เมื่อสองปีที่แล้วขณะที่ผมอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน ผมไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและได้นำเหรียญ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับแคชเชียร์แทนที่จะเป็นเหรียญ 2 ยูโร ทางแคชเชียร์จึงส่งคืนให้ทันทีและบอกกับผมว่านี่ไม่ใช่เหรียญที่ถูกต้องและพวกเขาไม่สามารถรับเหรียญชนิดนี้ได้ เมื่อผมทราบว่าเหรียญที่ให้ไปนั้นผิด ผมก็เลยเปลี่ยนให้ใหม่เป็นเหรียญที่ถูกต้อง เหรียญสองอย่างนี้ (เหรียญ 1 ดอลลาร์และเหรียญ 2 ยูโร) มีขนาด น้ำหนัก และวัสดุที่ทำคล้ายคลึงกันมาก ทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถึงไม่ยอมรับเหรียญที่คล้ายกัน
เป็นไปได้ว่าเพราะเหรียญสองแบบนี้มีค่าไม่เท่ากัน แต่ถึงแม้ว่าผมจะให้เหรียญ 1 ดอลลาร์จำนวนห้าเหรียญแทนเหรียญ 2 ยูโร ก็ไม่ได้หมายความว่าแคชเชียร์จะรับเหรียญเหล่านี้เช่นกัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครในยูโรโซนที่จะยอมรับเหรียญเหล่านี้ในการแลกเปลี่ยนทั่วไป ส่วนการที่จะนำเหรียญไปแลกเปลี่ยนที่ธนาคารก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกันเพราะอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสูงมากและไม่คุ้มเลยหากต้องการแลกเปลี่ยนจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย
ระบบเงินตราทั้งหมดของเรานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือและความมีประสิทธิภาพ หากไม่มีความน่าเชื่อถือ ก็คงไม่มีใครยอมแลกเศษกระดาษ (หรือเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์) กับสิ่งที่เราจะซื้อ ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาสามารถนำเงินเหล่านี้ไปใช้ได้ในการดำเนินธุรกิจและใช้จ่ายในสิ่งของที่พวกเขาต้องการต่อไปได้ ส่วนความมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันแล้วนั้นเป็นส่วนสำคัญในการลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยน วิวัฒนาการของเงินตราในระบบแลกเปลี่ยนทั้งหมด ตั้งแต่เหรียญทองและเหรียญเงิน ไปเป็นเงินที่มีการรับรองด้วยโลหะที่มีค่าและไปสู่เงินที่ออกโดยรัฐบาล ก็เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเงินตราจะยังมีการวิวัฒนาการเพื่อเพิ่มความมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนต่อไปเรื่อยๆ แนวคิดในการใช้สกุลเงินดิจิทัลคงจะเป็นขั้นตอนวิวัฒนาการถัดมาที่สมเหตุสมผลเพราะสกุลเงินในรูปแบบนี้จะเป็นการนำตัวกลางในการแลกเปลี่ยนออกและช่วยลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องเมื่อเงินมีการเปลี่ยนมือได้อย่างมาก สกุลเงินเหล่านี้นั้นยังช่วยลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงและการปลอมแปลงได้อีกด้วย
สกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในตอนนี้นั้นก็คือ
บิทคอยน์ (bitcoin) โดยที่เทคโนโลยีพื้นฐานของตัวบิทคอยน์ก็คือ
บล็อกเชน (Blockchain) ตัวบล็อกเชนเองนั้นก็มีความแข็งแกร่งและจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญของอนาคตจนอาจเรียกได้ว่าเป็นอินเทอร์เน็ตตัวถัดไปเลยก็ว่าได้ สิ่งที่อินเทอร์เน็ตทำกับวงการตีพิมพ์ก็เหมือนกับสิ่งที่บล็อกเชนสามารถทำกับวงการการเงินได้ โดยบล็อกเชนสามารถกระจายอำนาจสิ่งหลายสิ่งตั้งแต่สัญญาไปจนถึงกรรมสิทธิ์ การจัดการข้อมูลประจำตัว และอื่นๆ อีกมากมาย
ความเป็นไปได้ในอนาคต
ในอนาคต ธนาคารกลางและกลุ่มธนาคารจะสามารถสร้างสกุลเงินดิจิทัลด้วยตัวเองโดยการใช้
แฮชเข้ารหัส (Cryptographic Hash) ได้ ซึ่งหมายความว่าเงินจะถูกสร้างโดยหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ การทำธุรกรรมจะถูกรับรองโดยหน่วยงานเหล่านี้ก่อนที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชนซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงต่างๆ เช่นการชำระเงินสองครั้งซ้อน นี่จะคล้ายกับตัวเงินที่เรานำไปหมุนเวียนเพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดและจะถูกดูแลรักษาไว้บนบัญชีแยกประเภทสาธารณะ ตัวเงินแบบใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพทุกรูปแบบตามที่บล็อกเชนมี เช่น ความโปร่งใส การทำธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้น ขจัดตัวกลาง และลดความเสี่ยงจากการปั่นราคา ตัวเงินนี้จะมีความหน้าเชื่อถือเพราะถูกสร้างโดยหน่วยงานกลาง (หรือกลุ่มหน่วยงาน) ทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมปริมาณเงินในตลาดได้
แล้วบทบาทของเหล่าธนาคารในยุคแห่งสกุลเงินดิจิทัลแบบใหม่นี้จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้จะต้องมีการอภิปรายเรียกร้องให้มีการทบทวนในตัวเองและทบทวนเป็นอย่างมาก ผมสามารถบอกได้เลยว่า แม้สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะทำให้บทบาทของธนาคารในการเป็นตัวกลางทางการเงินในการดำเนินการการชำระเงินนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ธนาคารหรือกลุ่มสถาบันที่คล้ายกันก็จะยังคงต้องทำหน้าที่รวบรวมและกระจายความเสี่ยง ธนาคารในอนาคตอาจจะไม่เหมือนกับธนาคารทั่วไปที่เรารู้จักในตอนนี้โดยจะกลายเป็นบริษัทที่มีความซับซ้อนและมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่าเดิม การให้ระบบและคอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวเอง และการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้ลูกค้าทำการตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีเหตุผล สิ่งนี้ยังรวมไปถึงการช่วยลดความเสี่ยงและการจัดการประวัติของประวัติข้อมูลของลูกค้าเช่นกัน
จะไม่เป็นที่แปลกใจเลยถ้าบริษัท Fintech ในวันนี้จะกลายไปเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารแบบใหม่นี้จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนเงินตราไปทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ
อนาคตของสกุลเงินดิจิทัลดูมีความสดใสซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ดี การต่อแถวยาวๆ เพื่อรอชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ตและความกังวลเกี่ยวกับเหรียญและธนบัตรนั้นเป็นจุดที่น่าหนักใจในยุคปัจจุปันของเรา หวังว่าคนรุ่นใหม่จะไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับตัวเงินที่จับต้องได้อีกต่อไป สภาพของตัวเงินนั้นอาจจะยังมีการวิวัฒนาการต่อไปแต่หลักการที่อยู่เบื้องหลังของการใช้และการยอมรับตัวเงินที่กระกอบไปด้วยความน่าเชื่อถือและความมีประสิทธิภาพนั้นจะยังดำรงอยู่เหมือนเดิม สกุลเงินในอนาคตก็จะยังคงมีพื้นฐานของหลักการเหล่านี้ต่อไป
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
Managing Director
Coins.co.th