ลงทุนในการศึกษา เพื่ออนาคตอันสดใส - Forbes Thailand

ลงทุนในการศึกษา เพื่ออนาคตอันสดใส

FORBES THAILAND / ADMIN
09 Dec 2016 | 11:53 AM
READ 3700
แนวโน้มตลาดการศึกษาระหว่างประเทศทั่วโลกนั้น มีการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนนักเรียนนานาชาติเติบโตขึ้นตามการขยายตัวของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย รวมถึงประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ บวกกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาการศึกษาต่อต่างประเทศที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองมากขึ้น เพื่อต่อยอดพัฒนาความรู้ให้สูงขึ้นและหวังสร้างโอกาสในการคว้างานดีๆ ควบคู่ไปกับการช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ในอนาคต จะเห็นได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอาเซียน ต่างมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กันคือการพัฒนาประชากรในทุกระดับชั้น ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศเพื่อยกระดับขีดการแข่งขันของตัวเองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และแน่นอนที่สุดการศึกษาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถยกระดับคุณภาพแรงงานคนให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจระหว่างประเทศดังกล่าว ได้กลายเป็นความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ให้กับตลาดการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดใหญ่ของการศึกษาระหว่างประเทศนั้นจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนีแต่ในปัจจุบันนี้ตลาดที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนักเรียนต่างชาติคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งได้มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับตลาดการศึกษาจากเอเชียเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้แล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในฝั่งยุโรปและอเมริกายังเป็นแรงขับให้ประเทศเหล่านี้เป็นตัวเปิดโลกการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มแต่มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของตัวเอง อันเกิดจากการจับจ่ายของนักศึกษาต่างชาติ ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มประเทศในเอเชียที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ อาทิ จีน ญี่ปุ่นหรือแม้แต่อินเดียเอง ก็พยายามพัฒนาหลักสูตรนานาชาติขึ้นมารองรับความต้องการของนักศึกษาในประเทศตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผ่านการนำเข้าหลักสูตร เหตุผลหลักก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ดังนั้น กลุ่มประเทศดั้งเดิมที่มีฐานตลาดเด็กต่างชาติค่อนข้างมาก จึงต้องปรับยุทธศาสตร์การทำตลาดให้เข้มข้น เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมและขยายฐานการตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อตลาดการศึกษามีการขยายตัวมากมายเช่นนี้ คำถามต่อมาคือ ตัวนักศึกษาเองจะเลือกศึกษาต่อที่ไหน? และศึกษาต่อด้านใดนี่คือโจทย์ที่น่าปวดหัวของผู้เรียนที่ต้องครุ่นคิดแต่สำหรับเด็กไทยแล้ว หากเราเอาตลาดแรงงานเป็นตัวตั้ง คำตอบอาจจะง่ายขึ้นก็เป็นได้ โดยผมเองขออ้างผลสำรวจตลาดแรงงานของ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ตลาดแรงงานในประเทศไทยในอนาคตจะมีความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และการบัญชี นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเรียนในระดับอาชีวะก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะตลาดมีความต้องการนายช่างเพื่อคุมงานนอกจากนี้ ตลาดยังมีความต้องการกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (data scientist) เพื่อทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักการตลาดด้านดิจิทัล (digital marketing) และเทคโนโลยีใหม่ด้านการเงิน (FinTech) ตามกระแสเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อเห็นภาพแนวโน้มตลาดแรงงานการตัดสินใจเลือกสาขาที่เรียนจะชัดเจนขึ้นและการเลือกประเทศที่จะไปศึกษาต่อก็จะง่ายเช่นกัน เพราะแต่ละประเทศก็มีสาขาการศึกษาที่โดดเด่นแตกต่างกันไป  

การเลือกประเทศ

การเลือกประเทศที่เหมาะสมและสาขาที่ใช่นั้น เป็นเสมือนการสร้างความมั่นคงในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง จะเห็นได้ว่า หลายประเทศชูจุดเด่นเรื่องการศึกษาเพื่อจูงใจผู้เรียนแตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี เรื่องวิชาการอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เป็นเหตุผลจูงใจนักศึกษาต่างชาติ ทว่า ยังมีปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นทำให้พวกเขาและครอบครัวตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นความน่าอยู่ของประเทศ ปัญหาก่อการร้าย ค่าเล่าเรียน หรือค่าครองชีพในเมืองที่จะไปอยู่ เพราะพวกเขาตระหนักว่าการลงทุนเพื่อการศึกษาควรได้รับผลลัพธ์คุ้มค่าที่สุด ไม่เพียงแต่ความรู้ที่ได้จากห้องเรียนแต่ประสบการณ์ชีวิตที่ดีก็ควรได้รับเช่นกัน จะเห็นได้ว่าเรื่องก่อการร้ายและเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการตัดสินใจที่สำคัญของนักศึกษาในปัจจุบัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งประเทศทางเลือกที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน นอกจากจะเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐานของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศที่สงบและสวยงาม สำคัญที่สุดคือ มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อนักศึกษาจากเอเชีย ปัจจุบันนี้ นิวซีแลนด์พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักโดยมีทรัพยากรที่สำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่ ถ่านหิน ป่าไม้ และทองมีสินค้าส่งออกคือ นมและผลิตภัณฑ์ และมีความโดดเด่นด้านการศึกษา โดยทางภาครัฐได้ให้การสนับสนุนเต็มที่เพื่อต้องการให้เกาะในขั้วโลกใต้แห่งนี้ ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาต่างชาติ ไม่ว่าจะมอบทุนการศึกษาและสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและวิชาการกับนานาประเทศ นิวซีแลนด์ก็เหมือนกับสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการให้สามารถนำไปสู่การคิดค้น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ที่เน้นพัฒนาระบบการศึกษาสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งยังกระตุ้นผู้เรียนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และหาประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมที่แตกต่างกันทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รวมถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมพัฒนาด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยภายในประเทศรัฐบาลได้มอบทุนพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่จำนวน 761 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์โดยเฉพาะสำหรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในการแข่งขันในระดับโลก พร้อมๆ กับการสร้างความแข็งแกร่งด้านการศึกษา เพื่อให้การลงทุนด้านการศึกษานั้นคุ้มค่าอย่างแท้จริง   โดย H.E. Mr. Ben King เอกอัครราชฑูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย