กู้ซื้อบ้าน ผ่านหรือไม่ผ่าน สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อม ซึ่งในการยื่นกู้นั้น ทางสถาบันการเงินจะแบ่งคุณสมบัติของผู้กู้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ที่มีรายได้ประจำหรือเงินเดือน และ เจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว
กู้ซื้อบ้าน มีข้อแตกต่างของผู้มีรายได้ประจำ VS เจ้าของกิจการ โดยในกรณีของผู้ที่มีรายได้ประจำหรือเงินเดือน จะมีสลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน เอกสารแสดงการเดินบัญชี (Statement) ที่มีการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ทำให้ทางสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบรายได้และสถานะทางการเงิน เพื่อประเมินความพร้อมของผู้กู้ได้ง่าย ช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน
ขณะที่เจ้าของกิจการหรือผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว โอกาสที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน อาจเป็นไปได้ยากกว่า ด้วยข้อจำกัดในหลายเรื่อง โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่รายได้ประจำ และถ้าหากไม่มีการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอด้วยแล้ว จะทำให้ไม่สามารถสะท้อนรายได้ และประเมินความพร้อมได้ยาก อีกทั้งยังมีเอกสารสำคัญที่ต้องต้องเตรียมให้ครบถ้วนเพื่อยื่นกับทางสถาบันการเงิน
6 อุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อ "กู้ซื้อบ้าน"
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัย
DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้ร่วมทำแบบสำรวจกว่า 1,000 คน พบว่า ผู้บริโภคมองอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความยากในการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน มีดังนี้
- 60% งานและเงินเดือนที่ไม่มั่นคง
- 45% สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูง การชำระหนี้ต่ำ
- 34% ไม่สามารถวางเงินดาวน์ได้
- 33% ขาดเอกสารที่ช่วยสนับสนุนการขอกู้สินเชื่อบ้าน
- 28% ไม่คุ้นเคยกับงานเอกสาร
- 21% มีประวัติการกู้ยืมค่อนข้างมาก
ความยาก-ง่ายในการขอสินเชื่อบ้าน สัมพันธ์กับช่วงอายุและรายได้
หากโฟกัสที่ช่วงอายุและระดับรายได้ พบว่า ช่วงอายุ 22-29 ปี อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ไม่คุ้นเคยกับเอกสาร มากที่สุดร้อยละ 42 เนื่องจากเป็นวัยเริ่มต้นทำงาน และยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการยื่นกู้สินเชื่อบ้านหลังแรก
ขณะที่ช่วงอายุ 40-49 ปี อุปสรรคจะอยู่ที่ไม่สามารถวางเงินดาวน์ได้มากที่สุดร้อยละ 38 เพราะถึงแม้จะมีรายได้ขั้นต่ำเพียงพอตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการวางแผนเก็บออมเงินก้อนไว้สำหรับเป็นเงินดาวน์
ช่วงอายุ 50-59 ปี มองว่างานและเงินเดือนที่ไม่มั่นคง เป็นอุปสรรคสำคัญ ถึงร้อยละ 67 เนื่องจากเป็นวัยใกล้เกษียณ โอกาสที่สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อจึงลดลง อาจต้องมองหาสินเชื่อบ้านที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มลูกค้าวัยใกล้เกษียณหรือผู้สูงอายุ
เช่นเดียวกับวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป มองว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูง ทำให้การชำระหนี้ต่ำ เป็นอุปสรรคสำคัญในการกู้ซื้อบ้าน มากที่สุดถึงร้อยละ 63 รองลงมา คือ ขาดเอกสารที่ช่วยสนับสนุนการขอกู้สินเชื่อบ้านร้อยละ 38 และมีประวัติการกู้ยืมค่อนข้างเยอะร้อยละ 38 เช่นเดียวกัน
งานที่ไม่มั่งคงและประวัติเครดิตไม่ดี กู้ซื้อบ้าน ยาก
นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่างานและเงินเดือนที่ไม่มั่นคง รวมถึงสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูง ทำให้การชำระหนี้ต่ำ หรือมีประวัติเครดิตไม่ดี ส่งผลให้การขอสินเชื่อบ้านนั้นยากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากผู้กู้ติดภาระการผ่อนของชิ้นใหญ่ เช่น รถยนต์ หรือมีหนี้ในบัตรเครดิต ก็จะถูกนำมาคิดรวมในการปล่อยกู้ด้วย หากมีหนี้มากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ โอกาสถูกปฏิเสธก็มีสูง
สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มเจ้าของการกิจการ ผู้ประกอบการรายย่อย SME ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สถาบันการเงินจึงเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงเครดิตของลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นเป็นพิเศษในการปล่อยสินเชื่อ และมุ่งเน้นลูกค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะกลุ่มลูกค้าชั้นดีมีไม่มาก
เจ้าของกิจการเตรียมความพร้อมอย่างไรให้กู้บ้านผ่านฉลุย
ในการขอสินเชื่อบ้าน แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน แต่อีกส่วนที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมของผู้กู้ โดยเฉพาะเอกสารสำคัญต่างๆ ดังนี้
– ทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ ของกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งรายละเอียดในทะเบียนการค้าจะระบุว่ากิจการที่ทำอยู่นั้นคืออะไร และวันที่จดทะเบียน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าประกอบกิจการมานานแค่ไหน
– สัญญาเช่า เช่น เปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้า เช่าร้านค้าในตึกแถว เอกสารสัญญาเช่าจะช่วยบอกได้ว่ากิจการตั้งอยู่ที่ใด ทำมาแล้วนานแค่ไหน โดยอาจใช้สัญญาเช่าที่ทำไว้ในอดีตควบคู่กัน
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement) ซึ่งนอกจากจะช่วยประเมินให้เห็นว่ากิจการมีรายได้เท่าไรแล้ว ยังสะท้อนได้ว่ากิจการประกอบการค้าเป็นอย่างไร เช่น ได้รับเงินรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยการเดินบัญชีที่ดีควรฝากเงินหรือถอนเงินตามรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และไม่ตกแต่งบัญชี โดยธนาคารจะพิจารณารายการเดินบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน (ในนามส่วนบุคคลและกิจการ)
- เอกสารเพิ่มเติมที่ช่วยสะท้อนรายได้ของกิจการ เช่น บิลการค้า สำหรับกิจการที่ทำการค้าแล้วมีการออกบิลหรือใบเสร็จให้กับลูกค้า หรือใบเสร็จที่ได้จากการซื้อสินค้ามาขาย เอกสารการเสียภาษี เช่น ภพ. 30 สำหรับกิจการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เชื่อว่าข้อมูลข้างต้นน่าจะเป็นเทคนิคให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการรายย่อย SME สามารถเตรียมความพร้อมในการกู้ซื้อบ้าน โดยเฉพาะในเรื่องของเอกสารที่แสดงรายได้และสถานะทางการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับการอนุมัติง่ายขึ้น
DDproperty.com เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ที่รวบรวม ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ทั้งไทยและอังกฤษ ไว้กว่า 10,000 บทความ
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine