เศรษฐกิจ 4.0 ในความหมายของ Davos - Forbes Thailand

เศรษฐกิจ 4.0 ในความหมายของ Davos

FORBES THAILAND / ADMIN
04 May 2019 | 02:24 PM
READ 6714

ผมมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับโลก World Economic Forum (WEF) ที่ Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมที่ผู้นำประเทศ ผู้นำทางธุรกิจ และผู้นำทางความคิดจากทุกมุมโลกกว่า 5,000 คนมารวมตัวกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์

การประชุมที่ Davos เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น อันจะนำไปสู่ภาวะของโลกที่เราอยากให้ลูกหลานของเราได้อยู่กันต่อไปหรือในพันธกิจของ WEF คือ “Committed to improving the state of the world by engaging business, political, academic, and other leaders of society to shape global, regional, and industry agendas” Davos เป็นหมู่บ้านสกีเล็กๆ บนเทือกเขาสวิสแอลป์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมือง Zurich ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินประมาณ 3 ชั่วโมง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 เมตร ซึ่งก็สูงใกล้เคียงกับดอยอินทนนท์ของไทย เป็นเมืองที่มีทางเข้าทางเดียว คงทำให้การรักษาความปลอดภัยทำได้ง่าย และเป็นเมืองเล็กที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ และก็มีข้อดีคือทำให้ผู้นำต่างๆ สามารถนัดพบกันนอกรอบ เพื่อเจรจากันได้โดยสะดวก ส่วนการประชุมดังกล่าวนี้ได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2514 หรือเมื่อ 48 ปีที่แล้ว โดยในการจัดครั้งแรกนั้นจัดภายใต้ชื่อ European Management Forum ซึ่งเป็นการนำผู้นำทางธุรกิจร่วม 500 ท่านของบริษัทชั้นนำของยุโรปมาแลกเปลี่ยนความคิดและนำปรัชญาธุรกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำในสมัยนั้นมาแลกเปลี่ยนกัน ในปีถัดๆ มาเมื่อมีเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองโลกเกิดขึ้น ก็มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือจนกระทั่งในปี 2530 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น WEF และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากด้านต่างๆ ทั่วโลกมาพบปะ แลกเปลี่ยน และถกแถลงความคิดเห็นต่างๆ ตั้งแต่ก่อตั้งมาร่วม 50 ปี WEF ได้จุดประกายหลายๆ อย่างให้โลกของเรา ไม่ว่าด้านการบริหาร ที่ในปี 2514 แนะนำเรื่อง stakeholders แทน shareholder ซึ่งหมายถึงการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว ให้บริษัทดูแลพนักงาน ชุมชนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน หรือทางด้านการเมือง เรื่องการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางช่วงทศวรรษ 80 ถึงเหตุการณ์ของ Nelson Mandela ในช่วงทศวรรษ 90 และการเชิญเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือเข้าร่วมประชุมด้วยในปี 2559 ในส่วนของเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้จุดประกายเรื่อง "การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ" ตั้งแต่ปี 2547 ผ่าน Partnering Against Corruption Initiative จนถึง Fourth Industrial Revolution หรืออุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2560ที่เราเริ่มรู้จักกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทยในปีที่ผ่านมา  

Global Shaper ร่วมชี้ทิศทางของความยั่งยืน

ในวันอังคารที่เปิดการประชุมประจำปีของ WEF 2019 ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ที่เป็นผู้ก่อตั้งของสถาบัน ได้เป็นผู้ดำเนินรายการและเชิญหนุ่มสาว 6 ท่านจากทั่วทุกมุมโลกที่มีพื้นเพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางด้านงานสังคม ผู้อพยพ หรือผู้นำทางด้านธุรกิจมาคุยกันในหัวข้อ Shaping Globalization 4.0 ซึ่งเป็นมุมมองของคนรุ่นมิลเลนเนียลหรือที่มีอายุไม่เกิน 35 ปีที่หลายๆ คนเรียกตัวเองว่า “Global Shaper” หรือน่าจะแปลเป็นไทยว่าคนที่คอยตัดแต่งและชี้ชักให้โลกของเราใบนี้ดำเนินไปในทิศทางที่สมดุลมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆ แง่มุม ทำให้รู้สึกว่าเรากำลังจะมีผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยรอบด้านที่จะทำให้โลกใบนี้ยั่งยืน โดยไม่ยึดติดกับผลลัพธ์ด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ
Global Shapers ทั้ง 6 คนในงานประจำปีของ WEF 2019 ใน Davos ได้แก่ Basima Abdulrahman วิศวกรชาวอิรักที่มีแพชชั่นด้านงานดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม, Juan David Aristizábal ชาวโคลัมเบียผู้ก่อตั้ง Los Zúper องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อฝึกทักษะให้คนรุ่นใหม่, Noura Berrouba ชาวสวีเดนจาก European Youth Parliament (EYP), Julia Luscombe ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ Feeding Hunger องค์กรเพื่อต่อสู้กับความอดอยากในสหรัฐฯ, Mohammed Hassan Mohamud ผู้อำนวยการค่ายผู้อพยพ Kakuma ทางเหนือของเคนยา และ Akira Sakano ประธานบอร์ด Zero Waste Academy ในญี่ปุ่น เพื่อผลักดันประเด็นด้านความยั่งยืน (PHOTO CREDIT: globalshapers.org)
จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ เขาได้อภิปรายกันถึงความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 โดยอุตสาหกรรม 4.0 เริ่มจากการที่อุตสาหกรรมครั้งแรกพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ เข้าสู่ระยะที่ 2 คือเมื่อมีการผลิตมวลมากหรือ mass production จนเข้าสู่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในระยะที่ 3 และปัจจุบันอุตสาหกรรม 4.0 แต่เขาอธิบายพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจว่า โลกเราเริ่มจากเศรษฐกิจที่มีการเกษตรเป็นตัวนำ แล้วเข้าสู่ช่วงที่ 2 เมื่อมีปฏิวัติอุตสาหกรรมและในยุคที่ 3 เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเมื่อปลายสหัสวรรษที่ผ่านมา และในยุคที่ 4 ที่เรียกว่า Impact Economy (ยังไม่สามารถหาคำแปลที่เหมาะสม) แต่หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วม มีความสมดุลระหว่างผลตอบแทนเชิงพาณิชย์และผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางด้านชีวภาพ เพศ และกายภาพเป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่นอกจากได้มีการถกแถลงตั้งแต่วันเปิด เมื่อศาสตราจารย์ Schwab พูดคุยกับ Global Shapers ในห้องสัมมนาใหญ่ จนกระทั่งถึงการประชุมย่อยตามโรงแรมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บริษัทจัดการการลงทุน บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ หรือแม้กระทั่งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นในส่วนของ social benefit หรือพูดถึง “double profit” ที่หมายถึงกำไรในเชิงพาณิชย์และกำไรทางสังคม เป็นต้น Impact Economy น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับบริษัทข้ามชาติ บริษัทจดทะเบียน หรือ SMEs และจะเข้ามาแทนที่กิจกรรม ESG หรือ CSR เนื่องจากให้ความหมายที่ครอบคลุมกว่า และผมว่า Impact Economy น่าจะเป็นการต่อยอดจาก Sustainable Development Goals หรือ SDG ของ UN Global Compact ซึ่งขออนุญาตตั้งข้อสังเกตต่อว่าน่าจะจุดประกายจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา ซึ่งเมื่อ stakeholders มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างสมดุลแล้ว เรื่องความแตกต่างทางรายได้หรือ income gap เรื่องความเสมอภาค (gender diversity) เรื่องโลกร้อน และเรื่องต่างๆ อีกมากมายก็จะได้รับการพิจารณาประกอบร่วมกับผลตอบแทนทางการเงิน เมื่อผู้บริหารตัดสินใจจะลงทุน และท้ายสุดก็จะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและโลกใบนี้ของเรา   ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ติดตามอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2562 ที่แผงนิตยสารชั้นนำหรือคลิกเพื่ออ่านในรูปแบบ e-Magazine