5 ทำเลกรุงเทพฯ ที่จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี - Forbes Thailand

5 ทำเลกรุงเทพฯ ที่จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี

เพิ่งผ่านพ้นปี 2563 ได้ไม่นาน ตลาดอสังหาฯ ยังคงน่าจับตาอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ตลาดในปีที่แล้วที่ต้องเจอกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและโรคระบาด ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องตัดสินใจชะลอการซื้ออสังหาฯ ออกไปก่อน แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากยอดขายที่ลดลงส่งผลทำให้เกิดสต็อกคงค้างในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งหลาย ๆ บริษัทได้ปรับแผนการตลาด ทั้งลดราคาลงสูงสุดกว่า 40% รวมไปถึงออกโปรโมชันอื่น ๆ เพื่อช่วยระบายยูนิตที่คงค้างให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังชะลอการเปิดโครงการใหม่ ๆ ออกไปด้วยเช่นกัน จำนวนอุปทานในแต่ละพื้นที่ของเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นตัวเลขที่สามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง หลายๆ คนอาจมองว่าตัวเลขอุปทานที่สูง สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของตลาดในพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากขายไม่ได้ ระบายยูนิตได้น้อย แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง หากตัวเลขนี้มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ ความหมายก็อาจเป็นด้านบวก เช่น พื้นที่โซนเมืองที่ได้รับการพัฒนาแล้ว หรืออาจเป็นโซนรอบนอกที่ได้รับอานิสงส์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ สามารถเติบโตได้อีกในอนาคต เป็นต้น ด้วยปัจจัยบวกหลายๆ อย่างเหล่านี้ ทำให้พื้นที่เหล่านั้นได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อ ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ เองก็ตัดสินใจพัฒนาโครงการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกันไป เรียกได้ว่าแม้สถานการณ์ตลาดในภาพรวมจะยังไม่สู้ดีนักก็ตาม แต่ก็ยังมีความต้องการซื้อ-ขายอยู่ในบางพื้นที่ศักยภาพนั่นเอง   ที่อยู่อาศัยประเภทใดบ้างที่เติบโต สำหรับกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนเพิ่มมากที่สุดในรอบปี คือกลุ่มราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยมีจำนวนปรับขึ้นมากถึง 34% ซึ่งดีมานด์ให้การตอบรับน้อย เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด รองลงมาคือที่อยู่อาศัยกลุ่ม 1-3 ล้านบาท จำนวนอุปทานเพิ่มขึ้น 29% แต่ผู้ซื้อกลุ่มนี้กลับให้การตอบรับเพิ่มขึ้นถึง 16% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ ในขณะที่กลุ่มบ้านราคา 3-5 ล้าน และมากกว่า 5-10 ล้านบาท มีจำนวนอุปทานที่ลดลง 3% และ 7% ตามลำดับ โดยดีมานด์ของ 2 กลุ่มหลังนี้ให้การตอบรับเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม ในกลุ่มราคา 5-10 ล้าน มีสัดส่วนมากที่สุดในตลาด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และ 31% ตามลำดับ ส่วนทาวน์เฮ้าส์ กลุ่มราคา 1-3 ล้านจะมีจำนวนมากที่สุด มีสัดส่วนอยู่ที่ 34%   5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่จำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี เมื่อพูดถึง “ทำเล” ในโซนกรุงเทพฯ ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา (เทียบกับปีก่อนหน้า) ได้แก่ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง เพิ่มขึ้นถึง 47% รองลงมาคือแขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน เพิ่มขึ้น 23% อันดับ 3 คือแขวงคลองตัน เขตคลองเตย เพิ่มขึ้น 22% อันดับ 4 คือแขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา เพิ่มขึ้น 13% และสุดท้ายคือแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 11% เมื่อจำแนกจำนวนอยู่อาศัยออกเป็นแต่ละประเภท พบว่า คอนโดมิเนียม เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนมากที่สุดในตลาด โดยอยู่ที่ 88% ของจำนวนอุปทานที่อยุ่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ ส่วนโครงการแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว อยู่ที่ 7% และทาวน์เฮ้าส์ อยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยกว่าคอนโดมิเนียมอยู่หลายเท่า ทั้งนี้ ทำเลที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี คือ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง เพิ่มขึ้น 42% ส่วนบ้านเดี่ยว พบในแขวงบางนา เขตบางนามากที่สุด เพิ่มขึ้นถึง 233% ปิดท้ายที่ทาวน์เฮ้าส์ พบมากที่สุดในแขวงบางจาก เขตพระโขนง เพิ่มขึ้น 78%   การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สู่การเติบโตของตลาดอสังหาฯ  อย่างที่บอกไปข้างต้น หลายพื้นที่ที่มีจำนวนอสังหาฯ เพิ่มขึ้น ล้วนมีปัจจัยบวกบางอย่างที่เข้ามาสนับสนุน ยกตัวอย่างทำเลที่มีคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุด อย่างเขตสวนหลวง ปกติแล้วโซนนี้จะมีโครงการบ้านแนวราบอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอมีการอนุมัติก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทำให้มีบางแนวเส้นทางและสถานีพาดผ่านโซนสวนหลวง ถึง 5 สถานีด้วยกัน ได้แก่ สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 และสถานีศรีเอี่ยม โครงการคอนโดมิเนียมจึงเกิดขึ้นในย่านนี้เพิ่มมากขึ้น พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้พื้นที่นี้มีความน่าสนใจ หรืออย่างทำเลบางนา ซึ่งมีจำนวนบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุด ก็เนื่องมาจากมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาโครงการแนวราบ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งห้างสรรพสินค้าใหญ่ สถานศึกษา โรงพยาบาล ไม่ไกลจากรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว เส้นสุขุมวิท อีกทั้งยังมีเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการมิกซ์ยูสอย่างแบงค็อกมอลล์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีส่วนช่วยให้พื้นที่นั้นๆ เหมาะแก่การอยู่อาศัย ทั้งเรื่องของการเดินทางที่สะดวกสบาย ใช้ชีวิตได้ง่าย รายล้อมไปด้วยแหล่งอาหารการกิน ดังนั้นโครงการที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในย่านที่ได้รับการพัฒนาจึงเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อเรื่อยมา อย่างไรก็ตามปี 2564 นี้ ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ กันต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร หากโรคระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้บริโภคกล้าใช้จ่ายมากขึ้น เราคงจะเห็นตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง DDproperty.com เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ที่รวบรวม ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ทั้งไทยและอังกฤษ ไว้กว่า 10,000 บทความ  

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine