ดัชนี SET Well-being (SETWB) กับโอกาสลงทุนหุ้นเมกะเทรนด์ - Forbes Thailand

ดัชนี SET Well-being (SETWB) กับโอกาสลงทุนหุ้นเมกะเทรนด์

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Jul 2023 | 11:00 AM
READ 2577

    เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society ขณะที่การเกิดวิกฤต COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ทุกคนต่างมีความต้องการได้รับการใส่ใจดูแลที่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพกายที่ดีเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพใจที่ดี ตลอดจนสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะเห็นว่าเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกๆ มิติ ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ จนกลายเป็น “Health & Well-being” ที่เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่สำคัญของโลกในอนาคต

    

    ในประเทศไทย ธุรกิจเชิงคุณภาพที่เกี่ยวกับเมกะเทรนด์ “Health & Well-being” ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว เพราะไทยมีจุดแข็งในภาคการบริการและการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ของไทยเป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 และเมื่อวิกฤตดังกล่าวซาลง การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นปกติ ช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เองนักท่องเที่ยวต่างชาติฝั่งยุโรปและอินเดียต่างหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทยกันมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยพบว่า ขณะนี้ เริ่มทยอยเข้ามาแล้ว และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาไทยกันคึกคักยิ่งขึ้น

    ttb analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต คาดการณ์ถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยว่าในปี 2566 นี้จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว และจะมีรายได้กลับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนเกิด COVID-19 จากปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อยู่ที่ 2.48 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยประมาณ 22 ล้านคน แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปี 2562 แต่คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากถึง 2.48 หมื่นล้านบาท

    สำหรับภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการและการท่องเที่ยวต่างเร่งปรับตัววางยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแทนที่การท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ประกอบกับปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในไทยได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร รวมถึงการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพเชิงป้องกัน (preventive care) ที่เป็นกระแสมาแรงของโลก โดยหากตรวจพบโรคต่างๆ ในระยะแรกก็จะลดโอกาสที่โรคจะพัฒนาไปเป็นระยะรุนแรง หรือสามารถทำการรักษาได้รวดเร็ว

    นอกจากนี้ยังมีการตรวจรหัสพันธุกรรม (genomics) ซึ่งเป็นการตรวจหาข้อมูลสุขภาพเชิงลึก เพื่อที่ผู้ตรวจจะได้รับรู้ข้อมูลสุขภาพของตนและทำการรักษาได้ทันท่วงที และมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (robotic surgery) ที่มีความแม่นยำ สามารถผ่าตัดในจุดที่เข้าถึงได้ยาก และลดเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด ซึ่งมีโรงพยาบาลในไทยหลายแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาให้บริการแก่คนไข้แล้ว ที่สำคัญค่าบริการและค่าใช้จ่ายมีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้คนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีราคาสูงเกินตัวต่างก็เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลให้ตลาด “Health & Well-being” ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลก

    

โอกาสการลงทุนหุ้น Well-being

    

    ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในด้าน well-being ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ และการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ก็มีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นำมาสู่การสร้างรายได้แก่คนในประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย ประกอบกับการปรับตัวของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้มีการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สุขภาพกันอย่างคึกคักในช่วงหลายปีก่อนหน้า COVID-19 ระบาดแล้ว 

    โดยบริษัทหลายแห่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการเข้าซื้อกิจการ หรือการใช้กลยุทธ์จับมือพันธมิตรเสริมบริการให้มีความหลากหลายและครอบคลุมเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มหุ้น “Health & Well-being” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการของหุ้นเหล่านี้ ในช่วงปี 2562 ตลาดหลักทรัพย์จึงได้จัดทำ “ดัชนี SET Well-being (SETWB)” ขึ้น เพื่อสะท้อนการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันดัชนี SETWB มี 30 หลักทรัพย์อยู่ใน 7 หมวดธุรกิจ ประกอบด้วย หมวดธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) หมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) หมวดธุรกิจแฟชั่น (Fashion) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) หมวดธุรกิจการแพทย์ (Health Care Service) หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourism & Leisure) และหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)

    ด้านแผนกวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (บล.ทิสโก้) เผยข้อมูลว่า wellness ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเมื่อมองในตัวหุ้นจะเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบน้อยจากปัจจัยความผันผวน แต่มีโอกาสเติบโตได้มากในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ซึ่งการลงทุนในกลุ่ม wellness เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน เน้นการถือหุ้นในระยะยาว

