ตอนนี้เราได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ของการนำ Disruptive Technology อย่าง AI บล็อกเชน IoT หรือ Big Data ไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จนหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วอะไรจะเข้ามา disrupt หรือสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ต้องจับตามองกันอีกใน 5 ปีข้างหน้า
IBM เพิ่งมีการเปิดเผยรายงาน “5 in 5” ฉบับล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในงานใหญ่ประจำปี Think 2018 ที่ Las Vegas ซึ่งผู้เข้าร่วมงานกว่า 40,000 คนได้รับฟังรายงานฉบับนี้จากปากของนักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมโดยตรง ทุกปี IBM จะเปิดเผยรายงาน “5 in 5” หรือผลการคาดการณ์ 5 นวัตกรรมที่มีแนวโน้มต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนและโลกธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะกลั่นกรองมาจากงานค้นคว้าสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในห้องแล็บ การทำงานในโครงการล้ำหน้าที่กำลังร่วมมือกับลูกค้า รวมถึงเทรนด์ที่เราพบเห็นในแวดวงเทคโนโลยีและธุรกิจ บางนวัตกรรมในรายงานอาจจะฟังดูล้ำหน้าจนยากจะนึกถึงการใช้งานจริงในวันนี้ แต่สิ่งที่เราจะสัมผัสได้ คือการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่โลกและองค์กรธุรกิจกำลังให้ความสำคัญ จนเกิดเป็นการพัฒนาแนวทางการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยนวัตกรรมทั้งห้า ประกอบด้วยแนวคิดดังนี้ 1.ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย คอมพิวเตอร์ควอนตัมเกิดขึ้นจริงแล้ว แต่ยังเปรียบเสมือนสนามแห่งการทดสอบสมรรถนะและความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริงของเหล่านักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บ ด้วยการใช้หลักของฟิสิกส์ควอนตัม คอมพิวเตอร์ควอนตัมได้รับการพัฒนาให้มีระบบประมวลผลที่ทรงพลังเหนือกว่าคอมพิวเตอร์ที่เรารู้จักทั่วไปอย่างเทียบไม่ได้ ปัจจุบันนักวิจัยของ IBM ได้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในความสำเร็จของการจำลองพันธะของอะตอมในเบริลเลียมไฮไดรด์ (BeH2) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการจำลองขึ้น ทั้งนี้ เมื่อนำความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาที่รวดเร็วอย่างที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อนของคอมพิวเตอร์ควอนตัม มาแก้โจทย์ความท้าทายที่ครั้งหนึ่งอาจเป็นเพียงปริศนาที่หาคำตอบไม่ได้ ลองนึกถึงโอกาสนานัปการที่เราจะสามารถสร้างบันทึกหน้าใหม่ให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบยารักษาโรคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล การค้นพบแหล่งพลังงานใหม่ หรือแม้กระทั่งการแก้โจทย์ข้อสงสัยที่มนุษย์มีในระบบสุริยะจักรวาล ในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมและนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ควอนตัมจะถูกรวมไว้ในบทเรียนและอาจเริ่มให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อคนมีทักษะเพิ่มมากขึ้น การพัฒนารูปแบบการนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ก็ย่อมจะหลายหลากขึ้นเช่นกัน 2.วิทยาการการเข้ารหัสขั้นสูงเพื่อต่อกรกับการโจมตีที่ท้าทายยิ่งขึ้น อันส่งผลมาจากความสามารถของคอมพิวเตอร์ควอนตัม นวัตกรรมที่ทรงพลังอย่างคอมพิวเตอร์ควอนตัม เมื่อนำไปใช้ในทางที่ควรก็จะสร้างสรรค์ประโยชน์มากมายให้กับโลก ในทางกลับกันหากอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีอย่างเหล่าแฮกเกอร์ ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือที่สร้างภัยคุกคามได้ ปัจจุบันนักวิจัยจึงออกแบบวิทยาการการเข้ารหัสขั้นสูงที่ใช้คุณสมบัติเชิงพีชคณิตที่เรียกว่าแลตทิซ (lattice cryptography) มาใช้รับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ โดยเฉพาะเมื่อแฮกเกอร์ใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมในการถอดรหัส และเมื่อปลายปีที่แล้วนักวิจัยของ IBM ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีนี้ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการรับมืออย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต 3.การผสานเทคโนโลยีระบุแหล่งที่มาด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วเข้ากับบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบซัพพลายเชนและลดการปลอมแปลง ปัญหาการปลอมแปลงสินค้าส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า 600 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และในบางประเทศ 70% ของยารักษาโรคที่มีผลต่อชีวิตคนนับล้านเป็นยาปลอมที่ไม่ได้รับการผลิตอย่างถูกต้อง ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเราผสมผสานเทคโนโลยีระบุแหล่งที่มาหรือที่เรียกว่า Crypto-anchors ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือดิจิทัลสำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเข้ากับเทคโนโลยีบล็อกเชน โลกจะมีระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในวันนี้ Crypto-anchors เริ่มต้นมาในรูปแบบของคอมพิวเตอร์จิ๋วที่ขนาดเล็กกว่าเม็ดเกลือ แต่ประกอบไปด้วยทรานซิสเตอร์หลายแสนตัว เมื่อถูกติดไว้กับวัตถุดิบหรือสินค้าและอยู่บนบล็อกเชน คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วนี้จะสามารถสื่อสาร ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแน่ใจได้ว่าสินค้านั้นถูกผลิตและจัดส่งอย่างถูกต้อง โปร่งใส ระบุที่มาที่ไปได้ จึงนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายกรณี เช่น การสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร การป้องกันการดัดแปลงของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแหล่งที่มาของสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งต่อไปในอนาคต Cryptoanchors อาจจะมาอยู่ในรูปแบบของหมึกพิมพ์ลายนูนที่อยู่บนอุปกรณ์การตรวจเลือดเพื่อหาไข้มาลาเรีย หรือหมึกพิมพ์แบบรับประทานได้และเคลือบอยู่บนเม็ดยาเพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลง 4.กล้องจุลทรรศน์หุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกเบื้องหลังจะช่วยรักษาความสะอาดของท้องทะเล ในอีก 5 ปี กล้องจุลทรรศน์อัตโนมัติขนาดเล็กที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญ ที่ได้รับการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบนคลาวด์และถูกนำมาใช้งานทั่วโลก จะสามารถตรวจสอบสภาวะของน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของโลก นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์จากแพลงก์ตอน ซึ่งถือเป็นเซนเซอร์ทางชีววิทยาตามธรรมชาติที่สามารถบ่งบอกสภาวะของน้ำ โดยจะนำกล้องจุลทรรศน์พิเศษนี้ไปไว้ในแหล่งน้ำในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของแพลงก์ตอนในแบบ 3 มิติ และนำข้อมูลนี้มาใช้คาดการณ์พฤติกรรมและสุขภาพของแพลงก์ตอน ด้วยวิธีนี้จะมีประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เหตุน้ำมันรั่วและการรั่วไหลของมลพิษจากแหล่งบนดิน 5.การสร้างความสมดุลให้กับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อลดปัญหาการเกิดทัศนคติที่เอนเอียง ปัจจุบันเริ่มมีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีทัศนคติเอนเอียงอันเนื่องมาจากการได้รับการสอนหรือรับข้อมูลที่ไม่ได้มีการกลั่นกรองหรือตรวจสอบความถูกต้อง ดังนั้นภายใน 5 ปี จะมีแนวทางการรับมือกับระบบปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมที่มีความไม่สมดุล เพื่อให้แน่ใจได้ว่า AI ที่เราใช้ในทำงานต่างๆ จะเชื่อถือได้ มีข้อมูลที่เป็นกลาง และปราศจากความเอนเอียงในแง่เชื้อชาติ เพศ หรือความคิดความเชื่อในความหลากหลายของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง สุดท้ายนี้ ดิฉันอยากกล่าวทิ้งท้ายว่า รายงาน “5 in 5” เป็นมากกว่าการแสดงนวัตกรรมที่ก้าวล้ำ แต่ยังเป็นสิ่งยืนยันถึงบทบาทของเทคโนโลยีในฐานะแรงขับเคลื่อนอันเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ ในการเอาชนะความท้าทายที่เราอาจไม่เคยทำได้มาก่อนในอดีต พร้อมสร้างสรรค์โอกาสใหม่ๆ ที่เราไม่อาจไม่เคยคาดคิด ให้เป็นจริงได้ในอนาคตคลิกอ่านฉบับเต็มของ "สำรวจ 5 นวัตกรรมผันวิถีชีวิตในอีก 5 ปีข้างหน้า" ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine