อาเซียนมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2030 สืบเนื่องจากการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของชนชั้นกลาง ซึ่งจะมีสัดส่วนเพิ่มจาก 29% เป็น 65% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนรวมกัน และนับเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของประชากรชนชั้นกลางของโลก
ชนชั้นกลางนี้เองจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน เพราะเป็นกลุ่มกำลังแรงงานที่มีการศึกษาและมีกำลังซื้อ ทำให้อาเซียนดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนในเอเชีย ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน
หากพิจารณาจากศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน และโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีมหาศาลแล้ว สำคัญมากที่ภาคธุรกิจจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงสถาบันทางการเงินที่มีพื้นฐานความเข้าใจวิถีการดำเนินธุรกิจในประเทศ มีเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาค และมีการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล
ความคาดหวังจากกลุ่มลูกค้าและการแข่งขันในอุตสาหกรรมธนาคารนี้เอง ที่ทำให้ธนาคารต่างเร่งพัฒนา นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้เพื่อช่วยการบริการต่างๆ ของธนาคาร ตั้งแต่ Front-end และ Back-end เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานให้กับธุรกิจ ทั้งเรื่องร่นระยะเวลาและลดต้นทุน
เมื่อกล่าวถึงการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว (Digital Transformation) ของธนาคารแล้ว กลุ่มธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ (Wholesale Banking) มีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าฟากของกลุ่มธุรกิจรายย่อย (Retail Banking) ซึ่งสามารถจัดประเภทของการแปลงกระบวนการธนาคารให้เป็นดิจิทัล ได้เป็น 2 ทาง คือ Front-end และ Back-end
ในส่วนของ Front-end หรือ ส่วนที่ลูกค้าใช้งานได้เองโดยตรง เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานทางการเงิน (FSCM) ซึ่งเป็นการจัดการกระบวนการทางการเงินทั้งหมดของธุรกิจในระดับองค์รวม ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มตั้งแต่ การจัดซื้อ การจัดการเงินทุนหมุนเวียน และการรับรู้กระแสเงินสด กระบวนการนี้ครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ บัญชีกระทบยอด และการชำระเงิน
เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายในการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และลดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้า
แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยเรื่องการบริหารเงินสดและการค้าระหว่างประเทศ ที่ออกแบบให้รองรับการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศ ในหลายธนาคารปัจจุบันนี้ มีจุดเด่นเรื่อง Global View Access ที่เจ้าของบัญชีสามารถดูรายการเดินบัญชีของทุกบัญชีที่เปิดในประเทศที่ธนาคารมีสาขาอยู่ในภูมิภาคอาเซียน สามารถติดตามและควบคุมเงินในบัญชีแบบเรียลไทม์ รวมไปถึงควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อต้องการสั่งซื้อสินค้า
ทางด้าน Back-end หรือระบบหลังบ้าน ประเทศไทยเองได้รับประโยชน์จากวิสัยทัศน์ของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจธนาคาร ที่ผลักดันให้เกิดการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านความร่วมมือของผู้ให้บริการทางการเงินในประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น บริการ PromptPay ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมพเรื่อง National ePayment ของธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วยให้ผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงินได้รับประโยชน์ทั้งสองทาง ในเรื่องความสะดวกสบายและการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ระบบนี้เป็นการเพิ่มช่องทางในการรับชำระเงิน และการบันทึกรายการสรุปยอดรายการทางบัญชี เป็นไปได้อย่างง่ายดาย
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เองยังได้สนับสนุนเรื่อง National ePayment โดยมีบริการ PromptPay Bulk Fund Transfer และ Cross Bank Bill Payment ที่ช่วยให้ลูกค้ารับชำระเงินออนไลน์ จากหลากหลายช่องทาง เพียงใช้ proxy ID เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้รองรับบริการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น รายงานเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือรายงานการประเมินความเสี่ยง
นอกจากนี้ จากความร่วมมือของสถาบันการเงินในประเทศ ภายใต้หน่วยงานชื่อ BCI ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาแพลตฟอร์มในการออก Electronic Letter of Guarantee (ELG) หรือหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ที่ย่นระยะเวลาในการยื่นเรื่องขอหนังสือค้ำประกันกับทางธนาคาร ลดการทำงานซ้ำซ้อน และสร้างมาตรฐานของรูปแบบหนังสือค้ำประกัน ที่ใช้ร่วมกันในอุตสาหกรรม ปลอดภัยและเชื่อถือได้จากการทำงานบนบล็อกเชน ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดจากวิธีการทำงานแบบเดิม และลดโอกาสในการปลอมหนังสือค้ำประกัน
หรือล่าสุด การสร้างระบบหลังบ้าน เพื่อมารองรับการให้บริการ QR Payment ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัวไปไม่นานมานี้ และได้เริ่มใช้งานแล้วในหลายๆ ธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เป็นต้น
ดิจิทัลช่วยเพิ่มโอกาสให้ทั้งลูกค้าและธนาคาร
ในธุรกิจธนาคาร สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าหรือ Relationship Manager (RM) เป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคาร
ประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ นอกจากจะเพิ่มประสิทธภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการแล้ว ยังสามารถช่วยธนาคารสานความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพราะการสร้างประสบการณ์ที่ดีจะพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว
การแปลงกระบวนการธนาคารให้เป็นดิจิทัล (Digitisation) ช่วยให้ RM สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน ลดภาระเรื่องงานเอกสารภายใน และมีเวลาเพิ่มขึ้นในการให้คำแนะนำลูกค้าด้วยข้อมูลเชิงลึกได้มากขึ้น และการเพิ่มช่องทางดิจิทัลจะสามารถอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อและให้บริการลูกค้าได้หลากหลายอีกด้วย
นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในการตอบสนองความต้องการลูกค้า และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการทางธนาคารแบบดั้งเดิมแล้ว เราคาดว่าจะเห็นธนาคารใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Analytics) ที่ได้จากการใช้งานของลูกค้าที่มีเพิ่มขึ้นบนบริการดิจิทัลของธนาคาร เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ดียิ่งดีขึ้น และนำมาปรับปรุง หรือสร้างโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าที่มีกับธนาคาร
Tan Choon Hin กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ไทย)คลิกเพื่อติดตามบทความทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับตุลาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine