HSBC จับมือฟินเทคพัฒนา ดิจิทัล โซลูชั่น เชื่อมธุรกรรมการเงิน - Forbes Thailand

HSBC จับมือฟินเทคพัฒนา ดิจิทัล โซลูชั่น เชื่อมธุรกรรมการเงิน

HSBC จับมือฟินเทคพัฒนา ดิจิทัล โซลูชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าองค์กรของธนาคารให้สามารถทำธุรกรรมด้านการเงิน และเชื่อมโยงกับคู่ค้าผ่านสมาร์ทโฟน

Kelvin Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HSBC ประเทศไทยเปิดเผยว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนลูกค้าธนาคารและนโยบายของประเทศไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเป็นหนึ่งในธนาคารต่างประเทศไม่กี่รายที่เข้าร่วมกับโครงการพร้อมเพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และได้พัฒนาระบบพร้อมเพย์สำหรับลูกค้าองค์กรในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “Mobile Trade Tracker” เพื่อช่วยให้ลูกค้าของธนาคารสามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ในการทำธุรกรรมด้านการค้าต่างๆ รวมทั้งระบบ “Digital Supply Chain Financing” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเงินแก่ลูกค้าธนาคารให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้รอยต่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยีแทนการใช้เอกสารกระดาษ “ตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับฟินเทคบางรายเพื่อพัฒนา ดิจิทัล โซลูชั่น ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินและการเก็บเงินผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ การรับชำระเงินจากระบบคิวอาร์โค้ด หรือการเชื่อมโยงกับคู่ค้าต่างๆ” Tan กล่าวและเสริมว่า การพัฒนาระบบดิจิทัลต่างๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนทางกลยุทธของ HSBC เพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าของธนาคารให้ประสบความสำเร็จซึ่งประเทศไทยถึงว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนที่ John Flint กรุ๊ปซีอีโอของธนาคาร HSBC ได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีผ่านมาว่า “อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากภายใต้ยุทธศาสตร์ของธนาคาร” จากจุดแข็งของการเป็นธนาคารที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซีอีโอของ HSBC ประเทศไทย มองว่าธนาคารสามารถช่วย “เพิ่มมูลค่า” ให้กับลูกค้าในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทย สถาบันการเงิน หรือบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่บริษัทไทยมีการออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น  ขณะเดียวกันมีสัญญาณชัดเจนถึงความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศที่เริ่มกลับเข้ามามองประเทศไทยมากขึ้น “ภายในประเทศเรายากที่จะแข่งกับธนาคารไทยซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก (แต่ในขณะนี้ที่) บริษัทไทยกำลังออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เราอยู่ในฐานะที่ดีมากที่จะช่วยสนับสนุนพวกเขา” Tan กล่าว ซีอีโอ HSBC ประเทศไทยชี้ว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) และ “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ 10 ประเภท (new s-curve) ของรัฐบาลไทยได้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจากต่างประเทศซึ่งมีการติดต่อและเข้ามาดูลู่ทางในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากจีน ยุโรป ญี่ปุ่น หรือชาติอื่นๆ “แน่นอนว่ามีความสนใจจากนักลงทุนจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดในบางอุตสาหกรรมแล้ว แต่ล่าสุดเพราะโครงการอีอีซี เราได้เห็นความสนใจจากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของจีน บริษัทด้านราง ถนน ผู้ดำเนินการท่าเรือ...และทุกๆ ฝ่ายกำลังมาที่นี่ ผมคิดว่ามันคงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ของจีนด้วยกระมัง” เพื่อสนับสนุนลูกค้าธนาคาร Tan กล่าวว่าซีอีโอของ HSBC ในแต่ละประเทศจะมีการเดินทางไปเยี่ยมเยือนลูกค้าในประเทศต่างๆเป็นประจำ อาทิ ซีอิโอของธนาคารในเวียดนามจะเดินทางมาไทยประมาณปีละ 2 ครั้งเพื่อพบปะกับผู้บริหารของบริษัทไทยที่มีการลงทุนในเวียดนาม รวมทั้งตนก็มีการเดินทางไปจีนเพื่อพบปะกับผู้บริหารของบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยในระดับของสำนักงานใหญ่