SPEED UP YOUR ORGANIZATION! องค์กรยุคใหม่ในโลกความเปลี่ยนแปลง - Forbes Thailand

SPEED UP YOUR ORGANIZATION! องค์กรยุคใหม่ในโลกความเปลี่ยนแปลง

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Feb 2020 | 11:00 AM
READ 7120

หลายคนพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดูเหมือนจะอยู่ในช่วงขาลง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทุกอย่างเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงด้วยความเร็ว ในมิติของการบริหารจัดการองค์กร แค่การปรับกลยุทธ์เพื่อต่อกรกับคู่แข่งก็เป็นเรื่องใหญ่ แล้วยังต้องมาสู้กับคู่แข่งใหม่แห่งยุคสมัยอย่างเทคโนโลยีและความเร็วที่พร้อมจะพลิกเกมธุรกิจตลอดเวลา หากองค์กรยังยึดติดกับวิธีคิดและโมเดลเดิมๆ ก็คงอยู่ในสนามการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ยาก

ความท้าทายของผู้นำองค์กร คือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้ากับบริบทเหล่านี้เพื่อนำธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จโดยที่ไม่ลืมผู้อยู่เบื้องหลังนับร้อยพันที่เป็นพนักงาน และพาพวกเขาก้าวทันความเปลี่ยนแปลงไปได้พร้อมๆ กัน

จากประสบการณ์บริหารองค์กรที่หลากหลาย ทั้งแบบดั้งเดิมและรุ่นใหม่ ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ผมขอแชร์ไอเดีย และแนวคิดในแง่มุมต่างๆ ที่ผู้บริหารสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเร่ง speed องค์กรให้อยู่รอด และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

Structure - ลดกำแพงแผนกเพิ่มโอกาสความร่วมมือ

เมื่อตัวแปรหลักกลายเป็นเรื่องของเวลา และความเร็ว โครงสร้างองค์กรที่เป็นลำดับชั้นแผนกและสังกัด การทำงานแบบไซโล แบ่งแยกหน้าที่ขาดจากกันอย่างชัดเจนอาจประสบปัญหา การอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางความวุ่นวายของโลกและเศรษฐกิจ ต้องผสมผสานไอเดียและรูปแบบการทำงานใหม่ๆ โดยจัดสรรบุคลากรหลายฝ่ายให้มาทำงานร่วมกันในลักษณะโปรเจกต์ (crossfunctional team) หรือแม้แต่ Hackathon เพื่อสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดไอเดีย และแนวคิดหลากหลายมุมมองจากแต่ละสายงาน จากนั้น จึงร่วมหาทางออกหรือข้อสรุปเพื่อต่อยอดในลำดับถัดไป

รูปแบบการทำงานใหม่ๆ เช่นนี้จะทำให้การทำงานดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกคนทำงานคู่ขนานกันภายใต้โปรเจกต์เดียวกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอใครและไม่ต้องให้ใครมานั่งรอ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องมั่นใจว่าไอเดียหรือข้อสรุปที่นำเสนอผ่านกระบวนการนี้ สามารถนำไปใช้ได้จริงและส่งไม้ต่อให้ทีมที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมชัดเจน

 

People - ทัศนคติและทักษะพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อหัวใจขององค์กรคือคนในองค์กร สิ่งที่เราต้องการเพื่อมาเติมเต็มลูปของการเปลี่ยนแปลงองค์กรคือคน ไม่ว่ารุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าที่มีทัศนคติการทำงานที่ตระหนักถึงและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดตลอดเวลา สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกลตัว มองเห็นภาพใหญ่และเป้าหมายขององค์กร เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของงาน เช่น การสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดีที่สุด แม้ทำตามหน้าที่ตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างสมบูรณ์ ก็แปลว่างานยังไม่จบ เพราะถ้ามัวแต่ทำงานแค่ตามภาระหน้าที่ที่ได้รับก็อาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าใดๆ ให้กับภาพรวม

นอกจากทัศนคติที่พร้อมปรับตัวไปกับ speed of changes การเฟ้นหาทักษะที่จำเป็นต่อบริษัทก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันองค์กรควรมองหาคนที่มี multi-skill คือมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย หรือมีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมอื่น เพราะแค่ความเก่งหรือชำนาญด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่พออีกต่อไปสำหรับธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับความเร็ว

เมื่อได้คนเหล่านี้มาเติมเต็มองค์กร คำถามสำคัญที่ผู้บริหารต้องคิดต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาทรัพยากรเหล่านี้เอาไว้ได้ ทำอย่างไรให้พวกเขายังทำงานอย่างกระตือรือร้น สร้างคุณค่า และเป็นหัวใจผลักดันองค์กรต่อไป (next-generation leader)

 

Transparency - ความโปร่งใสวัฒนธรรมและการสื่อสาร

ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงความโปร่งใสในเชิงจริยธรรมองค์กร แต่คือความโปร่งใสของการสื่อสารภายในองค์กร เดิมเรื่องสำคัญๆ หรือทิศทางบริษัทมักจะกระจุกอยู่ที่กลุ่มคนด้านบน และค่อย top-down ลงไปถึงทุกคนในองค์กร คนด้านล่างทำได้เพียงรับทราบและทำตามโดยที่หลายครั้งไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้น หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร การที่องค์กรเติบโตเพื่อรับมือกับความเร็วและการเปลี่ยนแปลง ประเด็นที่เปิดเผยได้หรือส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัทก็ควรเปิดเผยให้ได้มากที่สุด เมื่อเริ่มต้นเดินและออกวิ่งไปด้วยกัน ทุกคนก็ควรจะอยู่ในสปีดเดียวกันอัปเดตความเป็นไปให้พนักงานรับทราบอยู่เสมอ ความโปร่งใสของการสื่อสารภายในองค์กรเช่นนี้ ย่อมทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมตัดสินใจและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีให้สมาชิกทุกคนและองค์กรในภาพรวม ซึ่งอาจจะจัดในรูปแบบของ town hall ที่พนักงานทุกคนสามารถรับฟัง สอบถามแสดงความคิดเห็นไปพร้อมกัน

 

Leadership - ศักยภาพผู้นำ บทบาท และการตัดสินใจ

ธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพและความเป็นผู้นำของผู้บริหาร เดิมผู้นำคือผู้ใช้อำนาจ centralized การตัดสินใจไว้ผู้เดียว แต่บทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง และเท่าทันความเร็ว ควรจะ de-centralized ตัวเอง ยอมลงมาจากหอคอยเพื่อเข้าใจ และสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

บทบาทการตัดสินใจและบริหารในระดับย่อยก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้บริหารต้องร่วมลงมือ (hands-on) ในระดับที่กำลังพอดีและไม่เป็นการ micro-management จนเกินไป บางครั้งเมื่อองค์กรริเริ่มสิ่งใหม่ที่ท้าทาย อาจมีข้อถกเถียงที่ไม่มีใครสรุปว่าควรไปทิศทางไหน ผู้นำควรยื่นมือเข้ามาช่วยตัดสินใจ หรือฟันธงให้ทิศทางที่ชัดเจนจากวิสัยทัศน์ เพื่อให้ทุกคนก้าวต่อได้อย่างราบรื่น

เมื่อความเร็วคือตัวแปรหลักของอนาคตธุรกิจ ความกล้าเสี่ยงกลายเป็นอีกหนึ่ง charismatic ของผู้นำรุ่นใหม่ บางสถานการณ์เราต้องกล้าตัดสินใจบนความมั่นใจที่น้อยลง ถ้ามัวแต่พิจารณาความเป็นไปได้และหาหลักฐานสนับสนุนจนมั่นใจ 90-100% โอกาสทางธุรกิจที่อยู่ตรงหน้าก็คงหลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย

องค์กรที่กำลังฟันฝ่าอุปสรรคจากสภาวะทางเศรษฐกิจและ disruption การปรับตัวเพื่ออยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อาจไม่จำเป็นต้องถอนรากถอนโคนของเดิมในชั่วข้ามคืน ในทางกลับกันต้องใช้วิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่แน่วแน่ประกอบกับการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น สร้างความมั่นคงก่อนสตาร์ทเครื่องเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยการส่งเสริมทั้งองค์กรให้กระตือรือร้นต่อสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิด พร้อมทั้งเปลี่ยนมุมมองต่อ change ให้เป็น challenge และกล้าที่จะสนุกไปกับมันด้วยกัน

  อ่านเพิ่มเติม   ดร.ธรรม์ จิราธิวัฒน์ เพรซิเดนต์ เดอะวัน กลุ่มเซ็นทรัล
คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine