e-Payment เชื่อมธุรกิจไทย คว้าโอกาสทางการค้าระดับโลก - Forbes Thailand

e-Payment เชื่อมธุรกิจไทย คว้าโอกาสทางการค้าระดับโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2016 | 11:44 AM
READ 3758
เมืองไทยอยู่ระหว่างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ด้าน e-Payment จากที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการรีเซ็ตประเทศ โดยมี digital payment เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้บนเวทีโลก เพราะนอกจากทำให้การชำระเงินระหว่างกันของประชาชนทั่วไปสะดวกมากขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการก็ได้รับประโยชน์จาก e-Payment นี้เช่นกัน เช่นที่ ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และ นายกสมาคม Thailand e-Payment Associate หรือ TEPA ให้ความเห็นว่า “คนไทยมีการเสพสื่อดิจิทัลมหาศาลจากพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกสะท้อนจากการใช้งาน Facebook ที่คนไทยมีผู้ใช้งานสูงถึง 35 ล้านราย ทำให้ Facebook ให้การยอมรับว่าประเทศไทยคือเมืองหลวงของ Facebook เพราะมีจำนวนผู้ใช้ในกรุงเทพฯ มากกว่า New York และ London นอกจากนี้ประเทศไทยยังครองอันดับ 2 ของโลกในการใช้งาน LINE และ YouTube ที่คนไทยครองอันดับ 5 ของโลก” ทว่า สวนทางกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนไทยที่ยังคงเป็นประเทศที่ใช้เงินสดเป็นหลัก จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้เงินสดน้อยมากเช่น สวีเดนมีการใช้เงินสดเพียง 4.4% สิงคโปร์ 30.5% เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนายังมีการใช้เงินสดอยู่มาก เช่น อินเดีย 99.78% ประเทศไทย 98.5% ผลของการใช้เงินสดในอัตราที่สูงมาก กลายเป็นต้นทุนมหาศาลในด้านการบริหารจัดการ เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงเงินสด ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามสวัสดิการได้รับความช่วยเหลือช้ากว่าที่ควรเพราะการเข้าถึงแหล่งเงินสดมีข้อจำกัด การโอนเงินมีค่าธรรมเนียมสูง ด้านผู้บริโภคต้องพกเงินสดติดตัวจำนวนมากเนื่องจากร้านค้ารับแต่เงินสด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัย เป็นปัจจัยให้เกิดการคอร์รัปชัน ไม่ได้เข้าระบบภาษี ทำให้หลีกเลี่ยงภาษีได้ง่าย และยังมีงานเอกสารอีกมาก ทั้งหมดทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทางการเงินลดลง ทั้งนี้ ปุณณมาศให้ความเห็นอีกว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศไทย มีอัตราการใช้งาน e-Wallet เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ในการซื้อสินค้าดิจิทัล เช่น แอพพลิเคชั่นบน App Store และ Google Play รวมถึงช้อปสินค้าออนไลน์บนอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต แต่จำนวนผู้ถือบัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของจำนวนประชากรในอาเซียนที่มีกว่า 600 ล้านคน ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตเพียง 10 ล้านรายเท่านั้น ขณะที่ สปป.ลาว และมาเลเซีย มีผู้ใช้บัตรเครดิตที่ต่ำกว่า 10% ของประชากร และตัวเลขผู้ใช้บริการธนาคาร (รวมบริการบัญชีธนาคาร, การลงทุน และประกัน) ที่ต่ำกว่า 80% ของจำนวนประชากร ประเทศไทยมีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้การใช้บัตรยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น การที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น จึงต้องเร่งสร้างและพัฒนาสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมไร้เงินสดให้เร็วที่สุดเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น การที่ภาครัฐได้ประกาศ นโยบายแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ขึ้นทั้งหมด 5 โครงการหลักประกอบด้วย 1.การใช้ระบบชำระเงินแบบ Any ID 2.การขยายการใช้บัตร 3.ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4.ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ภาครัฐ 5.โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment Master Plan จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อประชาชนสามารถลดต้นทุนการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคธนาคารจะสามารถประหยัดต้นทุน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด ธุรกิจรวมถึงร้านค้าทั่วไปยังจะสามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์หรือจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี โดยรวมแล้วจะสามารถลดต้นทุนภาคส่วนต่างๆ ได้ราว 1.5 แสนล้านบาท สำหรับบริษัทเอกชนจากที่มีการเริ่มเอาระบบไอทีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการต่อยอดธุรกิจแล้ว ตั้งแต่ e-Commerce, e-Logistics หรือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผลิต จะช่วยส่งผลให้สามารถลดคนเพื่อช่วยแก้ปัญหาไม่มีแรงงานได้ และเมื่อมีการนำระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วย ยิ่งทำให้ลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการเงินสด การฉ้อโกง ดังนั้น ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามผู้บริโภคโดยรับชำระเงินผ่านช่องทาง e-Payment ซึ่งการที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อและชำระเงินได้เร็วนำมาซึ่งวงจรธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนการสต็อกสินค้าลดลงและยังส่งผลไปยังราคาที่สามารถปรับลดลงได้ ปุณณมาศระบุอีกว่า “ยุทธศาสตร์ National e-Payment Master Plan นี้จะสามารถเปลี่ยนระบบชำระเงินของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะเกิดกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และระยะต่อไปหลังจากทุกคนมี Any ID แล้ว รัฐจะทำระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt รวมทั้งระบบจ่ายภาษีอิเล็กทรอนิกส์” ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และนายกสมาคม Thailand e-Payment Associate หรือ TEPA
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "e-Payment เชื่อมธุรกิจไทย คว้าโอกาสทางการค้าระดับโลก" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016