    สำหรับตัวอย่างของหุ้นที่จะเติบโตตามกระแส wellness ภายใต้คำแนะนำของแผนกวิจัย บล.ทิสโก้ เช่น PTT กลุ่ม ปตท. จะผลักดันให้ life science เป็นธุรกิจหลักตัวใหม่ของกลุ่ม โดยตั้งเป็นบริษัทย่อยชื่อ Innobic ลงทุนในธุรกิจหมวดเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยาและเภสัชกรรม ซึ่งหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่เข้าไปลงทุนคือ RED-GEMs (มณีแดง) ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนา และหากประสบความสำเร็จ ในเชิงธุรกิจก็มีโอกาสเป็นเครื่องจักรตัวใหม่ให้กับรายได้ของกลุ่ม ถัดมาคือ SPA มีแบรนด์ที่ครอบคลุมทุกตลาดตั้งแต่ low-end ถึง high-end และบริการที่หลากหลายตั้งแต่โรงแรม บริการนวด ออนเซ็น สกินแคร์ Stretch me และผลิตภัณฑ์สปาต่างๆ นอกจากนี้ยังเสริมภาพลักษณ์ wellness ระดับพรีเมียมขึ้นด้วยการเปิด Sleep Clinic เพื่อเติบโตจาก medical cannabis ให้คำปรึกษาและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ

    ในขณะที่ AWC ก็มีโครงการใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง work-life balance เข้าไปด้วยกัน เพื่อเชื่อมการทำงานและชีวิตปกติให้มีความสะดวกสบาย มีความสุขมากขึ้น เช่น โครงการ Co-Living Collective: Empower Future สร้าง ecosystem ที่เชื่อม office-home-hotel-retail เข้าด้วยกัน ภายใต้แอปพลิเคชัน AWC Infinite Lifestyle

    นอกจากนั้นยังมี TU ซึ่งยังอยู่ในช่วงพัฒนาอาหารให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้น โดยจับมือกับ InterPharma (วิตามิน) และ ThaiBev (เครื่องดื่มวิตามิน) เพื่อพัฒนาอาหารที่มีมูลค่ามากขึ้น ตัวอย่างอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้หลักการ BeautyFitt เช่น แบรนด์ SEALECT รวมถึงไลน์อาหารเสริมอย่าง Zeavita

    ส่วน BDMS ที่ตัวธุรกิจหลักอยู่กลุ่มในธุรกิจ wellness อยู่แล้ว และได้มีการต่อยอดธุรกิจหลักให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เน้น wellness มากขึ้น เช่น โครงการ Silver Wellness & Residence Project ซึ่งโครงสร้างประชากรไทยที่อายุเฉลี่ยสูงขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ชาวต่างชาติ จะช่วยผลักดันให้โครงการเหล่านี้ขยายตัวได้ดีในอนาคต

    

จับชีพจรตลาด Wellness ในไทย

    

    สำหรับแนวโน้มการเติบโตของตลาด wellness ในระยะข้างหน้า แผนกวิจัย บล.ทิสโก้ ขยายความว่า wellness มีความหมายค่อนข้างกว้าง คือ นอกจากเป็นเรื่องอาหารการกิน เมื่ออิ่มท้องแล้วทุกคนก็ต้องการแสวงหาความสุข โดยข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute หรือ GWI) พบว่าผู้คนทั่วโลกมีการใช้จ่ายเงินไปกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2565 ทั่วโลกมีการใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับ wellness มากถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ราว 150 ล้านล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเศรษฐกิจของไทยถึง 10 เท่า จากที่มูลค่าเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากดึงเรื่อง wellness เข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยได้เชื่อว่าไทยจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

    สำหรับกลุ่มคนทั่วโลกที่สนใจ wellness และมีการใช้จ่ายเงินในเรื่องนี้มากส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งในเอเชียเองไทยเรายังไม่ใหญ่มากนัก แต่กำลังเติบโต และมีโอกาสเติบโตได้อีก ซึ่ง wellness สามารถแบ่งออกได้เป็น 11 กลุ่มตามความหมายของ GWI แต่กลุ่มหลักๆ ที่เป็นกลุ่มใหญ่ของทั่วโลก กลุ่มแรกคือ Personal Care ถัดมาคือ Healthy Eating, Nutrition & Weight Loss และกลุ่มที่ 3 คือ Physical Activity

    อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มในประเทศไทยพบว่าเรื่อง Wellness Tourism เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่จะเติบโตมากขึ้น และหากเทียบกับทั่วโลกและในเอเชียแล้วพบว่าไทยเป็นผู้นำในตลาดนี้อยู่ ด้วยเหตุนี้การท่องเที่ยวจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่ผู้คนจะบริโภคในเรื่องการท่องเที่ยวได้นั้นจะต้องเข้ามาในไทย ใช้จ่ายในไทย ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยวแล้วยังส่งผลต่อซัปพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้อีกมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้อย่างมากคือคุณภาพการบริการ Wellness Tourism จึงถือเป็นอีกเครื่องยนต์หลักที่จะยกระดับการเติบโตอย่างมีศักยภาพให้แก่เศรษฐกิจไทยในอนาคตตามเมกะเทรนด์โลก

    

    อ่านเพิ่มเติม : เฟรชแอร์ เฟสติวัล เตรียมระเบิดโคตรมวย “THE MATCH OF LEGEND” ดวลกำปั้นนัดประวัติศาสตร์ 2 ตำนานนักชกระดับโลก แมนนี่ ปาเกียว - บัวขาว บัญชาเมฆ

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine