EEC เชื่อมโลกให้ไทยโลดแล่น - Forbes Thailand

EEC เชื่อมโลกให้ไทยโลดแล่น

FORBES THAILAND / ADMIN
10 May 2018 | 03:45 PM
READ 10618

เมื่อ 30 ปีก่อน การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) ได้พลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญของบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ทั้งยังถือได้ว่าเป็นประตูเชื่อมโยงการผลิตและการค้าของประเทศไทยผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

EEC เป็นการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ ESB ของประเทศไทยให้มีความต่อเนื่องเป็นระบบ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรและเพิ่มเติม 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระดับโลก (World-Class Economic Zone) และเป็นประตูเชื่อมเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก (Prime Gateway of Thailand) ที่จะผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว หนึ่งโจทย์สำคัญของโครงการ EEC คือจะทำอย่างไรให้โครงการนี้เกิดความ “ยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นการดำเนินการในแบบบูรณาการ ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป EEC เป็นประตูหลักที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศสู่เศรษฐกิจโลกด้วยระบบการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมโยงกันได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานในการขนส่งสินค้าได้สูงขึ้น โดยแนวคิดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของ EEC นั้นคล้ายคลึงกับของประเทศญี่ปุ่น คือเมื่อศูนย์กลางการค้าเจริญมากขึ้นก็จำเป็นต้องขยายการขนส่งออกไป ตัวอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่มี Tokyo เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และเป็น 1 ใน 3 เมืองศูนย์กลางทางการเงินของโลกร่วมกับ New York และ London ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นโมเดลระดับสากลในการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นแบบเพื่อทำแผนเพื่อศึกษาและพัฒนาในประเทศไทย ด้วยเรามีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่พื้นที่ในเมืองและปริมณฑลค่อนข้างจำกัด และแออัด จึงพบว่าพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองที่เป็นที่ตั้งโครงการ EEC ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ เหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของความเจริญในอนาค ด้วยภูมิประเทศและต้นทุนที่มีอยู่เดิมซึ่งเอื้อต่อการพัฒนา โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีท่าเรือนานาชาติหลัก คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด อยู่แล้ว และมีท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาที่สามารถขยายเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ EEC มีการบูรณาการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงเพิ่มเติมและทำให้ EEC เป็นจุดศูนย์กลางของการเชื่อมต่อเศรษฐกิจ CLMVT (East-West Corridor เส้นล่าง) คือ • เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม ด้วยเส้นทาง Dawei - กาญจนบุรี – กรุงเทพฯ - EEC - สระแก้ว - Phnom Penh – Ho Chi Minh City - Vung Tau • EEC - กัมพูชา ผ่านเส้นทางรถไฟจากปราจีนบุรี และทางบกผ่านตราดและจันทบุรี ด้วยเหตุนี้ การต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ ESB เดิมที่เป็นประตู gateway ของประเทศมาสู่ EEC จะสร้างความเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศและสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก จะทำให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้รับประโยชน์จาก EEC ก้าวสำคัญของ EEC คือ การเชื่อมโยงประเทศไทยกับโลก เพื่อพลิกฟื้นภาคการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ให้ทันกับพลวัตเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะผลักดันให้การเจริญเติบโตของประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
 
คลิกอ่านฉบับเต็ม "EEC เชื่อมโลกให้ไทยโลดแล่น" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine