จัดพอร์ตรับความผันผวนในช่วงปลาย 'วัฏจักรเศรษฐกิจ' - Forbes Thailand

จัดพอร์ตรับความผันผวนในช่วงปลาย 'วัฏจักรเศรษฐกิจ'

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงกลางปี 2552 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของเศรษฐกิจรอบนี้นั้น หากเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ต่อจนถึงกลางปีนี้ วัฏจักรรอบนี้ก็จะมีอายุครบ 10 ปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ เรากำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงปลายของ 'วัฏจักรเศรษฐกิจ' เข้าไปทุกขณะ

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 จุดซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างขยายตัวกับหดตัว จะมีก็แต่เพียงดัชนีของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว แต่ก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ตัวเลขส่งออกจากหลายประเทศก็เริ่มสะท้อนผลกระทบของ สงครามการค้า ซึ่งแม้ว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะดูมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ตัวเลขส่งออกนั้นกลับยังหดตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยอดส่งออกของจีนที่พลิกกลับมาหดตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วหลังจากที่ขยายตัวดีมาตลอดทั้งปี ในขณะที่ประเทศในเอเชียอื่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเปิดและเน้นการส่งออกอย่างไทย เกาหลี และญี่ปุ่น ก็เห็นการหดตัวของการส่งออกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคมเช่นกัน

ปัจจัยหลักที่กดดันการส่งออกในปีนี้นั้นได้แก่การเร่งส่งออกสินค้าในปีที่แล้วเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ขู่ว่าจะปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม แต่ต่อมาเดือนธันวาคมทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจะร่วมเจรจาการค้า ซึ่งทำให้แผนการขึ้นภาษีดังกล่าวถูกชะลอออกไป และส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เคยเร่งส่งออกสินค้ามาในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มชะลอการส่งสินค้าลง

ดังนั้นไม่ว่าผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะออกมาในรูปใด ตัวเลขการค้าและการส่งออกทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ก็น่าจะมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเร่งส่งออกไปมากแล้วเมื่อปีที่แล้ว

ในขณะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่กลับขาดแคลนเครื่องมือที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางไปตลอดทั้งปี จากแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้า ประกอบกับตลาดแรงงานที่ตึงตัวทั่วโลก จะเป็นอุปสรรคในการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนโยบายการคลังก็มีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ภาครัฐที่สูงทั่วโลก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังพอมีกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประธานาธิบดี Trump ได้ประกาศมาตรการลดภาษีไปแล้วในปีที่แล้ว ซึ่งการลดภาษีจะทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นและกลับมาเป็นข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อีกประเทศที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจโลกก็คือจีน ซึ่งปกติเรามักมองจีนเป็นเศรษฐกิจที่สั่งได้โดยที่ผ่านมารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้สองเครื่องมือหลัก ได้แก่

1. การกระตุ้นการปล่อยกู้ เช่น เพิ่มโควตาการปล่อยกู้ของธนาคาร หรือลดดอกเบี้ย หรือ 2. การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเครื่องมือทั้งสองนั้นได้แสดงให้เห็นมาแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้เร็วตามสั่ง แต่ก็มีผลข้างเคียงคือทำให้ระดับหนี้ของจีนพุ่งสูงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล ดังนั้นในปีนี้ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงจากผลของสงครามการค้า รัฐบาลจีนจึงต้องให้ไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น การลดภาษีและการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เห็นผลช้ากว่า และรัฐบาลก็ลังเลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เนื่องจากกลัวปัญหาหนี้ที่จะตามมาในระยะยาว

ในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรและเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ตลาดหุ้นน่าคงต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงอย่างต่อเนื่องตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการตั้งเป้าหมายการลงทุนต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนสูงสุดเป็นการเน้นการบริหารความเสี่ยงและรักษาเงินต้น จึงแนะนำให้นักลงทุนจัดสัดส่วนการลงทุน ดังนี้

 
คลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูปแบบ e-Magazine