ความมุ่งมั่นของไทยต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

ความมุ่งมั่นของไทยต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Apr 2019 | 01:55 PM
READ 9321

ในโลกยุคดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ คำว่า “big data” และ “Internet of Things” เป็นสิ่งที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง และชวนให้นึกว่าเป็นเรื่องเทคนิคที่ซับซ้อนและสื่อสารกันด้วยภาษาดิจิทัลที่คนนอกยากจะเข้าใจ

ไทยตระหนักดีถึงโอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมความทันสมัยดังกล่าว และต้องการที่จะใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกมิติของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้กำหนดแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หรือที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Advancing Partnership for Sustainability” เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ หรือ “Sustainability of Things (SOT)” ในการทำให้เกิดความยั่งยืนทุกมิติ ไทยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นมิติที่สาธารณชนรับรู้และสนใจมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2573 (United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development หรือ SDGs) ซึ่งมีเป้าหมาย 17 ข้อ ที่แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม หรือ 5Ps คือ การอนุรักษ์โลก (Planet) การสร้างสันติภาพ (Peace) การสร้างความเจริญก้าวหน้า (Prosperity) การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ (Partnership) และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน (People) เมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์โลก อากาศบริสุทธิ์และน้ำสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของคนและทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ แต่น่าเสียดายว่ามนุษย์กลับเป็นผู้ที่คุกคามทำร้ายโลกใบนี้มากกว่าใครมาโดยตลอด การที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์โลกแสดงถึงความห่วงกังวลต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นจนมีเสียงเรียกร้องให้ใช้แนวทางการพัฒนาที่สมดุล ซึ่งรวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยตระหนักถึงความเกี่ยวโยงระหว่างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสำคัญต่อผลสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม ประเทศไทยจึงได้มีมาตรการที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนให้มากขึ้น และได้รวมไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในการนี้ ประเทศไทยได้ริเริ่มแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030) เพื่อให้ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย ซึ่งมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเมื่อปีที่แล้วสามารถลด การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 45.72 ล้านตัน หรือนับเป็นร้อยละ 12 ของเป้าหมายตามแผนซึ่งวางไว้ที่ร้อยละ 7 ถึง 20  ภายในปี 2563 นอกจากนี้ ไทยยังสามารถฟื้นฟูแนวปะการัง 150 ไร่ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 5,500 ไร่ตลอดจนลดการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 435 ล้านถุงตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา นอกเหนือจากใช้มาตรการภายในประเทศ ประเทศไทยยังผลักดันความร่วมมือในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับนานาประเทศ เพราะตระหนักถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของโลกเป็นสำคัญ โดยได้แสดงความมุ่งมั่น     ที่จะดำเนินการตามพันธกรณีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนได้ริเริ่มความร่วมมือกับหุ้นส่วนระดับโลกต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นวาระระดับโลก ซึ่งต้องการความร่วมมือร่วมใจของประเทศต่างๆ และไทยอยู่ในสถานะที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เป็นพิเศษในปีนี้ เพราะนอกจากจะเป็นประธานอาเซียนแล้ว ไทยยังเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียนในเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Coordinator on Sustainable Development Cooperation) ซึ่งมีภารกิจในการยกระดับความร่วมมือและการหาความเชื่อมโยงที่จะเสริมซึ่งกันและกันระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ ทั้งนี้ ผลงานสำคัญที่ไทยมีบทบาทนำในการจัดทำ คือ รายงานเรื่อง “Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development: A Framework for Action” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะหาแนวทางเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนกับสหประชาชาติ และเพิ่มความแข็งแกร่งของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติไปพร้อมกัน หนึ่งในข้อเสนอแนะในรายงานความเชื่อมโยง (Complementarities Report) ที่จะเกิดขึ้นจริงในปีนี้ คือ การจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) ในประเทศไทย ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลไทยและจะเป็นกลไกประสานโครงการที่เกี่ยวข้องกับข้อริเริ่มความเชื่อมโยง (Complementarities Initiative) ดังกล่าว โดยศูนย์ดังกล่าวจะประสานงานกับศูนย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอื่น ๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน อีกหนึ่งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไทยจะผลักดัน คือ สิ่งแวดล้อมทางทะเล (marine environment) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลกระทบจากขยะทะเล (marine debris) เพราะนักวิจัยได้ค้นพบแพขยะทะเล (garbage patch) ขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำหรับมนุษย์ที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคปลาที่กินขยะดังกล่าวเข้าไป ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล อาทิ เต่าและวาฬ ซึ่งตายปีละนับแสนตัวเพราะกินขยะทะเลที่ไม่ย่อย นอกจากนี้ขยะทะเลยังส่งผลเสียหายต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ศึกษาและค้นพบว่า ขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลนั้นสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วโลก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต่าง ๆ จะมีเวทีหารือและร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในกรอบอาเซียน ได้มีการประชุมคณะทำงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 และไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 และการประชุมระดับสูงเอเชีย-ยุโรป ว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล ระหว่างวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นไปตามความมุ่งมั่นของไทยที่จะขยายความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนโดยเริ่มต้นจากความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะขยายผลสู่มิติอื่น ๆ ต่อไปตลอดปีนี้ ไทยเชื่อว่าแต่ละประเทศควรมีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนเอง ในกรณีของไทย ได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางการพัฒนา โดยหลักปรัชญาดังกล่าวให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด ซึ่งประกอบด้วย การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา การหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง และการนำหนทางดังกล่าวมาปฏิบัติ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนสำคัญในนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศของไทย โดยได้เป็นหลักการพื้นฐานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยตั้งแต่ปี 2545 ไทยได้แบ่งปันหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นทางเลือกเพื่อบรรลุ SDGs ผ่านการจัดทำหลักสูตรอบรมและการก่อตั้งโครงการความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกา ความมุ่งมั่นของไทยต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้รับการพิสูจน์จากความสำเร็จที่ผ่านมาและการมีส่วนร่วมในปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ซึ่งไทยพร้อมที่จะขยายผลต่อไปให้มากขึ้น การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นประเด็นสำคัญในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และไทยจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ใน SDGs เป้าหมายที่ 17 ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