เศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มที่การค้นคว้าและพัฒนา - Forbes Thailand

เศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มที่การค้นคว้าและพัฒนา

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jul 2020 | 10:24 AM
READ 3345

เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในโลกธุรกิจปัจจุบัน แม้ความเป็นจริงที่ว่ากลุ่มบริษัทธุรกิจระดับโลกย่อมมีงบประมาณในการค้นคว้าวิจัยจำนวนมากและยากที่บริษัททั่วไปจะมีงบวิจัยในระดับเดียวกัน จึงถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ภาครัฐ องค์กรต่างๆ และอุตสาหกรรมต่างต้องพร้อมรับมือ ผู้เขียนขอย้อนรอยความสำเร็จจากการค้นคว้าและพัฒนาครั้งสำคัญที่พลิกโลกและอุตสาหกรรม

  ที่การค้นคว้าและพัฒนา เครือข่าย “Deep Space Network” ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นระบบสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศอพอลโล 11 กับหอควบคุมการบินที่เมือง Houston ผ่านสถานีภาคพื้นดินที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งอยู่ห่างกัน 120 องศาละติจูด ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณสื่อสารและการแพร่ภาพช่วงนาทีการก้าวลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ก้าวแรกของมนุษย์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 โดยอพอลโลนับเป็นโครงการอวกาศที่ยิ่งใหญ่ของนาซา ซึ่งใช้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญถึง 400,000 คน และใช้งบประมาณเกือบ 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือ 2.6 แสนล้านเหรียญในปัจจุบัน) โครงการประวัติศาสตร์ในปี 1969 ได้กำเนิดสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยนับแต่จรวด “Saturn V” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการส่งดาวเทียมและกระสวยอวกาศ การพัฒนาให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็ก เบาทำงานได้เร็ว และทนทาน ระบบเครือข่ายไฮสปีดที่เชื่อมต่อทั่วโลก ชุดนักบินอวกาศและรถเพื่อสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ วัสดุเศรษฐกิจดิจิทัลเริ่มที่การค้นคว้าและพัฒนาทนความร้อนที่ถูกใช้ในชุดดับเพลิงจนถึงทุกวันนี้ ตลอดจนกรรมวิธีการถนอมอาหารเพื่อป้องกันการบูดเสีย รวมถึงแนวคิดและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมอวกาศและคอมพิวเตอร์ที่ถูกต่อยอดจนถึงปัจจุบัน ความพยายามของมนุษย์เพื่อไปให้ถึงดวงจันทร์เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในระหว่างทางเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย มนุษย์ได้สร้างเทคโนโลยีที่เพิ่มมูลค่าและให้ประโยชน์มากมายต่ออุตสาหกรรม ตอกย้ำความเป็นเลิศของประเทศ จนสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังเกิดภาพลักษณ์ของชุมชน นักวิจัยล้ำสมัย จนเหล่านักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกหนแห่งต้องการเข้าร่วมทำงาน ช่วยเพิ่มทรัพยากรมนุษย์กลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมแห่งอนาคต   ค้นคว้าเพื่อเปิดทาง เมื่อ iPhone เริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก จนสร้างยอดจำหน่ายหลายล้านเครื่องในปี 2008 Steve Jobs เห็นว่า Apple ควรออกแบบชิพขึ้นใช้เองแทนที่จะผลิตจากซัมซุง แอปเปิ้ลจึงเริ่มออกแบบชิพ A4 เพื่อใช้กับไอโฟน 4 และไอแพดรุ่นแรกจนสำเร็จในปี 2010 โดยในชิพถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันพิเศษที่เรียกว่า “system on a chip (SoC)” เพื่อเก็บข้อมูลการเงิน ข้อมูล Touch ID หรือ Face ID ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์จากแอปเปิ้ล ปัจจุบันชิพ A13 ของไอโฟน 11 Pro บรรจุด้วยทรานซิสเตอร์ 8.5 พันล้านตัวที่มาพร้อมกับ CPU 6 ตัวซึ่งมี quad-core graphics processor, image processor, LTE modem และ octa-core neural engine สำหรับประมวลผล AI ที่ปฏิบัติงานได้ถึง 5 ล้านล้านครั้งต่อวินาที แม้จะทราบว่าอุตสาหกรรมการออกแบบชิพต้องใช้เงินลงทุนสูง และเสี่ยงต่อการล้มเหลว แต่แอปเปิ้ลก็ตัดสินใจลงทุนกับความท้าทายครั้งสำคัญจนสามารถออกแบบชิพได้เอง ช่วยลดจุดอ่อนของธุรกิจ และเพิ่มความคล่องตัวให้การผลิต จนทำให้ Apple กลายเป็นบริษัทดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญในต้นปี 2020   พัฒนาเพื่อโอกาส ในช่วงปี 2000 Jeff Bezos ซีอีโอและทีมงานของ Amazon สามารถแก้ปัญหาสำคัญของแพลตฟอร์ม amazon.com ได้สำเร็จ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการจัดการของระบบเซิร์ฟเวอร์และระบบฐานข้อมูล