สตาร์ทอัพ "อิสราเอล" โอกาสทองของนักลงทุนในยุคดิจิทัล - Forbes Thailand

สตาร์ทอัพ "อิสราเอล" โอกาสทองของนักลงทุนในยุคดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Jan 2020 | 10:00 AM
READ 6897

ในแต่ละปีมีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อพูดถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสตาร์ทอัพอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมานี้ อิสราเอล กลับเป็นที่พูดถึงอย่างมากในฐานะชาติแห่งสตาร์ทอัพ (startup nation)” จนได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตด้านนวัตกรรมเป็นอันดับ 1 ในปี 2562 โดย World Competitiveness Ranking – IMD Business School

แม้ว่า อิสราเอล จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทราย ล้อมรอบด้วยความขัดแย้งและสงคราม มีประชากรเพียง 8 ล้านกว่าคน แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจนสามารถสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในระยะเวลาราว 70 ปีเท่านั้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ จนได้รับการจัดอันดับคุณภาพของสถาบันวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับ 1 เช่นเดียวกัน

แหล่งบ่มเพาะแบรนด์ดิจิทัล และเทคโนโลยีระดับโลก

รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ (innovation culture) และยังสร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยี หรือ tech ecosystem เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศด้านบุคลากร การศึกษา ธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีบริษัทข้ามชาติชั้นนำกว่า 350 รายในหลากหลายอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี และสร้างฐานการผลิตในประเทศ อาทิ Microsoft, Google, Alibaba, eBay, Apple, Intel, IBM, Siemens, Philips, Pfizer เป็นต้น

อีกทั้งยังเปิดกว้างต่อการตั้งกองทุนส่วนบุคคลและการร่วมลงทุน ซึ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศอิสราเอลและธุรกิจสตาร์ทอัพมีศักยภาพการเติบโตสูง นักลงทุนทั่วโลกสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากทำให้ธุรกิจพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยังไปต่อได้อีกไกล จึงสะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี

เมื่อย้อนดูเศรษฐกิจของอิสราเอลในปี 2561 มูลค่า GDP อยู่ที่ 370 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการเติบโตของ Real GDP อยู่ที่ 3.3% ขณะที่ GDP per capita อยู่ที่ 37,986 เหรียญ โดยสูงสุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก และมีอัตราว่างงานเพียงแค่ 4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อิสราเอลจึงเป็นเป้าหมายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยมูลค่าการลงทุนตรงในอิสราเอลปี 2560 อยู่ที่ 129 พันล้านเหรียญ

 

A Truly Startup Nation นวัตกรรมสร้างชาติ

ด้วยนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพ บวกกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สตาร์ทอัพหน้าใหม่ในอิสราเอลจึงเกิดขึ้นปีละประมาณ 1,000 ราย หรือเรียกได้ว่าในทุกๆ 8 ชั่วโมง ทั้งยังครอบคลุมในเกือบทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startups) ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ชื่อที่คนไทยอาจคุ้นเคยกันดี ได้แก่ Waze แอปพลิเคชั่นช่วยนำทางแจ้งสภาพจราจรและอุบัติเหตุ, Viber หรือ cross-platform call & messaging provider ใช้โทรและส่งข้อความข้ามแพลตฟอร์ม โดยทั้งสองเจ้านี้ exit ไปเป็นที่เรียบร้อยในปี 2556 และ 2557 ซึ่ง Google และ Rakuten เข้ามาซื้อด้วยมูลค่าที่สูงมาก อยู่ที่ราวๆ 1 พันล้านเหรียญ และ 900 ล้านเหรียญ ตามลำดับ

นอกจากสองธุรกิจที่กล่าวไปข้างต้น สตาร์ทอัพอิสราเอลยังมีชื่อเสียงในด้านอื่นๆ อีกหลายแขนง อาทิ ฟินเทค (Fintech) ที่ใช้ AI ในขั้นตอนอนุมัติการกู้ยืมเงินออนไลน์, ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ (cyber security) การพัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามทางข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนชั้นนำ, เทคโนโลยีระบบชลประทาน (Watertech) การพัฒนาระบบการสำรองน้ำและนำน้ำเสียกลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับ 1 ในการทำ water waste treatment

บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เดินทางไปพบปะสตาร์ทอัพอิสราเอล และฟังแผนการดำเนินธุรกิจ

เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agritech) การทำ smart farming ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการจัดเก็บ และขนส่ง, นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เทคโนโลยีที่นำพืชมาใช้ในการผลิตพลาสติกและภาชนะบรรจุอาหารในระดับนาโน เป็นต้น ซึ่งเอเซีย พลัส มีโอกาสได้พบปะสตาร์ทอัพเหล่านี้และฟังแผนการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งสตาร์ทอัพอื่นๆ อีกกว่า 20 รายที่ได้คัดเลือกมาแล้ว โดยบางรายก็เป็นธุรกิจที่เราเข้าไปลงทุนเมื่อหลายปีก่อน และได้รับผลตอบแทนดีมาก

 

โอกาสมีมากแค่เลือกให้ถูก และตีโจทย์ให้แตก

สตาร์ทอัพอิสราเอลสามารถสร้าง big exits ได้ทุกปี เมื่อดูข้อมูลการ exit ในปี 2561 อิสราเอลมีมูลค่า exit per capita สูงกว่าสหรัฐฯ เกือบเท่าตัว นั่นหมายความว่า คนที่เข้าไปลงทุนได้กำไรจากการขายเงินลงทุนมหาศาล และบริษัทจากทั่วโลกก็เข้าไปลงทุนในอิสราเอลถึง 33% ซึ่งสูงกว่าการลงทุนของทั่วโลกที่มีสัดส่วน 20% อย่างเช่น ธุรกิจ Mobileye ที่พัฒนาระบบการขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ (Vision Technology for Advanced Driver Assistance Systems) สามารถสร้างมูลค่า exit ในปี 2560 ได้สูงถึง 15.3 พันล้านเหรียญ

แต่แน่นอนว่า การดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ การเรียนรู้ และการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับการที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ การคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตจึงจำเป็นต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดีเช่นกัน วิเคราะห์ทั้งตัวธุรกิจ แผนการเงิน หรือแม้แต่แนวคิดและพฤติกรรมเจ้าของ การติดตามเทรนด์ต่างๆ เพื่อมองหาความต้องการที่เกิดขึ้นทั่วโลก (market demand) นอกเหนือจากการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจสตาร์ทอัพอิสราเอล ซึ่งจะสามารถช่วยคัดกรองสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพมาให้เรา

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมการลงทุนจากทั่วโลก ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่ดี และยังเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนได้มากขึ้น แต่ต้องมั่นใจว่าเรามีข้อมูลและความรู้ที่มากเพียงพอ และต้องเป็นข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ด้วย แต่ถ้าไม่มีเวลาศึกษาด้วยตัวเอง การได้ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่ช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายการลงทุนได้เร็วยิ่งขึ้น

  อ่านเพิ่มเติม   ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2563 ได้ในรูปแบบ e-Magazine