Airbnb ธุรกิจ Home Sharing ส่งผลอย่างไรต่ออสังหาฯ ไทย - Forbes Thailand

Airbnb ธุรกิจ Home Sharing ส่งผลอย่างไรต่ออสังหาฯ ไทย

พักหลังมานี้หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อธุรกิจ Home Sharing กันอยู่บ้าง มีที่มาจากแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยมีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการรูปแบบต่างๆ ของผู้คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลาง ตัวอย่างบริการที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ การปล่อยเช่าห้องพักและบ้านให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนจากต่างถิ่น ซึ่งมีความต้องการที่พักพิงชั่วคราวด้วยระดับราคาเป็นมิตร โดยผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาฯนั้นสามารถแบ่งปันพื้นที่บ้านของตนเองหรือห้องพักที่ตนมีอยู่แก่ดีมานด์เหล่านี้ได้ และยังสามารถเรียกเก็บค่าเช่าได้ตามความเหมาะสมอย่างอิสระ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ Home Sharing ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและนิยมใช้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Airbnb หรือ AirBed and Breakfast กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นจาก Startup น้องใหม่มาแรงจากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่มีไอเดียพลิกโฉมธุรกิจให้บริการที่พักจากทั่วโลกผ่านการชูแนวคิด “ที่พัก แชร์กันได้” สร้างตัวเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้เช่า พร้อมนำเสนอราคาค่าเช่าที่ถูกกว่าห้องในโรงแรมหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาฯ สามารถนำห้องพักที่ปล่อยว่างทิ้งไว้มาสร้างรายได้อย่างง่ายดาย จากโมเดล Home Sharing สู่แอปพลิเคชัน Airbnb ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการจากทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคนในปัจจุบัน สำหรับในไทยเองมีห้องพักที่ลงทะเบียนเปิดให้บริการบน Airbnb จำนวนมากกว่า 60,000 แห่งเลยทีเดียว จากการสำรวจของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน DDproperty Consumer Sentiment Survey รอบล่าสุดพบ คนอินโดนีเซียและคนมาเลเซียมีมุมมองที่เป็นบวกต่อสถานการณ์ Home Sharing มากที่สุด รองลงมา คือ คนสิงคโปร์และคนไทย หากมองในภาพรวมทั้ง 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเห็นด้วยกับแนวคิด Home Sharing สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจรอบก่อนหน้านี้ และเมื่อพิจารณาให้ลึกขึ้นจะพบว่าคนมาเลเซีย 1 ใน 4 มีความสนใจในการเช่าบ้านร่วมกันมากที่สุดในภูมิภาค มากถึง 57% ในขณะที่คนไทยยังให้ความสนใจน้อยอาจเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะยังไม่แพร่หลายมากนัก ประกอบกับขาดข้อมูลในการเข้าถึง ทำให้ทั้งผู้เช่าและเจ้าของห้องยังไม่สามารถตัดสินใจเข้าร่วมบริการ Home Sharing ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกฏหมายการให้บริการเช่าห้องพัก เช่น ในกรณีของการเช่าห้องพักผ่านแอปพลิเคชัน Airbnb ถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ไม่เพียงเท่านี้การให้บริการ Home Sharing ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน Airbnb ยังพบว่ามีความเสี่ยงอยู่หลายประการ หากมองในมุมของผู้เข้าพัก หลายครั้งที่ต้องเจอกับปัญหาห้องพักที่จองไม่ได้เป็นตามที่โฆษณาไว้ เช่น ห้องพักสกปรก อยู่ห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ในขณะที่เจ้าของห้องพักเองก็ต้องเปิดบ้านให้กับคนแปลกหน้าซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงและอันตรายอยู่ไม่น้อย ปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนเกิดความกังวลและส่งผลให้ธุรกิจ Home Sharing ไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความเชื่อใจ (Trust) เป็นหลักสำคัญของทั้งฝั่งผู้เช่าและเจ้าของ ส่วนแอปพลิเคชันที่เป็นสื่อกลางเองก็ควรจะมีกฏระเบียบในการควบคุมผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝ่ายให้ปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ภาครัฐเองควรเข้ามาควบคุมธุรกิจ Home Sharing  จากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจรอบล่าสุดพบว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยเองมีความต้องการให้รัฐบาลควบคุมธุรกิจเช่าที่พักมากเกินกว่า 50% ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับผลสำรวจรอบก่อนหน้า อย่างไรก็ตามธุรกิจ Home Sharing ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไป จากปัจจัยสนับสนุนด้านพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าชื่นชอบความสะดวกสบายและมักจะเลือกทางเลือกที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น แม้ Airbnb จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย ในแง่ของราคาและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับคนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของบ้านได้แท้จริง สร้างมิตรภาพใหม่ในต่างแดนให้เกิดขึ้นได้ นับว่าเป็นการเปิดมุมมองการท่องเที่ยวที่แปลกไปจากเดิม นอกจากนี้ในมุมของผู้เป็นเจ้าของก็สามารถสร้างรายได้ผ่านอสังหาฯ ที่ตนเองถือครองได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมใหญ่แต่อย่างใด กลับมาที่สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไทยยังคงต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้เมื่อเทรนด์ Home Sharing เข้ามามีบทบาทในตลาดเช่ามากขึ้น แม้อาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนักแต่ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่น่าสนใจ คาดเติบโตมากกว่าเดิมและแผ่ขยายกว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐเองก็ควรมีมาตรการควบคุมการดำเนินธุรกิจนี้ด้วยความเหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทสังคมไทยและผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ Home Sharing เติบโตได้อย่างยั่งยืน DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่ง ที่รวบรวม ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ทั้งไทยและอังกฤษ ไว้กว่า 10,000 บทความ