การศึกษาต่อต่างประเทศสำหรับนักเรียนไทยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ค่านิยมของสังคม มุมมอง อาชีพ และเทคโนโลยีที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในวัย 40 ที่กำลังโลดแล่นในโลกการงานอาชีพในระดับผู้บริหารหรือระดับสูงขององค์กรเมื่อนึกย้อนไปเมื่อ 13-19 ปีที่แล้ว หากคุณยังจำได้ หนุ่มสาวในยุคนั้นต่างคลั่งไคล้กับปริญญาโทที่ต้องมีคำว่า MBA ต่อท้าย เพราะในยุคนั้น MBA เปรียบเสมือนใบเบิกทางหรือปริญญาทองที่จะพาเจ้าของเดินสู่หนทางแห่งความสำเร็จในโลกของการงาน ทว่า วันนี้เราเดินทางมาสู่ยุคดิจิทัลที่คุณค่าของ MBA ในรูปแบบเดิมได้เปลี่ยนไปแล้ว “โลกเปลี่ยน อาชีพเปลี่ยน” คำนี้เป็นความจริงเสมอ แล้วเด็กยุคนี้มองหาอะไรกัน โลกเปลี่ยนไปอย่างไร และอาชีพเปลี่ยนไปอย่างไร ในปัจจุบัน MBA ถูกแทนที่ด้วย Entrepreneurship (การประกอบการ) ซึ่งครั้งหนึ่งนั้น การลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการและมีธุรกิจเป็นของตนเอง ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่คนรุ่นอายุ 40-50 อัพ (Gen X) ไม่คิดจะทำ การเป็นลูกจ้างมืออาชีพในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเคยถูกมองว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของคน Gen X ดังนั้น MBA จึงตอบสนองในฐานะเป็นใบเบิกทางเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ ในขณะที่คนวัย 20-30 ปี (Gen Y) ในปัจจุบัน ซึ่งเติบโตมากับคอมพิวเตอร์และดิจิทัลเทคโนโลยี มองการทำงานให้กับคนอื่นเป็นเรื่องเสียเวลา การเริ่มต้นรับเงินเดือนเพียงเดือนละหมื่นสองหมื่น กว่าจะสะสมถึงขนาดร่ำรวยและมั่งมีได้นั้น อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต สู้เอาเวลามาสร้างกิจการของตนเองดีกว่า หรือไม่ก็กลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว แนวคิดที่ว่า “มีธุรกิจเป็นของตนเอง ร่ำรวย และหยุดทำงานในวัย 40 เพื่อท่องเที่ยวและมีชีวิตที่อิสระเสรี” ดูจะเป็นค่านิยมที่คนหนุ่มสาว Gen Y ยุคนี้ให้ความสำคัญยิ่งนัก ดังนั้น สาขาที่คนรุ่น Gen Y เลือกจะเรียนต่อในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไป โดย 5 สาขาวิชาที่มาแรงคือ Entrepreneurship, E-business, Digital Marketing, Brand Management และ Logistics and Supply Chain 1. Entrepreneurship หลักสูตรเน้นความรู้และทักษะในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก SME และสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณท์ การผลิต การขาย การทำการตลาด การเงิน การจัดทำแผนธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ รวมถึงเรียนรู้ case study ของผู้ประกอบการตัวจริงทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวของโลก หลายสถาบันอาจมีวิทยานิพนธ์หรือโปรเจกต์ให้นักศึกษาได้ผ่านประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาหรือตั้งธุรกิจระหว่างเรียนจริงๆ ที่น่าสังเกต คือ สาขา Entrepreneurship มักจะมีคำว่า innovation (นวัตกรรม) พ่วงท้าย โดยมีนัยว่าผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลนี้ต้องมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย 2. E-Business ข่าวการล่มสลายของห้างสรรพสินค้าและค้าปลีกรูปแบบเดิมในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า E-business ทวีความสำคัญ และจะเข้ามาแทนที่ธุรกิจรูปแบบเดิมๆ อย่างแน่นอน ในประเทศไทยนั้นโดยเฉพาะการค้าในสังคมเมืองใหญ่ กำลังเข้าสู่ยุค E-business อย่างเต็มรูปแบบเหมือนในประเทศตะวันตก เพื่อตอบรับการใช้ชีวิตสังคมเมืองที่อิงสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ หลักสูตร E-business จึงเป็นหลักสูตรที่ไม่เรียนไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่โลกธุรกิจ โดยเน้นความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ในแทบทุกมิติของธุรกิจ ตั้งแต่การผลิตที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ การตลาดออนไลน์ การขนส่งสินค้า การสั่งสินค้า การเงิน ลูกค้าสัมพันธ์ การบริหารลูกค้าที่เป็นออนไลน์ทั้งระบบ รวมถึงการวางกลยุทธ์ และการคิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจประเภทต่างๆ E-business ยังให้คำตอบกับธุรกิจที่กำลังจะผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ 3. Digital Marketing เป็นสาขามาแรงที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการการเป็นนักการตลาดมืออาชีพในยุคนี้ โดยหลักสูตร Digital Marketing จะศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในโลกออนไลน์ ประโยชน์และการเข้าถึงอุปกรณ์ของโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน รวมทั้งการพิมพ์สามมิติ ช่องทางของการตลาดดิจิทัล การวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล การเพิ่มพูนทักษะการตลาดที่เข้ากับโลกออนไลน์ เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย การเขียนคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการสร้างสื่อโฆษณาผ่านโลกโซเชียล เป็นต้น 4. Brand Management หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จทางธุรกิจคือ “แบรนด์” รวมถึงความผูกพันและความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ Brand Management เป็นหลักสูตรที่เชื่อมร้อยระหว่าง creative, communication และ marketing ในฐานะที่ Brand Management เน้นที่การสร้าง “ความแตกต่าง” มาผนวกกับการจัดการและกลยุทธ์ที่ให้ความแตกต่างนั้นถูกสื่อและส่งต่อไปยังการรับรู้ของผู้บริโภคที่เป็นส่วนความรับผิดชอบของ communication และ marketing เมื่อ 10 ปีก่อน communication ถูกผนวกเข้ากับการตลาดมาเป็นหลักสูตรยอดฮิต Marketing Communication แต่การตลาดยุคนี้ต้องอิงอารมณ์ของมนุษย์ที่ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นหลักสูตร Brand Management จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป 5. Logistics and Supply Chain Management Logistics and Supply Chain Management ทวีความสำคัญในยุคดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด Logistics และ Supply Chain Management (การจัดการห่วงโซ่อุปทาน) มีความแตกต่างกันแต่เกี่ยวเนื่องกันในการจัดการสินค้าและบริการ Logistics ครอบคลุมกระบวนการวางแผนดำเนินการควบคุมประสิทธิภาพการไหลเวียนของสินค้าและบริการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดการคลังสินค้า การขนส่ง การควบคุมต้นทุน ส่วน Supply Chain Management เน้นการจัดการในกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้ขายปัจจัยการผลิตหรือซัพพลายเออร์ โดยกระบวนการนี้จะเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบ การผลิต การจัดเก็บสินค้า การจัดส่ง และการจัดจำหน่าย และตลอดสายห่วงโซ่อุปทานนี้ IT เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในยุคที่การค้าเติบโตซื้อง่ายขายคล่อง และการแข่งขันไม่รุนแรง การเพิ่มกำไรสามารถทำได้จากการเพิ่มราคา แต่ในยุคที่การแข่งขันรุนแรงการเพิ่มราคากลายเป็นความเสี่ยง ธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการบริหารที่เกี่ยวกับการลดต้นทุน Logistics and Supply Chain Management จึงมีบทบาทสำคัญในฐานะกลไกการบริหารต้นทุนของธุรกิจที่ขาดไม่ได้และสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการตลาด ทั้งหมดนี้เป็นสาขามาแรงของนักศึกษาในยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งความหวังว่า สาขาที่เรียนจบมาจะสนับสนุนแนวคิดการเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จดังที่หวังในวันข้างหน้า วิภา ภิญโญโชติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ดเน็ท จำกัดคลิกอ่านบทความด้านการลงทุนอื่นๆ ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine