ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นส่วนผสมของ 3 อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกคือ พลังงาน ยานยนต์ และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งพลังงานและยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หากแต่มีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างช้า จากการที่ต้องใช้การลงทุนมหาศาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องลงทุนเพื่อให้รองรับการเกิดขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า รวมถึงการสร้างบุคลากรทั้งด้านการผลิตและการให้บริการหลังการขาย
ขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้าต่อความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงไปยังยุคแห่ง ยานยนต์ไฟฟ้า อันก่อเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผลต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยขยายความด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งการผลิต การวิจัย การใช้งาน รวมไปถึงการจัดการของเสียหลังหมดอายุใช้งานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และถือเป็นโอกาสของผู้เล่นรายใหม่อย่างกรณีศึกษาของ Tesla ที่กลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดของโลกกว่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศไทยอีกด้วย และเกิดการจ้างงานกว่า 70,000 อัตราทั่วโลก รวมถึงเกิดการสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมกลายเป็นแบรนด์ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ด้านสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการเกิดขึ้นของก๊าซเรือนกระจกนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการขนส่งและพลังงานมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ เป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างรวดเร็ว อันสอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ตัวอย่างเช่น SDG7 ที่จะทำให้การเข้าถึงพลังงานสะอาดเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะสามารถเป็นผู้นำในการบรรลุเป้าประสงค์นี้ได้ ด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ด้านคุณภาพชีวิต เป็นที่ชัดเจนว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถลดต้นทุนการใช้งานได้อย่างชัดเจน ทั้งการบำรุงรักษาที่น้อยลง หรือการเติมพลังงานที่ประหยัดกว่าการใช้พลังงานน้ำมัน และหากนำพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนมาใช้ก็จะถูกลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลให้ผู้ใช้งานสามารถมีต้นทุนการดำรงชีวิตที่ถูกลง รวมไปถึงการเกิดขึ้นของรูปแบบทางธุรกิจแบบใหม่ๆ เช่น การเช่าใช้เป็นครั้งคราว หรือการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งสามารถมีราคาที่ถูกกว่าได้ และยังสร้างกำไรต่อผู้ให้บริการ มากยิ่งขึ้นอีกด้วย สำหรับในปี 2563 รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาดทั่วทั้งโลกอยู่ที่ 2.8% (McKinsey Electric Vehicle Index - EVI) โดยหากมองในเชิงเปอร์เซ็นต์ของการซื้อรถใหม่ต่อปีจะนำโดยประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ (58%), ไอซ์แลนด์ (49%) และสวีเดน (23%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการผลิตและใช้รถไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านภาษีรวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ค่าจอดรถ เลนรถวิ่งเฉพาะ หรือค่าทางด่วนราคาพิเศษ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการปรับตัวของภาคการผลิตและเกิดอุตสาหกรรมอุบัติใหม่ในหลายรูปแบบหลายประเทศทั่วโลก เช่น การเกิดขึ้นของ joint venture ระหว่างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและบริษัทแบตเตอรี่ เช่น General Motors ในสหรัฐฯ กับ LG Chem จากเกาหลี ด้วยเงินลงทุนกว่า 2.3 พันล้านเหรียญ ขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีผลิตภัณฑ์แชมป์เปี้ยนที่สำคัญ เช่น รถกระบะและรถ Eco Car ซึ่งสามารถผลิตและส่งออกได้มากเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญให้กับประเทศในสมัยที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จำเป็นต้องเกิดความพร้อมทั้งระดับนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐ ไปยังภาคการผลิตและภาคการบริโภคโดยพร้อมกัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV Board) มีการกำหนดเป้าหมายในการผลิตและการใช้งานรถยนต์พลังานไฟฟ้าภายในปี 2573 กว่า 1.4 ล้านคัน หรือประมาณร้อยละ 3.5 ของรถทั้งหมด ครอบคลุมรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถบัส รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ซึ่งการประเมินสถานการณ์ความพร้อมของประเทศไทยในมุมของภาคธุรกิจอย่างอีทราน ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งได้ 3 ตัวชี้วัดหลัก ประกอบด้วยเทคโนโลยี การผลิต และการตอบรับของตลาด สำหรับความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มายาวนาน ขาดการพัฒนาความรู้เทคโนโลยีของตัวเอง รวมไปถึงบุคลากรที่มีความสามารถในการวิจัย พัฒนา และต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง จึงทำให้การเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมายมีการตอบรับและเคลื่อนตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น ด้านความสามารถในการผลิตทั้งชิ้นส่วนสำคัญและการประกอบรถ ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มเห็นการลงทุนโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น จากการที่รัฐมีมาตรการสนับสนุนจาก BOI และการร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีแต่ต้องการประโยชน์ด้านต้นทุนที่ดีกว่าในประเทศไทย และยังเริ่มเกิดขึ้นของแบรนด์ของคนไทย อาทิ GPSC เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (battery) ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid หรือบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์อย่างโชคนำชัย เปิดบริษัท SakunC เพื่อทำรถมินิบัสจากอะลูมิเนียมที่รองรับการติดตั้งแพลต์ฟอร์มของการขับเคลื่อนไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่การตอบรับของตลาด สัดส่วน และการเติบโตในประเทศไทยยังต้องใช้ระยะเวลาจากเสียงของผู้ใช้งานที่ยังมีความกังวลเรื่องราคา ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมถึงราคาขายมือสอง ทำให้ตลาดของรถพลังงานไฟฟ้ายังไม่เป็นที่ตอบรับมากเท่าใด หากแต่เป็นโอกาสสำหรับการเกิดขึ้นของมาตราการทางภาษี มาตราการด้านดอกเบี้ยสินเชื่อ มาตราการสนับสนุนอื่นๆ ที่ภาครัฐจะขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาด ลดต้นทุนค่าครองชีพ ผู้ให้บริการมีการแข่งขันในการผลิต พัฒนาสินค้าตามกลไกตลาด และยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของตลาดการผลิตรถยนต์ในระดับสากลต่อไปอย่างยั่งยืน การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย เช่น การเกิดของ Netflix ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สั่นสะเทือนเป็นอย่างมาก และเกิดการปรับตัวของ Disney ที่สุดท้ายก็เปิดให้บริการ Disney+ เพื่อมาแย่งคืนส่วนแบ่งของ “เวลาของผู้ใช้งาน” ซึ่งแปรผันตรงกับ “รายได้” ตามรูปแบบธุรกิจเดิมของธุรกิจขนาดใหญ่ โดย “รถยนต์ไฟฟ้า” นับเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้โลกเดินหน้าสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และสำหรับประเทศไทยเองก็จะเกิดคุณภาพชีวิตใหม่ อาชีพใหม่ และโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่จะสร้างความพร้อมต่ออนาคตของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ บทความโดย สรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัดไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine