทหารไทย Global Income เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางจนถึงสูงโดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 5-6 % ต่อปี และควรมีระยะเวลาการถือครองตั้งแต่ 3 ปีเป็นต้นไป
ระวังความเสี่ยง
ตราสารหนี้ ไม่ว่าจะซื้อลงทุนเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็อาจจะขาดทุนได้ แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้น การลงทุนในตราสารหนี้ก็ถือว่าปลอดภัยกว่า
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยระบุว่า ตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ภาคเอกชน หรือพันธบัตรรัฐบาล จะให้ผลตอบแทน 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ยรับตามที่กำหนดไว้ (Coupon) และกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหากขายได้ที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อ แต่ถ้าขายได้ต่ำกว่าราคาซื้อก็จะขาดทุนในส่วนนี้
ทั้งนี้ราคาตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน หรือเรียกกันว่ายีลด์ ถ้ายีลด์ลงราคาจะขึ้น ถ้ายีลด์ขึ้นราคาจะลง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การคาดการเงินเฟ้อในอนาคต การคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือปริมาณความต้องการซื้อและขายตราสารหนี้ในตลาด
ถ้านักลงทุนถือตราสารหนี้ไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน จะสามารถได้เงินคืนตามมูลค่าหน้าตั๋วที่กำหนดไว้ (ส่วนใหญ่จะที่ 1,000 บาท) อย่างนี้ก็จะไม่ขาดทุน (ถ้านักลงทุนซื้อมาในราคาต่ำกว่าหรือเท่ากับหน้าตั๋ว) ดังนั้น ถ้านักลงทุนขายก่อนที่ตราสารหนี้จะครบกำหนดอายุไถ่ถอนก็มีโอกาสขาดทุนได้จากราคาซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าไม่อยากขาดทุนก็ต้องถือจนครบอายุไถ่ถอน ผลตอบแทนที่ได้ จะมาจากในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
เรื่องโดย : อ่านเรื่องราวการลงทุนเพิ่มเติมคลิกเพื่ออ่าน "บอนด์มีเสน่ห์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine