เส้นทางสู่ "สังคมไร้เงินสด" อย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

เส้นทางสู่ "สังคมไร้เงินสด" อย่างยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Mar 2019 | 09:37 AM
READ 6406

แทบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังรุกเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการค้าระหว่างประเทศและอี-คอมเมิร์ซ ก่อให้เกิดความต้องการระบบอี-เพย์เมนต์ที่ทันสมัย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ปี 2562 จะเป็นอีกปีที่น่าจับตามองของวงการอี-เพย์เมนต์ไทย หนึ่งในโซลูชั่นใหม่ที่สำคัญของปีนี้ คือ การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดข้ามประเทศ บริการดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างของโซลูชั่นที่เราจะได้เห็นกันมากขึ้นในยุคที่ผู้บริโภคต่างพยายามเลือกสรรแอพพลิเคชั่นบนมือถือและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ที่สุดจากโซลูชั่นนับไม่ถ้วนที่ทยอยออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้หลากหลายภาคส่วนจะพยายามผลักดันให้เกิดการใช้อี-เพย์เมนต์ เงินสดยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษา “The Future of Payments - อนาคตแห่งการใช้จ่าย ที่ทำโดยยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และนีลเส็น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศไทยจำนวน 400 คนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 พบว่า เงินสดยังคงเป็นที่นิยมสูงสุด โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 87 ระบุว่า ได้ชำระเงินด้วยเงินสดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติที่ผู้บริโภคไทยมีต่อสังคมไร้เงินสดไม่ได้เป็นเชิงลบทั้งหมด ที่จริงแล้ว ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทย ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 อยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และ 6 ใน 10 รู้สึกมั่นใจหากต้องใช้ชีวิตในสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ

ร้อยละ 87 ของคนไทยยังคงใช้เงินสดในการชำระเงิน (PHOTO CREDIT: Bangkok Post)

ถ้าผู้บริโภคไทยมีทัศนคติเชิงบวก เพราะเหตุใดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดจึงยาวนานกว่าที่หลายคนคาดการณ์ ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 12 ปีโดยเฉลี่ยก่อนที่สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ และนี่คือแนวทางปฎิบัติที่ยูเนี่ยนเพย์มองว่าจะช่วยให้สังคมสามารถรับมือกับความท้าทายหลักๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างยั่งยืน

 

ค่าเสียโอกาสของการใช้เงินสด

ในประเทศไทยซึ่งใช้เงินสดกันอย่างแพร่หลาย ได้รับการยอมรับจากคนส่วนมาก และดูเหมือนว่ามีต้นทุนในการบริหารจัดการน้อยมาก ผู้บริโภคจึงอาจไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเผยว่าการชำระเงินผ่านมือถือกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด โอนเงินระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer หรือ P2P) หรือชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless) ภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศไทยยังใช้งานถึง 3.1 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย และเกือบ 1 ใน 4 (ร้อยละ 22) ชำระเงินผ่านทั้งสามวิธีข้างต้นในระยะเวลาเดียวกัน

นั่นแสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนมากมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด แต่คำถามสำคัญที่สถาบันการเงิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องถามตนเองก็คือ เราได้ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของอี-เพย์เมนต์ และค่าเสียโอกาสจากการใช้เงินสดมากพอหรือยัง

อี-เพย์เมนต์เริ่มเป็นที่นิยม: ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53 ได้ใช้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (PHOTO CREDIT: Bangkok Post)

เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวผมเองได้มีโอกาสพูดคุยกับคนขับแท็กซี่ ซึ่งยังคงเลือกรับค่าโดยสารเป็นเงินสด ทำให้ในแต่ละวัน เขาต้องแวะธนาคารหรือร้านสะดวกซื้อหลายรอบ เพื่อเตรียมเงินสดสำหรับทอนให้ผู้โดยสาร เมื่อเล็งเห็นว่า เขาสามารถประหยัดเวลาหลายชั่วโมง หากเลือกใช้วิธีการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด

ผมจึงเล่าให้เขาฟังถึงประโยชน์ของอี-เพย์เมนต์และการชำระเงินผ่านมือถือ รวมถึงชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เขาเคยต้องเสียไปเพื่อเตรียมเงินสดเพื่อทอนผู้โดยสาร สามารถนำมาใช้ในการรับลูกค้าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวอย่างมีคุณภาพขึ้นอีกด้วย

บทสนทนานี้ทำให้เขาฉุกคิดในมุมมองที่ต่างออกไป และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนประเทศให้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างมั่นคง

 

ร่วมสร้างโซลูชั่นด้านการชำระเงินที่เหมาะสม

ในยุคที่สตาร์ทอัพ สถาบันทางการเงินและเครือข่ายการชำระเงินมากมาย ต่างแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอี-เพย์เมนต์ เราจึงเห็นโซลูชั่นด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ๆ มากมายในตลาด แต่มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ติดอยู่ในกระแสสังคมไร้เงินสด แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์บริการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่สามารถชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้

ผลสำรวจพบว่า 3 ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคพิจารณาเมื่อจะหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือ ได้แก่ ราคาถูก สะดวกสบาย และรวดเร็ว ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการพูดถึงในสังคม เช่น ความล้ำหน้าด้านนวัตกรรม หรือแบรนด์เป็นที่รู้จัก กลับไม่ได้มีอิทธิพลมากนัก

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าประเทศไทยได้วางรากฐานที่แข็งแรงในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีการชำระเงินผ่านมือถือ โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

3 ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคพิจารณาเมื่อจะหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือ ได้แก่ ราคาถูก สะดวกสบาย และรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยอื่น เช่น ความล้ำหน้าทางนวัตกรรม อาจไม่ได้มีผลมากนัก (PHOTO CREDIT: Bangkok Post)

ที่น่ายินดีก็คือ ผลสำรวจเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราการชำระเงินผ่านมือถือด้วยวิธีต่างๆ ของผู้บริโภคไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้รับความนิยมสูงสด โดยผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 75 ใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตามมาด้วยการโอนเงินระหว่างบุคคล (ร้อยละ 67) และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (ร้อยละ 35)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคจะนิยมชำระเงินผ่านมือถืออย่างแพร่หลายขึ้น แต่เครือข่ายร้านค้าที่รองรับอี-เพย์เมนต์ยังคงมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้ คนไทยยังคงรู้สึกว่าการชำระเงินด้วยเงินสดยังเป็นวิธีสะดวกสบายกว่าเมื่อซื้อของที่มีมูลค่าไม่สูงนัก สิ่งนี้อาจเป็นปัจจัยที่ชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดของไทยได้

สังคมจึงต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สถาบันการเงิน และระบบการชำระเงิน ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับร้านค้า เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อและมีความปลอดภัย รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านค้าให้ครอบคลุมประเภทสินค้าที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอีกด้วย

 

Vincent Ling รองผู้จัดการทั่วไป ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine