ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง
สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามการลงทุนมาโดยตลอดอาจจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจจะมีคำถามว่าการปรับตัวลดลงเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นมายาวนานมีโอกาสเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) ได้หรือไม่ เราจึงรวบรวมคำถาม และ มาตอบให้ในบทความนี้
เกิดอะไรขึ้นทำตลาดหุ้นปรับฐานแรงในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ ?
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ตลาดหุ้น S&P500 ได้ปรับตัวลดลงรุนแรง โดยปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 2,872 จุด ลงมา 10% โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 อาทิตย์ ความผันผวนดังกล่าวส่งผลลบต่อ Sentiment การลงทุนทั่วโลกโดยทำให้ตลาดหุ้นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เอเชีย และยุโรป ปรับตัวลดลงแรงเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ตลาด S&P500 กลับมาผันผวนสูงเกิดจาก Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่กลับมาเร่งตัวแรงแตะระดับ 2.8% หลังจากที่ทรงตัวในระดับต่ำมาต่อเนื่อง ซึ่งตามข้อมูลในอดีตการปรับขึ้นของ Bond Yield ที่เกินกว่าระดับ 2.5% เป็นจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวน
โดยหากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้ Bond Yield ในรอบนี้กลับมาเร่งตัวเกิดจาก ความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้อที่กลับมาปรับตัวสูงขึ้น หลังจากรายงานตัวเลขอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐฯ เดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่ม 2.9% y-y ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มในระดับสูงสุดนับจากปี 2008 ซึ่งการปรับเพิ่มของตัวเลขดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มกลับมาให้น้ำหนักว่าจะกดดันให้เกิดการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ และส่งผลให้ Fed น่าจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ได้ตามที่ประมาณการไว้
การกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่มากกว่าคาด นอกจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปฏิรูปภาษีแล้ว ประธานาธิบดี Donald Trump ยังได้เสนอแผนที่จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม รวมถึงล่าสุดสภายังได้มีการอนุมัติให้มีการเพิ่มเพดานการใช้จ่ายในด้านการทหารและการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐข้างต้นจะส่งผลให้รัฐบาลมีภาระที่ต้องกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้ระยะข้างหน้าปริมาณ Bond Supply จะปรับเพิ่มขึ้นกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มตาม ทำให้ตลาดเริ่มมองว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield กลับมาเร่งตัว
มุมมองต่อการปรับฐานของตลาดหุ้นหลังจากนี้เป็นอย่างไร ?
ความผันผวนของตลาดหุ้นที่ปรับตัวรุนแรงในรอบนี้ หลายคนอาจจะเริ่มมีความกังวลและมีคำถามว่าตลาดได้จบรอบขาขึ้นของ Bull Market ที่ขึ้นมาอย่างยาวนาน และเข้าสู่ตลาดขาลงหรือ Bear Market หรือยัง ? เรายังประเมินว่าการลงของตลาดในรอบนี้น่าจะเป็นการปรับฐานเพียงชั่วคราว เพื่อสะท้อนมุมมองการปรับขึ้นของเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดประเมินเงินเฟ้อไว้ในระดับต่ำเกินไป ประกอบกับตลาดอยู่ในภาวะความผันผวนต่ำนานเกินไป (Low Volatility) โดยอิงข้อมูลดัชนี S&P500 จะพบว่าไม่ได้มีการปรับฐานเกินกว่า 5% มานานเกินกว่า 499 วันแล้ว รวมถึง การที่ Algorithm Trading ได้มีบทบาทเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น จึงส่งผลให้การปรับตัวลงของตลาดในครั้งนี้มีความรุนแรงและเร็วกว่าในอดีต
สำหรับความเสี่ยงการปรับลดลง (Downside Risk) ที่ระดับ 10-15% ซึ่งถือว่าไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Bear Market หรือตลาดที่มีการปรับตัวลงแรงกว่า 20% จากจุดสูงสุด เนื่องจากหากดูข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถือว่ายังเติบโตได้ในระดับแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการผลิต การจ้างงานยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ดีกว่าคาด รวมถึงนักวิเคราะห์ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการการเติบโต (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียน S&P500 ในปี 2018 ขึ้นมาที่ระดับสูงถึง 18%
หลังจากนี้จะต้องติดตามอะไรบ้าง?
การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) 10 ปี มีโอกาสผันผวน โดยจุดที่ต้องระวังคือ Bond Yield ที่ระดับ 3-3.5% ทั้งนี้ที่ระดับ 3.5% ขึ้นไปจะเริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุน และ ผลดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตามการเร่งขึ้นของ Bond Yield นั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดหุ้นในระยะแรกเท่านั้น เราได้ทำการศึกษาข้อมูลในอดีตระหว่างปี 1991-2017 หรือ 26 ปีย้อนหลังพบว่ามี 6 ช่วงที่ Bond Yield ปรับขึ้นตลาดหุ้นจะผันผวนระยะแรกแต่ในท้ายสุดตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นได้ 5 ใน 6 ครั้ง ประกอบกับช่วงที่ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นนั้นอีกนัยหนึ่งคือ เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการขยายตัวดีนั่นเอง
การปรับลดลงของตลาดหุ้นเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนอะไร?
เรายังมองตราสารทุนยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับฐาน โดยเฉพาะตลาด Emerging Market (EM) เนื่องจากเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ดี และในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามปกติผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม EM จะฟื้นตัวได้ดี รวมถึงประเทศในกลุ่ม EM มีความแข็งแรงทางสถานะการเงินมากขึ้นจากทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ Valuation ยังเทรดในระดับต่ำกว่าตลาด Developed Market (DM) โดย Forward PE ของตลาด EM ยังเทรดที่ PE 12 เท่า ต่ำกว่าตลาดสหรัฐฯ ที่เทรด PE 16 เท่าและยุโรปเทรดที่ PE 13.6 เท่า โดยประเทศในกลุ่ม EM ที่น่าสนใจและแนะนำ ได้แก่ จีน อินเดีย สำหรับในส่วนของการลงทุนในรายกลุ่ม (Sector) เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มวัฏจักร (Cyclical sector) ยังน่าสนใจลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างกลุ่มการเงิน (Financial Sector) ของสหรัฐฯ
โดย ลลิดา งามวิริยะพงศ์
Senior Wealth Manager บลจ.ทิสโก้