ซึ่งผลจากการแก้ปัญหาดังกล่าวได้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้อเมซอนเป็นได้มากกว่าเว็บไซต์ขายหนังสือ โดยอเมซอนได้ริเริ่มให้บริการเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์และทรัพยากรคอมพิวเตอร์ตลอดจนแอปพลิเคชันทางธุรกิจแก่คู่ค้าทางออนไลน์ตามการใช้งานที่ต้องการอีก ทั้งยังลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากกับการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งและดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยความนิยมที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ Amazon เปิดบริการ “Amazon Web Services (AWS)” อย่างเป็นทางการในปี 2006 และเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของธุรกิจที่ต้องใช้ดิจิทัล และได้เปลี่ยนแนวคิดวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์และการใช้แพลตฟอร์มตลอดไป Amazon เตรียม AWS เพื่อรับมือกับนวัตกรรมอย่าง AI, IoT, Blockchain และ BioTech ที่กำลังมาถึง ซึ่งต่างเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องเก็บและจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลในลักษณะบิ๊กดาต้าควบคู่กับการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังสูง เพื่อประมวลผลและและการวิเคราะห์ข้อมูล ปัจจุบัน AWS มีดาต้าเซ็นเตอร์ถึง 69 แห่งใน 22 พื้นที่ในโลก (geographic region) และยังเป็นผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งอันดับ 1 ที่ทำรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2019 การขยายผลของธุรกิจช่วยวางพื้นฐานด้านเทคโนโลยี งานวิจัย และสร้างทีมวิศวกรให้อเมซอน จนกลายเป็นผู้นำทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง พร้อมต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ไม่ว่าจะเป็นวอยซ์แอสซิสแทนต์แนวหน้าอย่าง Alexa อุปกรณ์ยอดนิยมอย่าง echo และผลิตภัณฑ์ smart home ที่ใช้นวัตกรรมกับ AI และ IoT   คิดค้นเพื่อแตกต่าง การประดิษฐ์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ให้สามารถอัพเดตซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของรถได้เช่นเดียวกับที่เกิดในสมาร์ทโฟนผ่านเทคโนโลยี “Over-The-Air (OTA)” เป็นวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้าของ Elon Musk และทีมงาน Tesla และเป็นฐานสำคัญของการต่อยอดสู่นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับ (AV) ที่ทำให้เทสล่าทิ้งห่างคู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์จนยากจะปรับการผลิตได้ทัน อีลอนได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่มักลงมือค้นคว้าและออกแบบด้วยตัวเองทำให้เข้าใจพื้นฐานของธุรกิจ และสามารถผลักดันการพัฒนาและกระบวนการผลิตไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จรวด หรือ loop ได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทีมงานธุรกิจต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านการผลิตและเทคโนโลยี เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่พร้อมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการที่แตกต่างซึ่งเพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจ   เริ่มต้นเพื่อต่อยอด กลุ่มบริษัทธุรกิจระดับโลกย่อมมีงบประมาณในการค้นคว้าวิจัยจำานวนมากและยากที่บริษัททั่วไปจะมีงบวิจัยในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจำเป็นต้องเติบโตและอยู่รอด โดยเฉพาะในยามที่นวัตกรรมดิจิทัลให้โอกาสใหม่กับธุรกิจพร้อมกับสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ภาครัฐ องค์กรต่างๆ และอุตสาหกรรมต่างต้องพร้อมรับมือ โดยเริ่มจากการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่นำเอานวัตกรรมมาใช้ตลอดจนขยายฐานความรู้ เพิ่มความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ออกแบบผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการผลิตที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าและการค้า เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางอุตสาหกรรม ขยายสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล   บทความโดย อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล (พอลลี่) Digital Competitiveness Advisor อ่านเพิ่มเติม: ปัญญาประดิษฐ์ของ “EquBot” พิสูจน์ว่า คอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมจุดนับล้านและฉลาดกว่ามนุษย์ได้
คลิกอ่านบทความฉบับเต็ม ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine