เทรนด์การขนส่งกับมาตรฐาน ICAO - Forbes Thailand

เทรนด์การขนส่งกับมาตรฐาน ICAO

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Nov 2019 | 11:30 AM
READ 12048
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันคลื่นการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยดุเดือดและขยายตัวอย่างเข้มข้น ด้วยกำลังซื้อและการขยายตัวของตลาดเกิดใหม่ หรือ emerging market ในภูมิภาคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มทุนใหญ่และผู้พัฒนาจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาจับจองเป็นเจ้าตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทย ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดที่ผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งและไปรษณีย์ต่างงัดกลยุทธ์หลากหลายช่วงชิงฐานผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการบริการ แคมเปญและโปรโมชั่นที่คลอดออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่สามารถใช้เป็นอาวุธสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน คือ การขนส่งในประเทศและต่างประเทศที่ถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

3 มาตรการความปลอดภัย

ในยุคที่การซื้อขายสินค้าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่ปลายนิ้วบนโลกออนไลน์ ทำให้การขนส่งไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ และความปลอดภัยของการขนส่งระหว่างประเทศทวีความสำคัญมากขึ้นส่งผลให้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยการขนส่งข้ามประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้ใช้บริการพิจารณา หรือให้ความสำคัญในการเลือกใช้บริการ โดยปัจจุบันองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้มีข้อกำหนดการรักษาความปลอดภัยสากลด้านการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือการรับรองการไปรษณีย์ควบคุมขอบข่ายของการไปรษณีย์ควบคุม คือการได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดระดับสากล ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการและสายการบินพาร์ทเนอร์ด้วยการตรวจสอบพัสดุและสิ่งของทุกชิ้นที่จะบรรทุกใต้อากาศยานเข้มงวดก่อนออกเดินทาง ผ่าน 3 มาตรการความปลอดภัยการขนส่งพัสดุทางอากาศระหว่างประเทศ ประกอบด้วย มาตรฐานควบคุมการขนส่งพัสดุทางอากาศ มาตรฐานการรับรองบุคลากร และมาตรฐานความปลอดภัยสถานที่ มาตรฐานควบคุมการขนส่งพัสดุทางอากาศ หรือการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งพัสดุทุกชิ้นอย่างเข้มงวด ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ ก่อนส่งมอบให้สายการบิน ด้วยการเอกซเรย์สิ่งของก่อนขึ้นอากาศยานจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ (1) การเอกซเรย์แบบรายถุงเมื่อพัสดุมาถึงศูนย์ไปรษณีย์ (2) การเอกซเรย์แบบรายชิ้นในขั้นตอนการคัดแยก และ (3) การเอกซเรย์แบบรายถุงที่ระบุปลายทางพร้อมประทับตรารับรองสถานะด้านการรักษาความปลอดภัยของพัสดุ ก่อนนำสิ่งของขึ้นอากาศยาน ขณะที่ มาตรฐานการรับรองบุคลากรจาก ICAO ได้แก่ การให้ความสำคัญกับมาตรฐานรักษาความปลอดภัยด้านบุคคล ด้วยการตรวจค้นร่างกายผู้ผ่านเข้าออกพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มาติดต่อ เพื่อป้องกันการนำวัตถุต้องห้ามเข้าไปในศูนย์ไปรษณีย์ฯ พร้อมฝากโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ณ จุดคัดกรอง เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน นอกจากนั้น มาตรฐานความปลอดภัยสถานที่ยังหมายถึงการติดตั้งระบบควบคุมการเข้าออกแบบอัตโนมัติ (แบบสแกนลายนิ้วมือ) สำหรับใช้เป็นการควบคุมการผ่านเข้าออกพื้นที่ควบคุมของศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ ติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีความคมชัดระดับ HD กว่า 36 ตัว ครอบคลุมทุกพื้นที่ปฏิบัติงาน และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ลาดตระเวนโดยรอบพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันทางเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการเขตการบินจากบุคคลอันตรายบริเวณท่าขนถ่ายสิ่งของระหว่างศูนย์ไปรษณีย์และสายการบิน รวมถึงด้านไปรษณียภัณฑ์ เช่น เก็บบันทึกข้อมูลผู้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ การใช้สายรัดพลาสติกที่มีหมายเลขกำกับ การรัดประตูห้องบรรทุกของรถขนส่งไปรษณีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีเพียงไปรษณีย์ไทยที่ได้รับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยระดับสากลแห่งแรกและแห่งเดียวของโลกในด้านการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือการรับรอง “การไปรษณีย์ควบคุม” ตามข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ รวมทั้งยังพัฒนาบริการครบวงจรและให้ความสำคัญกับระบบไอทีสามารถติดตามพัสดุได้อย่างเรียลไทม์ ลดความเสี่ยงการสูญหายของพัสดุให้เป็นศูนย์

ดีมานด์ยุคอี-คอมเมิร์ซ

จากความนิยมซื้อขายสินค้าออนไลน์ของกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนจากปริมาณชิ้นงานที่ผ่านเข้าสู่ระบบไปรษณีย์กว่า 8 ล้านชิ้นต่อวัน ผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทยกว่า 10,000 จุด ให้บริการทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศมีความสำคัญและความต้องการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จดหมาย ไปรษณียบัตร เอกสารตีพิมพ์ และไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ส่งผลให้กลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเทรนด์การส่งสินค้าและความต้องการในอนาคต นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการและสายการบินพาร์ทเนอร์ให้มั่นใจได้ว่า พัสดุทุกชิ้นที่ขนส่งผ่านอากาศยานปลอดภัย กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในยุคอี-คอมเมิร์ซยังต้องมุ่งเน้นการพัฒนาการบริการที่ครบวงจรสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไทยและรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพด้วยระบบไอทีที่ทันสมัย สามารถติดตามพัสดุได้อย่างเรียลไทม์ ลดความเสี่ยงการสูญหายของพัสดุให้เป็นศูนย์ รวมถึงบุคลากรผู้ให้บริการต้องมีความรวดเร็วแม่นยำพร้อมหัวใจบริการในระดับมาตรฐานสากล ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานประจำ ธุรกิจออนไลน์อี-คอมเมิร์ซ และกลุ่มนักศึกษา ทำให้ไปรษณีย์หรือการขนส่งสินค้าต้องพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน รวมถึงการเพิ่มความสะดวกด้านการชำระเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น เช่น บริการเก็บเงินปลายทาง Cash-on-delivery (COD) สำหรับไปรษณีย์ไทยได้เปิดให้ผู้รับปลายทางสามารถใช้บริการจ่ายเงินกับเจ้าหน้าที่นำจ่ายหลังจากรับพัสดุผ่านรูปแบบการชำระเงิน 3 ช่องทาง ได้แก่ เงินสด, mobile banking และแอปพลิเคชัน ทั้งยังสามารถใช้แอปพลิเคชันทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น การชำระค่าบริการไปรษณีย์ จ่ายบิล ชำระค่าสินค้าและบริการอื่นๆ โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารต่างๆ และตรวจสอบการทำธุรกรรม การขอประวัติการทำรายการ บริการเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น แม้ในอนาคตการแข่งขันของผู้ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์จะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ถือเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับมาตรฐานหรือการให้บริการที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทางเลือกในการใช้บริการได้ตอบโจทย์ตรงใจมากขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์ตลาดอี-คอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตพร้อมเชื่อมโยงการซื้อขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพฤศจิกายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine