ผลงานประธานาธิบดี
Trump 100 วัน ยังไม่มีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา คือวันที่
Donal Trump เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครบ 100 วัน นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียง ได้สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนทั่วโลก แต่หลังจากผ่าน 100 วันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง แทบจะไม่มีนโยบายเศรษฐกิจเรื่องใดเลย ที่ Trump ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะแผนการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกเคยคาดหวังว่าจะส่งผลดีกับบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ และส่งผลบวกต่อตลาดทุนทั่วโลก แม้ว่าจะมีการเปิดเผยแผนการออกมาบ้างแต่ยังคงไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นสำคัญก็คือจะนำรายได้จากส่วนไหนเข้ามาชดเชยรายได้ที่ลดลงจากแผนการปฏิรูปภาษี
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่ารายได้ที่จะถูกนำมาชดเชยจะมาจากการประกาศใช้
ภาษี Border Adjustment Tax (BAT) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดกำไรของบริษัทที่จะนำมาคำนวณภาษีนิติบุคคลใหม่ โดยหากอิงตามการเปิดเผยของสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional Budget Office:CBO) ได้ประเมินว่า การลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เป็น 20% จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และ หากมีการใช้ภาษี BATจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การประกาศบังคับใช้ภาษี BAT ยังต้องผ่านขั้นตอนกฏหมายอีกหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายพรรค Republican และ ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ยังไม่มีท่าทีชัดเจน ดังนั้น ความหวังที่จะเห็นการประกาศปรับลดภาษีนิติบุคคลจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้น่าจะเป็นไปได้ยาก
ช่วงที่ผ่านมาบทบาทที่สำคัญของประธานาธิบดี
Trump กลับแสดงให้เห็นเด่นชัดออกมาในเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มด้วยการออกกฎห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ รวมถึงคำสั่งทิ้งระเบิดในประเทศตะวันออกกลาง และการแสดงบทบาทสำคัญในการกดดันเกาหลีเหนือต่อการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ช่วยหนุนราคาทองคำและน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของเรา ความเสี่ยงดังกล่าวยังคงต้องติดตาม แต่ปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีน่าจะไม่รุนแรงอย่างที่คิด โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ชัยชนะของ Moon-Jae In ที่มีนโยบายเน้นการเจรจากับเกาหลีเหนือเข้าดำรงตำแหน่ง น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดอุณหภูมิความร้อนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือลงได้
สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมนับจากต้นปีจะเห็นได้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นต่างๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความหวังในนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจริง หรือ Hard Data ไม่ได้ดีตามที่นักลงทุนคาดหวังไว้ สอดคล้องกับคำแถลงของประธาน Fed ในการประชุมเดือน พ.ค. ล่าสุดที่ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า คาดช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.นักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่ผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนและทิศทางนโยบายของ Fed
หลังจากที่นโยบาย
Trump ยังไม่มีความชัดเจน เชื่อว่านักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่ผลดำเนินงาน บริษัทจดทะเบียน โดยล่าสุดกว่า 80% ของรายงานผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พบว่า 75% รายงานผลดำเนินงานดีกว่านักวิเคราะห์คาด และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี ดังนั้น แนวโน้มการปรับเพิ่มประมาณการผลดำเนินงานในตลาดหุ้น S&P500 จะยังเป็นปัจจัยหนุน Sentiment แต่ในแง่ของ Valuation ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถือว่าเทรดที่ P/E ที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตจึงมีโอกาสที่จะเห็นการขายทำกำไรได้บ้าง ด้านนโยบายการเงิน เรายังคงมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย. และ ก.ย. นอกจากนี้ จะมีการประกาศแผนการลดงบดุลในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
กราฟ: นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการผลดำเนินงานใน S&P500Source: Factset data as of May 5 2017
ปัจจัยอื่นๆ ที่จะมีผลกับการลงทุนในระยะนี้
เรามองความเสี่ยงการเมืองในยุโรปลดลง หากประเมินจากผลการเลือกตั้งฮอลแลนด์และฝรั่งเศส สะท้อนประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มยุโรปต่อไป ทำให้จากนี้ นักลงทุนจะกลับไปโฟกัสตัวเลขเศรษฐกิจ และนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งเราคาดว่าเดือน มิ.ย. ECB จะเริ่มกล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี และเดือน ก.ย.จะประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tappering) ลงอีก สำหรับการเลือกตั้งอังกฤษซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย. และ การเลือกตั้งเยอรมันในเดือน ก.ย.ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวมมากนัก
ติดตามเศรษฐกิจจีนมากขึ้นในระยะนี้ หลังจากเศรษฐกิจจีนช่วงปลายไตรมาส 4/2016 ถึงไตรมาส 1/2017 ขยายตัวดีส่งผลให้ทางการจีนเริ่มกลับมาเข้มงวดทางการเงินอีกครั้งผ่านนโยบายต่างๆ อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหลายตัวในตลาดการเงินเพื่อลดการกู้ยืม หรือการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยลบเชิง Sentiment กับตลาดหุ้นโดยรวมได้ในระยะนี้
จากสถิติในช่วง 10 ปี ย้อนหลังพบว่า เดือน มิ.ย. ดัชนี S&P500 มักจะปรับตัวลดลง หากพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังดัชนี S&P500 พบว่า
ผลตอบแทนในเดือน มิ.ย. -1.5% ดังนั้นหากอิงข้อมูลดังกล่าว เดือน พ.ค.จะเป็นเดือนที่นักลงทุนมักจะ Take Profit ตามคำกล่าว “Sell in May” สำหรับปี 2017 หากอิงสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงจุดสูงสุด ย่อมเป็นไปได้ที่เดือน มิ.ย. จะเกิดการ Take Profit ได้บ้าง
อย่างไรก็ดี มุมมองในช่วงที่เหลือของปี เรายังคงมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และ ผลดำเนินงานตลาดหุ้นยังคงอยู่ในช่วงของภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น การปรับลดลงมองว่าเป็นจังหวะในการทยอยเข้าลงทุนมากกว่า
