ปัญญาประดิษฐ์ - สิ่งประดิษฐ์และความท้าทาย ชิ้นสุดท้ายของเผ่าพันธุ์มนุษย์?
ในบทความที่แล้ว คาดว่าหลายๆ คนคงได้เห็นพลังแห่ง Exponential Growth หรืออัตราการเจริญเติบโตของวิทยาการที่มีความเร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน
เชื่อหรือไม่ครับ เมื่อเราต้องคาดการณ์การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีในระยะยาวแล้ว เรามักจะคาดการณ์มันช้ากว่าความเป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง
และสิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่อย่างร้อนแรงนั้น ก็คือ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง
ปัญญาประดิษฐ์คืออะไร และแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ๆ กันอยู่ก่อนหน้านี้อย่างไร?
คอมพิวเตอร์ มีรากศัพท์มาจากคำว่า "Compute" ที่แปลว่า “คำนวณ"
ลองจินตนาการนึกย้อนไปถึงสมัยสัก 10 ปีก่อนดูครับ ก่อนที่ปัญญาประดิษฐ์จะถูกใช้แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้
ลองสังเกตดู ก่อนที่จะเข้ายุคสมัยของปัญญาประดิษฐ์นั้น
คอมพิวเตอร์จะเก่งมากๆ ในสิ่งที่มนุษย์ “ต้องคิด”
เช่น การคูณเลข 10 หลัก หรือการทำไฟล์ Excel ที่มีข้อมูลยาวๆ เรากดเพียงปุ่มเดียว ภายในเสี้ยววินาทีคอมพิวเตอร์ก็สามารถคำนวณให้เราได้เสร็จสรรพ
อย่างไรก็ตาม สมมติว่าเราเอารูปภาพให้คอมพิวเตอร์ดูสักรูป และถามคอมพิวเตอร์ว่ารูปนี้เป็นรูปสุนัขหรือแมว หรือถามว่าในรูปภาพของเราเป็นภาพภูเขาหรือทะเล สิ่งเหล่านี้ในยุคก่อนปัญญาประดิษฐ์นั้น นับเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับคอมพิวเตอร์ที่จะแยกแยะได้ว่ารูปถ่ายใบนั้นๆ คือรูปอะไร แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์เรามองแค่หางตาก็รู้ได้เลยว่าในรูปนั้นๆ เป็นสุนัขหรือแมว เราอยู่ที่ภูเขาหรือทะเล
เห็นไหมครับ คอมพิวเตอร์นั้นเก่งมาก ในสิ่งที่มนุษย์ “ต้องคิด” แต่กลับเป็นเรื่องยากสำหรับคอมพิวเตอร์ หากเป็นสิ่งที่มนุษย์ “ไม่ต้องคิด"
เพราะหลักการทำงานของคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อนนั้น ไม่เหมือนการทำงานของสมองมนุษย์เรา
ลองนึกย้อนไปสมัยเด็กๆ สมัยที่เรายังไม่รู้ว่าสัตว์ตัวไหนคือ สุนัข และสัตว์ตัวไหนคือ แมว
ถ้าจำกันได้ ในตอนนั้น อาจเป็นพ่อแม่ของเราที่คอยสอนและชี้ให้เราดูว่า นี่คือสุนัขนะเวลาเราเจอสุนัข
หรือคอยบอกเวลาเราเจอแมวว่า นี่คือแมวนะ ให้สังเกตว่าหูมันจะแหลมๆ มีหนวด
ในช่วงแรก เรายังคงแยกไม่ออกหรอกว่าตัวไหนคือสุนัขหรือแมว เราอาจจะตอบถูกบ้าง ผิดบ้าง
แต่เมื่อเราเจอเรื่อยๆ บ่อยครั้งขึ้น มาจนถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครแยกว่าตัวไหนคือสุนัข ตัวไหนคือแมว ผิดอีกแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรดีล่ะ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานให้เก่งขึ้น ในสิ่งที่มนุษย์ “ไม่ต้องคิด”
งั้นก็ลอกเลียนแบบหลักการเรียนรู้ของมนุษย์เลยสิ จากการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ นำมาสู่จุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์”
ในปัจจุบัน หากเราต้องการให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถแยกแยะได้ว่า รูปภาพไหนคือสุนัข รูปภาพไหนคือแมว ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเอาภาพสุนัข และภาพแมว ให้คอมพิวเตอร์ดูสักพันหรือหมื่นรูป
ภายในไม่กี่นาที ปัญญาประดิษฐ์ก็จะสามารถแยกแยะได้เกือบสมบูรณ์แบบ เหมือนกับคนเราที่ใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้
แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ไม่พัก ไม่เหนื่อย ในระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก
แล้วปัจจุบันการเจริญก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ไปถึงไหนแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ นั้นฉลาดแค่ไหน?
คำว่าฉลาดกว่าเราในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า มันสามารถคิดได้เร็วกว่าเรานะครับ แต่มันคือความฉลาดที่เรียกว่า Qualitative Intelligence
ลองนึกดู หากวันนี้ เราเอาลิงมาปล่อยในตึกสักตึกหนึ่งในเมืองของเรา ลิงจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตึกที่อยู่ เป็นตึกที่มนุษย์สร้างขึ้นและสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร
หรือว่าหากเราสอนให้มันแต่งนิยาย ไม่ว่าเราจะใช้เวลาสักกี่ปี ลิงก็คงไม่สามารถแต่งนิยายได้
นี่แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า Qualitative Intelligence
ปัจจุบันเรามีเกณฑ์ที่แบ่งระดับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ ออกได้เป็น 3 ประเภท คร่าวๆ ด้วยกัน คือ
1.ANI - Artificial Narrow Intelligence คือปัญญาประดิษฐ์ ที่ถนัดในศาสตร์แขนงใด แขนงหนึ่ง เท่านั้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแปลภาษา ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเล่นโกะ เป็นต้น นี่คือระดับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน
2.AGI - Artificial General Intelligence หรือเราเรียกง่ายๆ ว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดทัดเทียมกับมนุษย์ สามารถทำได้ในศาสตร์หลากหลายแขนงในเวลาเดียวกัน
3.ASI - Artificial Super Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ฉลาดเหนือมนุษย์
แต่จุดตัดสำคัญที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ไปตลอดกาลคือ เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค ASI หรือจุดที่เรียกว่า “Singularity” (จำคำนี้ให้ดีนะครับ หลังจากนี้เราจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ) Singularity นั้น คือจุดที่ AI ฉลาดแซงหน้ามนุษย์ และเมื่อถึงจุดๆ นั้น เราจะมีสิ่งที่เรียกว่าการระเบิดทางสติปัญญา หรือ Intelligence Explosion ขึ้น
กล่าวคือ เมื่อเราสามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ฉลาดก้าวแซงหน้ามนุษย์ได้ ตัวปัญญาประดิษฐ์เองก็จะสามารถพัฒนาขึ้นไปให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ ได้ และเมื่อถึงจุดๆ นั้น เราจะไม่พูดถึงคนอัจฉริยะที่มี IQ 140 อีกต่อไปแล้ว แต่จะพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ที่มี IQ 20,000
มีคำกล่าวว่า ASI นั้น จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นสุดท้ายที่มนุษย์สร้างขึ้น และเป็นความท้าทายครั้งสุดท้ายที่มนุษย์ต้องเผชิญ
เรามีปัญหาพลังงานไม่เพียงพอต่อการใช้งานเหรอ ให้ ASI แก้สิ
เรามีปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารเหรอ ให้ ASI จัดการสิ
ปัญหาหลายๆ อย่างที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ไขได้ เราคาดว่า ASI จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้เราได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม จากความฉลาดในระดับนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดคำถามให้ถกเถียงกันในเชิงปรัชญาตามมามากมาย
มนุษย์เราฉลาดกว่าลิงในระดับหนึ่ง แต่ลิงนั้นกลับไม่เข้าใจในสิ่งส่วนใหญ่ที่มนุษย์คิดหรือทำ
มนุษย์เปรียบเสมือนพระเจ้าของลิง เราสามารถที่จะจับลิงมาทดลอง กักขังหรือหน่วงเหนี่ยวอย่างไรก็ได้
แล้วมนุษย์เราล่ะ เรากำลังสร้างพระเจ้าของเราเองขึ้นมาหรือไม่
เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ASI เหล่านี้ จะทำอะไรกับเรา
และเมื่อถึงจุด ๆนั้น เผ่าพันธุ์มนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป?
ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า
“หรือว่าสิ่งมีชีวิตในรูปแบบชีวภาพ จะเป็นเพียงแค่บันไดขั้นหนึ่งของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์?”
หากเราไม่จำกัดความหมายว่ารูปแบบของสิ่งมีชีวิต จำเป็นต้องมีเลือดเนื้อเชื้อไขเหมือนมนุษย์เรา
จริงๆ แล้ว รูปแบบของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบของคอมพิวเตอร์นั้น อาจจะดีกว่ารูปแบบของมนุษย์เราก็เป็นได้
ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เหนื่อย ไม่ตาย สามารถอัปเกรดความสามารถตัวเองได้เรื่อยๆ
อ่านมาถึงจุดนี้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าบทความนี้เหมือนภาพยนตร์หรือนิยายบางเรื่อง
อยากให้ย้อนกลับขึ้นไปในย่อหน้าแรกดูครับ ว่าปัจจุบันเราอยู่ในยุคสมัยที่มีอัตราการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
AlphaGo ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเล่นหมากล้อมของบริษัท Deepmind เกมกระดานที่ขึ้นชื้อว่ายากและซับซ้อนมากที่สุดในโลก
AlphaGo โดยใช้เวลา 3 ปี ในการเรียนรู้หมากกระดานที่มีวิธีในการเดินหมากกระดานนั้นมากกว่าอะตอมทั้งหมดในจักรวาลรวมกัน และโค่นมือหนึ่งของโลก ลงอย่างราบคาบ
หลังจากนั้น ทีมงานของ Deepmind ใช้เวลาสร้างปัญญาประดิษฐ์ในการเล่นหมากล้อมตัวใหม่จากศูนย์ ชื่อว่า Alphago Zero โดยให้เดินแข่งกับตัวเองไปเรื่อย ๆ
AlphaGo Zero ใช้เวลาแค่ 19 ชั่วโมง ในการเอาชนะ นักเล่นโกะระดับปกติ
และใช้เวลาแค่ 40 วัน ในการเอาชนะ AlphaGo ตัวเดิมได้
มีการทำแบบสำรวจจากนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกนับร้อยคน ว่าโลกเราจะถึงจุดที่เรียกว่า AGI และ ASI เมื่อไร
ค่ากลาง (Median) ของการสำรวจนักวิจัยแนวหน้าของโลกครั้งนี้ คือ
โลกเราจะถึงจุดที่เรียกว่า AGI ในราวปี 2040
และถึงจุดที่เรียกว่า ASI ในราวปี 2060
แม้ว่าคนที่ Conservative ที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ก็ตอบว่า อย่างช้าที่สุดคือภายในสิ้นศตวรรษนี้เท่านั้น
ใช่ครับ สิ่งที่ผมกล่าวทั้งหมดในบทความนี้ มันจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราหรือภายในรุ่นลูกหลานเรา เท่านั้นเอง
ยินดีต้อนรับสู่ยุคสมัยของโลกที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่เคยมีมาครับ
(ในปัจจุบันมีการถกเถียงกันหลากหลาย แบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ โดยใช้เวลาไม่นานเลย เราควรที่จะเริ่มมีการออกกฏต่างๆ ออกมาป้องกันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป แต่ก็มีอีกกลุ่มที่เชื่อว่ากว่าจะถึงจุดนั้น ยังใช้เวลาอีกยาวนานมาก เรายังไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ ณ เวลานี้ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ เรามองว่าเรื่องทั้งสองเรื่องนี้ เป็นเรื่องเดียวกันแต่แค่ต่างมุมมอง คำถามไม่ใช่ว่า จุด Singularity จะมาหรือไม่ แต่คำถามคือ จุดนี้จะมาถึงเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง)