ทีทีซีแอล พาวเวอร์ โฮลดิ้ง เตรียมเข้าจดทะเบียน SET เร็วสุดปลายปีนี้ ด้วยเกณฑ์ Primary Listing หวังนำเงินระดมทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ไฟในเมียนมา
แม้เดิม บริษัท ทีทีซี พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TTPHD จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2556 เพื่อประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และเคยมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนแผนการเข้าตลาดครั้งนี้ TTPHD ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กอบชัย ธนสุกาญจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารสายงานการเงินและบัญชี บริษัท ทีทีซีแอล (TTCL) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เปิดเผยว่า การนำ TTCL Power Holding Pte. Ltd. (TTPHD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า เข้าจดทะเบียนในตลาด SET เป็นส่วนหนึ่งในแผนระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้าโครงการ Ahlone เฟส 2 ขนาด 356 เมกะวัตต์ (MW) ในประเทศเมียนมา โดยกระบวนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น เร็วที่สุดภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และช้าสุดตามกรอบระยะเวลาจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 “สาเหตุที่เลือกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีเป้าหมายที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าการเข้าจดทะเบียนที่นี่จะให้ผลดีแก่บริษัทมากกว่า และที่ผ่านมาก็ได้ปรึกษากับตลาดหลักทรัพย์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการเข้าตลาดฯ ด้วยเกณฑ์บริษัทข้ามชาติ หรือ Primary Listing ซึ่งนับว่า TTPHD จะเป็นบริษัทแรกที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์นี้” กอบชัยกล่าวว่าวัตถุประสงค์หลักของการเข้าระดมทุนใน SET ของ TTPHD เพื่อนำเงินลงทุนในโครงการ Ahlone เฟส 2 ที่มีมูลค่าลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท (360-380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีสัดส่วนแหล่งเงินทุนประกอบด้วย เงินกู้ 70% และส่วนทุน 30% ซึ่งในส่วนเงินกู้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศซึ่งติดต่อเข้ามาหลายราย ขณะที่ส่วนเงินทุนจะมาจากการระดมทุนในครั้งนี้เป็นหลักโดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2562 และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าหรือ COD (Commercial Operation Date) ได้ในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ทั้งนี้ TTPHD จะขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในสัดส่วน 40% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วทั้งหมดโดยจะให้สิทธิในการจองซื้อแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทแม่ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (pre-emptive right) ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินประเมิน P/E อ้างอิงของธุรกิจโรงไฟฟ้าในตลาดหุ้นอยู่ที่ 15 เท่า และบริษัทจะให้ส่วนลดประมาณ 25% ในการเสนอขายหุ้นไอพีโอ ปัจจุบัน TTPHD มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซฯ 121 เมกะวัตต์ที่เปิดดำเนินการมาแล้ว 4 ปี โดยมีกำไรสุทธิในปี 2560 อยู่ที่ 277 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่มีกำไร 305 ล้านบาท เนื่องจากมีการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าบางส่วน และยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น 20-25 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563 กอบชัยกล่าวเพิ่มว่าความน่าสนใจของการเข้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเมียนมานั้นยังมีอีกมาก เนื่องจากตั้งแต่รัฐบาลเมียนมา ประกาศนโยบายปฎิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในปี 2555 เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาลเมียนมาได้เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนรวมทั้งการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้อานิสงส์จากความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมาที่อยู่ในสถานการณ์ over demand โดยปัจจุบันการผลิตกระแสไฟฟ้าในเมียนมาส่วนใหญ่มาจากพลังงานน้ำของเมียนมา ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความไม่แน่นอนและได้รับผลกระทบจากการขาดแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้เมียนมาต้องเผชิญกับปัญหากระแสไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าจากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง และปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จากแหล่งเชื้อเพลิงในเมียนมาเริ่มลดลง และจากการสำรวจข้อมูลของ Japan International Corporation Agency (JICA) ในโครงการจัดทำแผนแม่บทไฟฟ้าแห่งชาติ ประเทศเมียนมา ซึ่งดำเนินการในปี 2557 มีการประมาณความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของเมียนมาโดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1,874 เมกะวัตต์ในปี 2555 เป็น 4,531 เมกะวัตต์ในปี 2563 และจะเพิ่มเป็น 14,542 เมกะวัตต์ในปี 2573 สำหรับภาวะการแข่งขันในประเทศเมียนมา TTPHD เชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัท เนื่องจากมีประสบการณ์ยาวนานในการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าในเมียนมา รวมถึงประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นซึ่ง TTPHD ได้เข้าไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับจำหน่ายให้เมียนมาหลัก 4 ราย ประกอบด้วยบริษัทจากยุโรป 1 ราย บริษัทจากประเทศจีน 2 ราย และ TTPHD โอกาสการเติบโตในระยะ 3-5 ปีจากนี้ ยุทธศาสตร์สำคัญของ TTPHD ยังเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต หลายประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิ เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย เป็นเป้าหมายของเม็ดเงิน ลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งการที่จะสร้างความน่าสนใจในการเข้าลงทุน จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยคลิกอ่าน Forbes Thailand ฉบับพิเศษ "WEALTH MANANAGEMENT & INVESTING 2018" ในรูปแบบ e-Magazine