ธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business แทบจะเรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย ธุรกิจกว่า 80% จัดเป็นธุรกิจครอบครัวที่กระจายตัวไปทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และมีขนาดตั้งแต่บริษัทขนาดเล็ก ไปจนถึงองค์กรธุรกิจระดับประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่ม SET50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน ธุรกิจครอบครัว ในประเทศไทยจำนวนมากได้มีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นที่ 1 (รุ่นบุกเบิกและก่อตั้ง) ไปสู่รุ่นที่ 2 และในบางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้เริ่มส่งผ่านธุรกิจไปสู่รุ่นที่ 3 แล้ว อย่างไรก็ดี โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการทำธุรกิจจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานและการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้ารวมถึงเครือข่ายธุรกิจ แต่ปัจจุบัน เปลี่ยนไปเน้นกิจกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ (Value-added activities) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ธุรกิจครอบครัวที่ส่วนใหญ่มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจยืดหยุ่นไม่เพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ไม่แน่นอน เช่น อำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่เจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว จึงต้องเร่งหาทางเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจ ADAPT ถือเป็นแนวคิดหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนไปบริหารองค์กรภายใต้หลักการ Agile ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารกระบวนการดำเนินงาน โครงการ ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ให้รวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและโลกธุรกิจ ADAPT เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นโดย Mike Cohn ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างทีมนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักการ Agile และมีประสบการณ์ยาวนานในการเข้าไปช่วยบริษัทชื่อดังระดับโลกหลายแห่งสร้างรูปแบบการทำงานแบบ Agile เช่น Google, Microsoft, Adobe เป็นต้น โดย ADAPT ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ Awareness, Desire, Ability, Promotion และ Transfer Awareness (การสร้างความตระหนัก) Awareness คือขั้นตอนแรกสู่การพลิกโฉมธุรกิจเมื่อองค์กรเริ่มเห็นสัญญาณปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น รายได้จากผลิตภัณฑ์เดิมลดลง หากองค์กรธุรกิจไม่สร้างความตระหนักภายในองค์กรเกี่ยวกับสภาวะของธุรกิจ และไม่เตรียมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตั้งแต่ในระยะแรก ย่อมยากที่จะหลุดพ้นจากหายนะได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ตั้งตัว สำหรับแนวทางสร้าง Awareness ในองค์กร ประกอบด้วย- สื่อสารปัญหาต่าง ๆ ที่พบให้บุคลากรในองค์กรทราบ เช่น ปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า แทนที่จะสื่อสารแบบเดิมซึ่งเน้นเรื่องการเร่งปรับกระบวนการให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้น สามารถเปลี่ยนไปสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อช่วยให้ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
- ให้ทีมงานได้พบกับลูกค้าหรือประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น สนับสนุนการเข้าร่วมงานสัมมนาที่มีโอกาสได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเห็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง หรือจัดทำ Focus Group เพื่อให้ทีมพัฒนามีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นปัญหาในมุมผู้ใช้จริง รวมถึงได้เก็บเกี่ยวความคิดใหม่ๆ ในมุมที่แตกต่าง
- หาต้นตอปัญหาที่ทำให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง โดยองค์กรอาจทำลิสต์จุดอ่อน ปัญหาที่ธุรกิจเผชิญอยู่ หรือสิ่งที่ทำให้กระบวนการทำงานยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงเกินไป ปัญหาที่ลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ หรือความล่าช้าในการออกผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
- สื่อสารข้อดีของการเปลี่ยนไปใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ โดยในที่นี้หมายถึงหลักการ Agile ที่เน้นความรวดเร็วคล่องตัว ทำให้องค์กรแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว ซึ่งอาจยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Agile รวมถึงยกเหตุผลว่าทำไม Agile ถึงเหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่
- สร้าง Sense of urgency เป็นการมุ่งเน้นให้เห็นสาเหตุที่องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เช่น หากไม่ปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ agile เพื่อส่งมอบงานให้เร็วยิ่งขึ้น ธุรกิจอาจจะสูญเสียลูกค้าบางรายไป เป็นต้น
- ทดลองใช้ agile ซึ่งเปรียบเสมือนการทดลองขับรถ โดยอาจะเป็นการจัด workshop เล็ก ๆ ใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อปรับเปลี่ยนจากการรับรู้ เข้าสู่การทดลองลงมือทำจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพการนำ agile ไปปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ
- Align incentives การมอบสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจให้เกิดความกล้าในการนำเสนอความคิดใหม่ หรือลงปฏิบัติจริง
- เปิดใจยอมรับความผิดพลาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก และมักเกิดข้อผิดพลาดซึ่งเสี่ยงจะนำไปสู่ความสูญเสีย ดังนั้น จึงต้องเปิดใจรับฟังและยอมรับกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อทีมงานทำงานผิดพลาด ไม่ยึดติดกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แล้วปรับแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเดินหน้าต่อไป
- เรียนรู้เทคนิคการทำงานใหม่ๆ เช่น การค้นหาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจด้วยวิธีการ Product Discovery ซึ่งเป็นการร่วมสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้ ว่าผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะพัฒนาตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้จริงหรือไม่
- เรียนรู้การทำงานเป็นทีม จากเดิมที่เคยทำงานคนเดียว อาจต้องเปลี่ยนไปทำงานเป็นทีม เพื่อให้สามารถแชร์ความรับผิดชอบร่วมกับคนอื่นได้ เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น
- เรียนรู้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงโดยใช้เวลาน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า MVP (Minimum Viable Products) เพื่อทดลองตลาดก่อน
- จัดให้มี coaching หรือ training สำหรับการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยวิธีที่เหมาะสมคือ On-site training หรือ Mentoring เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์จริง ไม่ได้อยู่เฉพาะเพียงแค่ในตำรา และได้รับคำแนะนำที่สร้างความเข้าใจ และมั่นใจต่อทีมงานในการนำไปใช้ได้จริง
- เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทีมงานแต่ละทีม เนื่องจากในการทำงานจริง มีโอกาสที่แต่ละทีมจะประสบปัญหา คำถาม และความท้าทายที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีจัดการปัญหา เช่น ในบริษัท Yahoo จะมีเวลา 1 วันเต็มเพื่อจัดกิจกรรมหารือร่วมกัน โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมและนำเสนอหัวข้อของการหารือในและ session ย่อยได้ เป็นต้น
- Just do it กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หาคำตอบหรือทางออกใหม่ๆ
- เผยแพร่ความสำเร็จของทีมให้ผู้อื่นรับทราบ ผ่านการนำเสนอโดยทีมงานเอง หรือจัดทำเป็นรายงานที่สามารถนำเสนอต่อสาธารณะ
- จัดให้มี Agile Safari เพื่อให้ทีมงานที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานในรูปแบบ Agile ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้จากสถานที่ทำงานจริง เสมือนการเข้าไปท่องเที่ยวในสวนซาฟารี ที่ได้ทั้งชม สัมผัส และรับรู้ข้อมูลต่างๆ ร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ไปรบกวนทีมงานที่กำลังทำงานในรูปแบบ agile มากนัก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้งานอยู่ในบริษัท Google ด้วยเช่นกัน
- จัดงาน open-house ให้ทีมอื่นได้เข้ามาร่วมกิจกรรมและเรียนรู้การทำงานแบบ agile เช่น จัดให้มีเกมส์ cross-word ที่มีคำเกี่ยวกับ agile จัดการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ แนะนำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิด Agile เช่น scrum board, burndown chart และ product backlog เป็นต้น
- HR - หลายๆ องค์กรอาจมีกฎระเบียบที่ขัดแย้งกับการทำงานแบบ agile ซึ่งจะส่งผลให้การคัดสรรบุคลากรไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของ Agile และอาจส่งผลเสียต่อทีมงานได้ หรือแม้แต่กระทั่งการวัดผลการปฏิบัติงานที่ไม่สอดคล้องกับการมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการทำงานเป็นทีม
- Marketing – อาจจะต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการออกผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วและต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนกำหนดการเปิดตัวหรือยุติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางแบบ Agile สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่ทีม Marketing อาจมีความคุ้นชินกับแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งปี หรือผลิตภัณฑ์ที่รายละเอียดไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
- Finance - ฝ่ายการเงินมักจะเป็นหน่วยงานที่อยู่ตรงข้ามกับการทำงานแบบ Agile เนื่องจากแผนงบประมาณของโครงการต่าง ๆ ในแต่ละปีต้องมีการตั้งงบประมาณล่วงหน้า และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 5 ด้วยเหตุนี้ จึงยากที่ทีมงาน Agile จะสามารถประเมินและจัดทำแผนการใช้งบประมาณจากคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine