ปฏิรูประบบเก็บข้อมูลสุขภาพด้วย "เฮลธ์บูโร" บนบล็อกเชน - Forbes Thailand

ปฏิรูประบบเก็บข้อมูลสุขภาพด้วย "เฮลธ์บูโร" บนบล็อกเชน

ถ้าพูดถึงเครดิตบูโรคนทั่วไปก็พอเข้าใจว่าคือการเก็บข้อมูลทางด้านการเงิน ที่ใช้ประกอบการพิจารณาเวลาขอสินเชื่อ หรือกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับ เฮลธ์บูโร ได้

ในสมัยก่อน ตอนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ระบบเครดิตบูโรได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยเป็นองค์กรกลางที่ทุกธนาคารหรือสถาบันทางการเงินที่เป็นสมาชิก ร่วมกันส่งข้อมูลประวัติทางการเงินของลูกค้าเข้าระบบเครดิตบูโรเพื่อใช้พิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่อ ลดปัญหาเงินเฟ้อ และลดการเกิดปัญหาฟองสบู่แตก

สำหรับการรักษาพยาบาล เฮลธ์บูโร (health bureau) สามารถมาช่วยเรื่องการเบิกจ่ายเงินจากบริษัทประกันหรือกรมบัญชีกลางที่ทำาเบิกจ่ายตรงของข้าราชการ รวมถึงประกันสังคม ให้รวดเร็ว โปร่งใส สะดวกขึ้น และสามารถช่วยลดการแจ้งข้อมูลเท็จกับบริษัทประกัน เช่น กรณีที่เคยเป็นข่าวว่ามีคนตัดนิ้วหัวแม่มือตัวเอง และพยายามเคลมประกันพร้อมกันหลายบริษัท เพื่อต้องการเงินสินไหมชดเชยการสูญเสียอวัยวะ คล้ายตอนยังไม่มีเครดิตบูโรซึ่งธนาคารไม่สามารถตรวจสอบประวัติการผิดนัดชำระกับสถาบันการเงินอื่นของลูกค้าได้

ตามกฎแพทยสภา ข้อมูลเป็นของคนไข้ โรงพยาบาลมีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลสุขภาพของคนไข้ หรือผู้รับบริการ อย่างปลอดภัยที่สุด และผู้รับบริการก็มีสิทธิเสรีภาพผู้ป่วย ที่สามารถร้องขอข้อมูลตนเองได้ แต่เนื่องจากขีดจำกัดในหลายๆ เรื่อง ทำให้ทุกวันนี้ในหลายโรงพยาบาล ผู้รับบริการยังเข้าถึงข้อมูลตนเองได้ยาก

การที่เทคโนโลยีพัฒนาไปจนมีระบบที่เรียกว่าบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเป็นระบบที่โปร่งใส มีความปลอดภัยสูงสุด ช่วยในการจัดเก็บข้อมูล ยิ่งมาตอบโจทย์การรักษาข้อมูลที่มีมูลค่า และมีความเป็นส่วนตัว (privacy) เช่นเดียวกับที่หลายธนาคารก็เริ่มใช้บล็อกเชนเข้ามาเป็นระบบหลังบ้านแล้ว เพราะข้อมูลการเงินก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่มีมูลค่า และมี privacy มากเช่นกัน

 

บล็อกเชนคืออะไร ทำไมจึงนำมาใช้กับระบบสุขภาพได้

บล็อกเชนคือเทคโนโลยีหนึ่งที่มาช่วยจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และไม่หายไปโดยง่าย เพราะมีตัวช่วยเก็บ กระจายกันหลายแห่งทั่วโลก ส่วนบิตคอยน์ที่หลายคนอาจสับสน เป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่ง (cryptocurrency) ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นพื้นฐานไว้ทำธุรกรรมออนไลน์ จึงเป็นคำที่ไม่ควรสับสนกัน

พอเรานำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับฐานข้อมูลสุขภาพ ก็จะทำให้คนไข้ แพทย์เจ้าของไข้ หรือแพทย์ที่ปรึกษา ที่ได้รับการยินยอมให้ดูข้อมูล สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบทันที (real time) โดยไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในไทยหรือต่างประเทศ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และปลอดภัยกว่าระบบเก่าด้วยซ้ำที่ใครก็สามารถแอบเข้าไปดูข้อมูลได้

การเก็บในบล็อกเชน คล้ายการตั้งค่า privacy ในเฟซบุ๊กแต่มีความปลอดภัยสูงกว่า โดยเจ้าของข้อมูลต้องมีการเซ็นยินยอม (consent form) ให้ทางโรงพยาบาลนำข้อมูลของตนจัดเก็บลงระบบนี้ หรือเจ้าของข้อมูลก็สามารถนำข้อมูลลงเองได้ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่รองรับระบบ ทั้งโดยการถ่ายภาพ สแกนข้อมูล หรือพิมพ์กรอกข้อมูลลงไปเอง

โดยมีการยืนยัน พิสูจน์ตัวตน ของเจ้าของข้อมูลและผู้เรียกดูข้อมูล ผ่านการ KYC (Know Your Client/Customer) ผ่านระบบ Smart Contract ซึ่งสามารถทำได้โดยเชื่อมต่อกับระบบ National Digital ID (NDID) คล้ายการถอนหรือโอนเงินแบบธุรกรรมธนาคารออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งที่ต้องส่งรหัส OTP เป็นการพิสูจน์ตัวตนก่อน เป็นต้น

ระบบ "เฮลธ์บูโร" บนบล็อกเชนอาจอาศัยองค์กรกลางแบบเครดิตบูโรมาช่วยเป็นกรรมการกลางในการช่วยจัดเก็บข้อมูลและเป็นตัวเชื่อมข้อมูลระหว่างคนไข้ โรงพยาบาลแต่ละแห่ง และระบบประกันสุขภาพ (ไม่ว่าจะเป็น การเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางของข้าราชการ บริษัทประกันชีวิต หรืออื่นๆ)

แน่นอนว่าบล็อกเชนเข้าถึงคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยตรงแต่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ โดยฝ่ายต่างๆ มากมาย รวมถึงเจ้าของข้อมูลก็สามารถกลับมามีอำนาจ ในการจัดการดูแลข้อมูลตนเองได้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ทางยุโรปได้มีการออกกฎ GDPR (General Data Protection Regulation) ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูล (big data) เพื่อให้ข้อมูลไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงควบคุมการซื้อขายข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลต้องได้รับความเห็นชอบ และได้เงิน หรือผลประโยชน์กลับเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่มีบล็อกเชนมาช่วยจัดเก็บข้อมูลจะทำให้การทำงานภายในโรงพยาบาล เชื่อมต่อกันเป็นระบบมากขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถเห็นข้อมูลคนไข้ได้ตั้งแต่ในห้องแพทย์ ห้องยา การเงิน สามารถจัดยา หรือคิดค่าใช้จ่ายได้ทันที (real time) ลดระยะเวลาการรอที่โรงพยาบาล และยังสามารถส่งยาถึงบ้านได้ด้วย รวมถึงสามารถตัดชำระเงินแบบออนไลน์ผ่าน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ได้ทันที

ทางภาครัฐบาล แพทย์ที่อยู่ห่างไกลก็สามารถนำประวัติคนไข้ที่อยู่บนบล็อกเชนปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในเมืองได้ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสู่ชนบททางไกลได้อย่างมาก ยังไม่รวมถึงการส่งต่อคนไข้ระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็น medical hub หรือศูนย์กลางของภูมิภาค ถ้ามีระบบบล็อกเชนยิ่งเพิ่มศักยภาพในการที่ต่างชาติจะเข้ามารักษาในไทยมากขึ้น

นอกจากการรักษาพยาบาลแล้วนั้น บล็อกเชนยังเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ การเชื่อมต่อธนาคารเลือดเข้ากับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เห็นว่ากำลังขาดเลือดกรุ๊ปใด และที่ใดมีเลือดกรุ๊ปนั้น ก็สามารถส่งมาได้ทันท่วงที การปลูกถ่ายอวัยวะก็สามารถจับคู่ (matching) ให้ตรงกันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และถ้าเชื่อมต่อกับสถาบันการเงินได้ ยิ่งสามารถปล่อยสินเชื่อออนไลน์เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลได้อีก นอกจากนี้ยังทำให้คนไข้ที่เคยมีประวัติการรักษาอยู่หลายโรงพยาบาลสามารถรวมข้อมูลไว้ที่เดียว และเชื่อมต่อข้อมูลกับ smart devices ในอนาคตได้อีกด้วย

เฮลธ์บูโร

เบื้องต้น โรงพยาบาลเอกชนคงไม่ต้องการให้ข้อมูลขึ้นบนบล็อกเชน หรือเป็นเครดิตบูโร เพราะไม่ต้องการให้บริษัทประกันเห็นข้อมูล รวมถึงไม่อยากให้คนไข้ย้ายโรงพยาบาล ด้านโรงพยาบาลรัฐบาลอาจมองเห็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งในแง่การส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (refer) และการส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองที่บ้าน (primary healthcare)

แต่เมื่อไรก็ตามที่โรงพยาบาลเอกชนเริ่มออกกองทุนสุขภาพที่คล้ายกับออกประกันเอง (ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบริษัทประกัน) เมื่อนั้นโรงพยาบาลจะต้องการให้มีข้อมูลบนเฮลธ์บูโรมากที่สุด หรือเมื่อมีการจับมือกันระหว่างทุกฝ่ายโดยมองผลประโยชน์ของคนไข้หรือประชาชนเป็นหลัก เมื่อนั้นก็จะเกิดการเรียกร้องให้มีการจัดเก็บประวัติข้อมูลการรักษาพยาบาลบนเฮลธ์บูโรเอง


อ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2562 หรือคลิกอ่านแบบ e-Magazine ได้ที่นี่