ในระบบความยุติธรรมทุกกระบวนการล้วนมีค่าใช้จ่าย ดังกรณีของคดีสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำโดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยผู้เสียหายแต่ละรายย่อมไม่คุ้มกับต้นทุนค่าใช้จ่าย อีกทั้งไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการ
ระบบคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ประเทศไทยนำมาใช้โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2558 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม ยกระดับบทบาทของทนายความ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต้องปรับตัวส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ผลประโยชน์ที่ตามมาจากการบังคับใช้ระบบคดีแบบกลุ่มนี้จะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น คดีความในชั้นศาลลดน้อยลง เห็นได้จาก “หมายเหตุ” ในหน้าสุดท้ายของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2558 ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งกล่าวไว้ว่า เหตุผลในการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่การดำเนินคดีแบบกลุ่ม เป็นกระบวนการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากสามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดี เพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี กอปรกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันการขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง ระบบคดีแบบกลุ่มนี้ ยังนำมาใช้กับคดีแพ่งต่างๆ ที่มีผู้เสียหายจำนวนมากได้ เช่น คดีแรงงานที่ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คดีฉ้อโกงในธุรกิจหลักทรัพย์ที่ผู้ประกอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีละเมิดหรืออุบัติเหตุที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้ประกอบการก่อมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม คดีความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัยที่มีการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก คดีการผิดสัญญาที่ผู้ประกอบการใช้สัญญามาตรฐานแบบเดียวกัน เช่น กรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น แล้วประเทศไทยจะได้อะไรจากระบบคดีแบบกลุ่มนี้ โดยระบบคดีแบบกลุ่มนั้น ทนายความถูกคาดหวังและส่งเสริมให้เป็น “watch dog of a society” ในการสอดส่องหาผู้ประกอบการที่ผิดสัญญาหรือทำการละเมิด เช่น ในกรณีโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ เมื่อทนายความตรวจพบการละเมิดดังกล่าวทนายความก็จะประเมินโอกาสที่จะชนะคดี หากพบว่ามีโอกาสชนะคดี ทนายความจะติดต่อทาบทามชาวบ้านท้ายน้ำกลุ่มเล็กๆ จำนวนไม่มากนัก เช่น ชาวบ้านสัก 10 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อโรงงานดังกล่าว รวมถึงขอศาลให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อให้มีผลถึงบรรดาผู้เสียหายทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้มีผลถึงชาวบ้านทุกรายที่อยู่ท้ายน้ำในช่วง 5 กิโลเมตรจากโรงงานซึ่งอาจมีจำนวนมาก หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากเพียงพอ เช่น 10,000 คน อันได้รับความเสียหายจากข้อเท็จจริงเดียวกันคือการที่โรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ และชาวบ้านที่เป็นโจทก์ 10 คนนั้น เป็นตัวแทนที่มีลักษณะเหมือนกันกับชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำในช่วง 5 กิโลเมตรทั้ง 10,000 คน และศาลเห็นว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีแพ่งสามัญที่ชาวบ้านผู้เสียหายแต่ละคนจะต้องมาฟ้องร้องกันเป็นคดีเดี่ยวๆ จำนวน 10,000 คดี ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ เมื่อศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้วชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำในช่วง 5 กิโลเมตรทั้ง 10,000 คนจะถือเป็นสมาชิกกลุ่มโดยอัตโนมัติ โดยจะมีการประกาศคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้ทราบกันโดยทั่วไป เพื่อให้ตัดสินใจว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มหรือไม่ หากไม่มีการแจ้งความประสงค์ออกจากกลุ่มมายังศาลภายในกำหนดจะถือว่าเป็นสมาชิกกลุ่มต่อไปและคำพิพากษาจะมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มที่ไม่ออกจากกลุ่ม ทั้งนี้ ระบบคดีแบบกลุ่มในประเทศที่มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น เช่น คดีฉ้อโกงเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities Fraud) กลุ่มผู้เสียหายในคดีประเภทนี้คือบรรดาผู้ถือหลักทรัพย์ ณ ขณะที่มีการละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยหลักแล้วกลุ่มผู้เสียหายในคดีประเภทนี้มีเป็นจำนวนมากและมีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกัน อีกทั้งสามารถระบุตัวตนได้ง่ายจากทะเบียนผู้ถือหุ้นและจำนวนค่าเสียหายของผู้เสียหายแต่ละคนสามารถคำนวณได้ง่ายจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงเพราะการละเมิดกฎหมายดังกล่าว การดำเนินคดีแบบกลุ่มสามารถนำมาใช้ฟ้องร้องบรรดากรรมการที่กระทำละเมิดกฎหมาย เช่น การให้ข้อมูลทางการเงินที่ผิดพลาด หรือ การลงบัญชีไม่ถูกต้อง เป็นต้น คดีอุบัติเหตุขนาดใหญ่ (Mass Tort Litigation) ที่ก่อความเสียหายในวงกว้างหรือก่อให้มีผู้บาดเจ็บ หรือผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ล้วนแต่เหมาะกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการรั่วไหลของสารเคมี อุบัติเหตุทางเครื่องบินหรือกรณีโรงงานระเบิด อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับคดีอุบัติเหตุขนาดใหญ่ในประเทศไทยคงต้องรอการวางแนวทางโดยศาลไทยต่อไป คดีฟ้องร้องกิจการที่ใช้สัญญามาตรฐานแบบเดียวกัน เช่น บริษัทประกันภัย ธนาคาร อาจตกเป็นเป้าหมายของทนายความในการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ ถ้ากิจการกระทำการผิดสัญญาต่อผู้บริโภค หรือในกรณีที่ข้อสัญญาบางข้อไม่สามารถบังคับใช้ได้ เช่น ตกเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากกิจการใช้สัญญาแบบเดียวกันกับผู้บริโภคทุกรายและผู้บริโภคไม่สามารถเจรจาแก้ไขข้อสัญญาดังกล่าวได้ เช่น สัญญาให้บริการโทรศัพท์ สัญญาให้บริการอินเทอร์เน็ต สัญญาเงินกู้ สัญญาบัตรเครดิต สัญญาให้บริการฟิตเนส อันที่จริงแล้วระบบคดีแบบกลุ่มไม่ได้ก่อให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระหนักขึ้นแต่อย่างใด เพราะความรับผิดของผู้ประกอบการเป็นไปตามกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายละเมิด แต่ในอดีตไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่คุ้มกับค่าเสียหายที่อาจเรียกร้องได้ ระบบคดีแบบกลุ่มนี้เพียงแต่เพิ่มโอกาสหรือความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการอาจถูกดำเนินคดีมากขึ้น เพราะมูลค่าค่าเสียหายในแต่ละคดีจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้เสียหายและทนายความจะร่วมสอดส่องหาผู้ประกอบการที่กระทำการผิดสัญญาหรือละเมิด ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรคำนึงถึงระบบคดีแบบกลุ่มในการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางธุรกิจและการตัดสินใจในธุรกิจตลอดทั้งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหากธุรกิจมีความเสี่ยงมาก ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเอาประกันภัยความเสี่ยงภัยในความรับผิดดังกล่าวต่อไป วินท์ ภักดีจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทยอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine